Friday 25 September 2009

เมื่อภูมิพลตาย

เมื่อภูมิพลตาย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ผมไม่เชื่อว่าการเขียนบทความที่มีหัวข้อแบบนี้เป็นการสาปแช่งให้ใครตายเร็วหรือช้า เพราะผมไม่เชื่อเรื่องการสาปแช่ง มันเป็นเรื่องงมงาย และการที่มนุษย์เกิดมาก็ย่อมตาย คนแก่มีแนวโน้มตายเร็ว มีแค่นี้

คนไทยจำนวนมาก ไม่ว่าจะแดงหรือเหลือง กำลังรอวันตายของ ภูมิพล ด้วยอารมณ์ที่แตกต่างกันไป เพราะ ภูมิพล มีความสำคัญในสังคมไทย ทั้งบวกและลบ แล้วแต่จุดยืน แต่ประเด็นที่เราต้องมาคิดกันคือ “สำคัญอย่างไร?”

คนเสื้อแดงและคนเสื้อเหลืองจำนวนมากมองว่า ภูมิพล คือผู้มีอำนาจสูงสุดในสังคมไทย ยังกับว่าเราอยู่ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผมไม่เห็นด้วยกับการวิเคราะห์แบบนี้ แต่ถ้ามันจริง เมื่อ ภูมิพล ใกล้ตาย ต้องมีการแย่งชิงอำนาจกันเพื่อขึ้นมาเป็นกษัตริย์คนต่อไป มันจะเกิดจริงหรือ? ทหารของพระเทพฯจะรบกับทหารของเจ้าฟ้าชายหรือทหารของราชินีจริงหรือ? ทหารของเปรมจะแต่งตั้งเปรมเป็นกษัตริย์แทนหรือ? ไม่น่าจะใช่

มันอาจจะแย่งกัน แต่สิ่งที่แย่งกันคือ ว่าใครจะมีสิทธิ์ใช้สถาบันกษัตริย์เพื่อสร้างความชอบธรรมกับตนเองมากกว่า

เมื่อ ภูมิพล ตาย ผมเดาว่าจะมีการสร้างพิธีงานศพมโหฬาร ใหญ่โต สิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล และจะใช้เวลาอย่างน้อยสองเท่าเวลาที่เขาใช้กับ “พระพี่นาง” อาจถึงห้าปีก็ยังได้ อาจมีงานต่อทุกปีให้ครบสิบปีก็ได้ งานศพนี้จะมีวัตถุประสงค์เดียว (ไม่ใช่เพราะว่าไพร่ทั้งหลายต้องใช้เวลาทำใจท่ามกลางความเศร้าหรอก) แต่เพื่อเสริมสร้างลัทธิกษัตริย์ ที่จะนำมาข่มขู่กดขี่เรา การเสริมสร้างลัทธิกษัตริย์เป็นอาวุธทางความคิดที่สำคัญที่สุดของฝ่ายอำมาตย์ เพราะเวลาอำมาตย์ทำรัฐประหาร ทำลายประชาธิปไตย สร้างสองมาตรฐานทางกฎหมาย ใช้ความรุนแรง กลั่นแกล้งเข่นฆ่าประชนชน ก็ทำในนามกษัตริย์ตลอด โดยคิดว่าถ้าอ้างกษัตริย์แล้วเราพลเมืองทั้งหลายจะเกรงกลัวหรือเกรงใจ และถ้าแค่นั้นไม่สำเร็จ ก็ยังมีกฎหมายหมิ่นเดชานุภาพ กฎหมายหมิ่นศาล กฎหมายคอมพิวเตอร์ และกฎหมายความมั่นคงไว้ปราบเราอีก และถ้าแค่นั้นไม่พอก็ยิงประชาชนท่ามกลางเมืองได้

อำนาจดิบแท้ของอำมาตย์อยู่ที่ทหาร เวลาทหารทำอะไรในอดีต เช่นรัฐประหาร มันไม่ใช่การทำตามคำสั่งของ ภูมิพล เพราะ ภูมิพล เป็นคนขี้ขลาดทางการเมือง เป็นคนไร้จุดยืนที่แน่นอน และไม่มีศักยาภาพ ที่จะนำอะไร เขาเป็นคนไปตามกระแส เป็นหุ่นเชิดได้ดี ตอนทักษิณเป็นนายกก็ชมทักษิณ ตอนเผด็จการทหารขึ้นมาก็ชมทหาร พูดกำกวมให้คนไปตีความเองได้ตามความต้องการ เพื่อจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ยินดีให้คนกราบไหว้ และยินดีสะสมความร่ำรวย

ดังนั้นเวลาทหารตัดสินใจทำอะไร ก็ทำพิธีเหมือนกับจะไปรับคำสั่ง แต่แท้จริงไป “แจ้ง” ว่าจะทำอะไร ภูมิพลก็พยักหน้าหรืออาจไม่ให้พบแต่แรก แล้วแต่ว่าความเห็นส่วนใหญ่ของทหารอื่นและผู้ใหญ่อื่นๆจะว่าอย่างไร ตรงนี้เปรมเป็นผู้ประสานงาน แต่ไม่มีอำนาจพิเศษ พอทหารเห็นภูมิพลพยักหน้า ก็รีบออกมาแจ้งสังคมว่าสิ่งที่เขาทำ ทำไปตาม “คำสั่ง” ทั้งนี้เพื่อหลอกให้เราคิดว่ามีความชอบธรรม หรือหลอกให้เรากลัว

เมื่อ ภูมิพล ตาย ทหารจะยังมีอำนาจอยู่ ปืนและรถถังไม่ได้หายไปไหน และเมื่อทหารชั้นผู้ใหญ่ตกใจที่ภูมิพลตาย ก็ไม่ใช่เพราะ “ไม่รู้จะรับคำสั่งจากใคร” แต่ปัญหาของเขาคือ “ไม่รู้จะหากินสร้างความชอบธรรมจากใครต่อ” มันต่างกันมาก ผมเดาว่าเมื่อ ภูมิพล ตาย ทหารจะต้องการยืดงานศพให้ยาวนาน ภาพ ภูมิพล จะเต็มบ้านเต็มเมือง และใครที่คิดต่างจากทหารหรืออำมาตย์ หรือใครที่อยากได้ประชาธิปไตยแท้ ก็จะถูกโจมตีว่าต้องการ “ล้มภูมิพล” ทั้งๆ ที่ ภูมิพล ตายไปแล้ว ใช่ครับมันไม่สมเหตุสมผล แต่ลัทธิกษัตริย์ของอำมาตย์มันไม่ต้องสมเหตุสมผลทุกครั้งอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ในขณะที่มีงานศพยาวนานพร้อมการคลั่งและเชิดชูคนที่ตายไปแล้ว ก็จะมีการเข็นลูกชายออกมารับหน้าที่เป็นกษัตริย์ใหม่ ปัญหาของอำมาตย์คือไม่มีใครเชื่อว่าลูกชายเป็นคนดีหรือมีความสามารถ ไม่เหมือนพ่อ ไม่มีใครรัก แม้แต่คนเสื้อเหลืองเองก็ไม่เคารพ แต่การจัดงานศพพ่อยาวๆ การ “ไม่ลืมภูมิพล” จะกลายเป็นเครื่องมือเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากลูกชาย นอกจากนี้เขายังมีเมีย ภูมิพล อีกด้วย เข็นออกมารับงานได้ แต่ประชาชนก็ไม่รักเท่าไรตั้งแต่ไปงานศพพันธมิตรฯ ดังนั้นในเรื่องลูกชายและเมีย ก็ต้องย้ำเสมอว่า “เป็นลูกชายภูมิพล เป็นเมียภูมิพล” เพื่อไม่ให้เราลืมความดีงามของ ภูมิพล

ทั้งลูกชายและเมีย ภูมิพล มีภาพว่าเป็นคนโหดร้าย อาจจริง แต่จะโหดร้ายแค่ไหนก็ไม่มีอำนาจมากกว่าที่ ภูมิพล มีหรือเคยมี ซึ่งภูมิพลก็ไร้อำนาจ แต่เราจะเห็นละครของทหารและข้าราชการ “ไปเข้าเฝ้า” เพื่อ “รับคำสั่ง” ตามเคย บางครั้งอาจเป็นคำสั่งจริงในเรื่องแปลกๆ ตลกๆ ที่ไม่ค่อยมีความสำคัญกับบ้านเมือง ทหารก็คงทำไปเพื่อเอาใจและสร้างภาพ แต่ในประเด็นสำคัญหลักๆ ทหารและอำมาตย์ส่วนอื่นจะตัดสินใจก่อน แล้วไป “แจ้ง” ให้ลูกและเมียทราบ และออกมาโกหกว่ารับคำสั่งมา

ถ้าลูกชายภูมิพลไม่ได้รับความเคารพในสังคม ทำไมไม่นำลูกสาวขึ้นมาเป็นกษัตริย์แทน? ถ้าภูมิพลมีอำนาจจริง ทำไมเขาไม่ประกาศว่าลูกสาวจะเป็นกษัตริย์คนต่อไปก่อนตาย? คำตอบคือ ภูมิพลไม่กล้า และที่สำคัญการนำลูกสาวขึ้นมาโดยทหาร จะส่งสัญญาณอันตรายว่า ระบบกษัตริย์ไม่ได้อิงจารีตอันเก่าแก่จริง ให้ผู้หญิงเป็นกษัตริย์ได้แทนผู้ชายที่ยังมีชีวิต ยิ่งกว่านั้นจะส่งสัญญาณว่าในระบบกษัตริย์ ถ้ากษัตริย์หรือเจ้าฟ้าชายไม่ดีไม่เหมาะสม ก็เปลี่ยนคนได้อีกด้วย ถ้าเปลี่ยนคนได้ก็ยกเลิกไปเลยได้เหมือนกัน อย่าลืมว่ากษัตริย์มีบทบาทหลักในการเป็นลัทธิความคิดที่ใช้ครอบงำเรา มันไม่ใช่อำนาจดิบ ดังนั้นผลในทางความคิดเป็นเรื่องใหญ่ นอกจากนี้เจ้าฟ้าชายอาจเป็นคนที่ถูกใช้ได้ดีกว่าเจ้าฟ้าหญิงก็ได้

เมื่อ ภูมิพล ตาย สังคมไทยจะไม่ปั่นป่วนกว่าที่เป็นอยู่แล้ว อย่าไปโง่คิดว่า “จุดรวมศูนย์หัวใจคนไทยหายไป” มันเลิกเป็นจุดรวมศูนย์นานแล้ว และไม่ได้รวมหัวใจทุกคนด้วย แต่สิ่งที่จะปั่นป่วนหนักคือหัวใจของพวกอำมาตย์และเสื้อเหลือง ต่างหาก พวกนี้จะคลั่งมากขึ้น อันตรายมากขึ้น แต่อันตรายท่ามกลางความกลัว เขาจึงมีจุดอ่อน

เมื่อ ภูมิพล ตาย คนเสื้อแดงจำนวนมากที่เกรงใจ ภูมิพล อาจรัก ภูมิพล จะไม่เกรงใจหรือรักลูกชายเลย ความปลื้มในระบบกษัตริย์จะลดลงอีกในสายตาคนส่วนใหญ่

แต่เมื่อ ภูมิพล ตาย คนเสื้อแดงที่ไม่เอาเจ้า เพราะอยากได้ประชาธิปไตยแท้ จะไม่ประสบผลสำเร็จง่ายๆ โดยอัตโนมัติ เพราะฝ่ายอำมาตย์จะไม่เลิก อำนาจทหารจะยังมี และการรณรงค์คลั่งเจ้าจะเพิ่มขึ้น

ในมุมกลับ เมื่อ ภูมิพล ตาย อำมาตย์จะปั่นป่วน และมันเป็นโอกาสที่เราจะสู้ทางความคิดอย่างหนัก เพราะแหล่งความชอบธรรมเขาจะอ่อนลง เราจะต้องถามว่าทำไมต้องมีระบบนี้ต่อภายใต้ลูกชายหรือแม่?

พลเมืองที่รักประชาธิปไตยไม่สามารถรอวันตายของ ภูมิพล ได้ เพราะมันจะมีทั้งภัยและโอกาสตามมา เราหลีกเลี่ยงการวางแผน การจัดตั้งคน และการผนึกกำลังมวลชนไม่ได้ ประชาธิปไตยจะไม่หล่นจากต้นไม้ เหมือนมะม่วงสุก เราต้องไปเด็ดมันลงมากิน และเราจะต้องสอยอำมาตย์ทั้งหมดลงมา เพื่อไม่ให้ทำลายประชาธิปไตยอีก

Friday 18 September 2009

ใช้"ความเท่าเทียม"รบกับอำมาตย์

ในโอกาสครบรอบรัฐประหาร ๑๙ กันยา...
ร่วมกันทำลายแนวคิด/ลัทธิของอำมาตย์
ใจ อึ๊งภากรณ์

จักรภพ เพ็ญแข จบบทความของเขาเมื่อไม่นานมานี้ด้วยถ้อยคำสำคัญดังต่อไปนี้
“ประชาชน...อำมาตย์... สองเราต้องเท่ากัน”
น่าคิดนะครับ!!

ในความเห็นส่วนตัวของผม (ซึ่งคุณจักรภพไม่ต้องรับผิดชอบกับบทความนี้เพราะไม่ได้คุยกันมาเจ็ดเดือน) ประเด็นไม่ใช่ว่าฝ่ายอำมาตย์ “จะยอมหรือไม่” อย่างที่บางคนอาจนึกคิด แต่ประเด็นที่บทความของคุณจักรภพชวนให้ผมคิด และผมขอชวนให้ท่านคิดต่อ... คือเรื่องลัทธิ “ความเสมอภาค” เพราะลัทธิหรือปรัชญา “ความเสมอภาค” เป็นอาวุธทางความคิดที่สำคัญที่สุดในการทำลายลัทธิอภิสิทธิ์ชนของอำมาตย์

คิดดูซิ อำมาตย์ทำรัฐประหารเพราะมองว่าพลเมืองส่วนใหญ่ “ต่ำและโง่เกินไป” “ไม่ควรมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกรัฐบาล” อำมาตย์เกลียดชังการที่รัฐบาลไทยรักไทยนำภาษีประชาชนมาบริการประชาชน เช่นในระบบสาธารณะสุข เพราะอำมาตย์อยากเอาเงินภาษีพลเมืองมาใส่กระเป๋าของตนเอง มาเชิดชูตนเอง หรือซื้อเครื่องบินราคาเป็นล้านให้ตัวเองนั่ง อำมาตย์เกลียดระบบรัฐสวัสดิการและเคยพูดไว้เป็นหลักฐานด้วย เขาชอบให้คนจนพอเพียงกับความจน ไม่อยากให้มีการกระจายรายได้ ดังนั้นเราต้องรณรงค์ให้มีรัฐสวัสดิการและการกระจายรายได้

อำมาตย์อยากให้เราใช้ภาษาพิเศษกับเขา ชื่อเขาก็แปลกๆยาวๆ เพื่อไม่ให้ดูเท่าเทียมกับเรา เวลาเราไปหาอำมาตย์ก็ต้องคลานเหมือนสัตว์ นิยายอำมาตย์อ้างว่าเขาเหนือมนุษย์ธรรมดาเพราะเก่งทุกอย่าง เราจึงต้องรณรงค์ให้ทุกคนเท่าเทียมกัน

ลัทธิความคิดเสมอภาคจะทำลายข้ออ้างและการสร้างความชอบธรรมของอำมาตย์ทั้งหมด เพราะลัทธิความเสมอภาคในระบบประชาธิปไตยแท้ ยืนยันว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่มีใครต่ำ ไม่มีใครสูง ไม่มีใครมีสิทธิพิเศษ ทุกคนถูกติชมได้ ทุกคนต้องทำงานถ้ามีโอกาสหรือมีปัญญาพอ ทุกคนต้องเสียภาษี และที่สำคัญ ลัทธิเสมอภาคและประชาธิปไตยแท้ เสนอว่าพลเมืองทุกคนมีวุฒิภาวะที่จะปกครองตนเองและเลือกผู้แทนของตนเองอย่างเสรี ดังนั้นการทำรัฐประหาร การขัดขวางประชาธิปไตย และการมีคนถือตำแหน่งสาธารณะโดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่างเสรี ย่อมเป็นสิ่งที่ผิด การสืบทอดสายเลือดอาจทำให้เรามีหน้าตาเหมือนพ่อแม่ปู่ย่าตายายเราได้ แต่มันไม่ใช่สาเหตุที่จะดำรงตำแหน่งพิเศษในสังคม

ถ้าลัทธิเสมอภาคเป็นอาวุธอันแหลมคมที่ใช้ทำลายอำมาตย์ได้ เราควรใช้มันทุกวัน ในทุกเรื่อง ในทุกโอกาส ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ดังนั้นทุกคนร่วมกันทำได้ ผมขอยกตัวอย่างอื่นๆ นอกจากตัวอย่างที่เสนอไปแล้ว เช่น

เราควรเสนอว่ามนุษย์ทุกคน ไม่ว่าเชื้อชาติอะไร ศาสนาอะไร หรือใช้ภาษาอะไร เป็นคนเหมือนกันและเท่าเทียมกัน หยุดดูถูก ล้อเลียน หรือเอาเปรียบคนพม่า ลาว เขมร หยุดการมีความคิดอคติกับคนมุสลิมภาคใต้ หยุดคิดว่าการเป็น “ไทย” ยอดเยี่ยมที่สุด และหยุดคิดว่า “เราเป็นคนไทยด้วยกัน ต้องสามัคคี” ตามแนว “ชาติ ศาสนา กษัตริย์” ของอำมาตย์ อย่าลืมว่าอำมาตย์มองว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นพลเมืองชั้นสอง สิ่งเหล่านี้สำคัญ เพราะทุกครั้งที่ท่านเสนอว่าทุกคนเท่าเทียมกัน คุณกำลังปฏิเสธแนวอำมาตย์และเอาดาบทางปัญญาฟันความคิดของเขา

เราควรเสนอให้นักโทษในคุกไทยมีสิทธิ์สมกับการเป็นมนุษย์ อย่าดูถูกเขาว่าเป็น “คนเลว” เพราะเพียงแต่อยู่ในคุก คนติดคุกที่เป็นคนดีมีมากมาย เช่นคุณดา คุณสุวิชา คนจนที่โชคร้ายอีกหลายแสนคนติดคุก เพราะเขาเป็นเหยื่อสังคม คนเลวแท้ไม่ได้อยู่ในคุกแต่ปกครองประเทศ คนเสื้อแดงต้องรณรงค์ให้ปล่อยนักโทษส่วนใหญ่และให้ปฏิรูปคุกซึ่งเป็นนรกของคนจน เราต้องยกเลิกโทษประหาร คนที่ทำผิดยังมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิต และมีสิทธิ์ที่จะปรับตัว เราต้องเลิกอคติที่เรามีกับนักโทษ เลิกใช้แรงงานนักโทษเพื่อเอาโคลนออกจากท่อระบายน้ำ เพราะทุกครั้งที่ท่านเสนอว่าทุกคนเท่าเทียมกัน คุณกำลังปฏิเสธแนวอำมาตย์และเอาดาบทางปัญญาฟันความคิดของเขา

เราควรยืนยันว่ามนุษย์ต้องเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีรสนิยมทางเพศอย่างไร อำมาตย์พยายามสร้างภาพเรื่องครอบครัวและความสำคัญของศีลธรรมอนุรักษ์นิยมเรื่องเพศ แต่เขาเองก็ประพฤติไม่ได้ คนเสื้อแดงต้องเรียกร้องสิทธิเสรีภาพกับ หญิง ชาย เกย์ กะเทย ทอม ดี้ ทุกคนควรได้รับความเคารพเท่าเทียมกัน ผู้หญิงไทยควรมีสิทธิที่จะเลือกทำแท้งอย่างปลอดภัยถ้าต้องการ อย่าไปเชื่อจำลอง ศรีเมือง ในเรื่องนี้ แล้วทุกครั้งที่ท่านเสนอว่าทุกคนเท่าเทียมกัน คุณกำลังปฏิเสธแนวอำมาตย์และเอาดาบทางปัญญาฟันความคิดของเขา

เราควรคัดค้านการใช้อภิสิทธิ์ การปิดถนนเพื่อคนใหญ่คนโต เราต้องร่วมกันด่าร่วมกันวิจารณ์ ทั้งลับหลังและต่อหน้า เราต้องเสนอว่ารถพยาบาลเท่านั้นที่ควรได้อภิสิทธิ์แบบนี้ เราต้องเลิกคิดว่าในสังคมเราต้องมี “ผู้ใหญ่ กับผู้น้อย” เราควรเลิกก้มหัวให้ผู้ที่อ้างตัวเป็นผู้ใหญ่ ผู้หญิงควรเลิกเรียกตัวเองว่า “หนู” เราควรจะสุภาพกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เรียกทุกคนว่า “คุณ” หรือ “ท่าน” อย่างเสมอภาค เพราะทุกครั้งที่ท่านเสนอว่าทุกคนเท่าเทียมกัน คุณกำลังปฏิเสธแนวอำมาตย์และเอาดาบทางปัญญาฟันความคิดของเขา

เราควรรักเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็กของใคร ควรรณรงค์ให้เด็กมีความสนุก มีโอกาสเรียนรู้อย่างเสรี และมีสุขภาพที่ดี เด็กๆควรสุภาพ แต่ไม่ต้องมาเคารพผู้ใหญ่ในรูปแบบที่อำมาตย์เสนอ เพราะมันไร้เหตุผลและสร้างความเหลื่อมล้ำ เด็กก็เป็นคน มีสิทธิ์มีเสียง และสมควรที่จะได้รับความเคารพ ผู้หญิงสาวๆ หรือชายหนุ่มๆ ที่ทำงานในร้านอาหารหรือที่อื่น ไม่ใช่ “เด็ก” อย่าเรียกเขาอย่างนั้น เรียกว่า “น้อง” หรือ “พี่” ก็ได้ เราต้องมีความเสมอภาคทางอายุ เพราะทุกครั้งที่ท่านเสนอว่าทุกคนเท่าเทียมกัน คุณกำลังปฏิเสธแนวอำมาตย์และเอาดาบทางปัญญาฟันความคิดของเขา

ในสังคมปัจจุบัน การไหว้คนอื่นกลายเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนชั้นสูง-คนชั้นต่ำ ผู้น้อยต้องไหว้ผู้ใหญ่ก่อนและต้องก้มหัว ผู้ใหญ่ก็จะรับไหว้ เลิกเถิด!! อาจไม่ต้องไหว้กันเลยก็ได้ โค้งนิดๆ ทั้งสองฝ่าย ยิ้มให้กันตามมารยาท จะเท่าเทียมกว่า อย่าลืมว่าทุกครั้งที่ท่านเสนอว่าทุกคนเท่าเทียมกัน คุณกำลังปฏิเสธแนวอำมาตย์และเอาดาบทางปัญญาฟันความคิดของเขา

ในวันหยุดต่างๆ ไม่ต้องปักธงหรือเครื่องประดับของอำมาตย์ ถ้าจะฉลองวันสำคัญเน้นไปที่วันของประชาชน เช่น ๒๔ มิถุนายน หรือ ๑๔ ตุลาคมแทนก็ได้

พวกเราคงคิดถึงตัวอย่างอื่นๆ ได้อีกมากมายได้ และเราทุกคนสามารถร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความเท่าเทียม เพื่อค่อยๆ ทำลายความคิดของอำมาตย์ในสังคมได้ อย่ายอม อย่าก้มหัว เราไม่ใช่ราษฎร เราไม่ใช่ไพร่ เราไม่ได้อยู่ใต้ฝุ่นเท้าใคร เพราะเราเป็นพลเมืองของสังคมใหม่

ลัทธิ/ปรัชญาความเท่าเทียม ในความเห็นผม เป็นสิ่งเดียวกับ “สังคมนิยม” ดังนั้นเราต้องนำความคิดสังคมนิยมมารบกับความคิดอำมาตย์ แต่ไม่ว่าท่านจะเห็นด้วยหรือไม่ตรงนี้ คนเสื้อแดงทุกคนสามารถใช้ลัทธิความเท่าเทียมได้
19 กันยา 2552

สังคมนิยม

สังคมนิยมคืออะไร
ใจ อึ๊งภากรณ์

“สังคมนิยม” เป็นระบบที่มนุษย์ฝันถึงมานาน ตั้งแต่เกิดสังคมชนชั้นที่ไร้ความเสมอภาคและความยุติธรรม ในสมัยก่อนเขาอาจไม่เรียกว่า “สังคมนิยม” แต่มันมีความหมายเดียวกัน นักสังคมนิยมที่ทำความเข้าใจกับระบบเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันอย่างเป็นระบบ เพื่อหาทางปฏิวัติไปสู่สังคมนิยม คือ คาร์ล มาร์คซ์ และเพื่อนเขาชื่อ เฟรดเดอริค เองเกิลส์

พวกเราชาว “มาร์คซิสต์” เชื่อว่าสังคมนิยมต้องมาจากการกระทำของชนชั้นกรรมาชีพส่วนใหญ่เอง ไม่ใช่มาจากการวางแผนโดยคนคนเดียว หรือกลุ่มคนชั้นสูงในวงแคบ ๆ หรือผู้นำพรรค หรือกองทัพปลดแอก ดังนั้นสังคมนิยมจะมีลักษณะตามที่กรรมาชีพและพลเมืองส่วนใหญ่พึงปรารถนา อย่างไรก็ตาม ถ้าเราจะสร้างสังคมใหม่ที่เป็นสังคมนิยม มันน่าจะมีคุณสมบัติพื้นฐานดังนี้คือ

1. เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ไม่ใช่ประชาธิปไตยครึ่งใบอย่างทุนนิยมซึ่งอำนาจควบคุมการผลิตเป็นของนายทุน ทั้งนี้เพราะในระบบสังคมนิยมระบบเศรษฐกิจการผลิตจะถูกควบคุมโดยพลเมืองทุกคน ดังนั้นสังคมนิยมจะเป็นระบบก้าวหน้าที่ปลดแอกมนุษย์อย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์

2. ในระบบสังคมนิยมจะมีการวางแผนการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่เพื่อสะสมอาวุธ หรือเพื่อการหวังกำไรของคนส่วนน้อย จะเป็นระบบที่มีความเสมอภาคเต็มที่ ไม่มีคนรวย ไม่มีคนจน ไม่มีการกดขี่ทางเพศหรือเชื้อชาติ

3. ในระบบสังคมจะยกเลิกการขูดรีดของนายทุน โดยการยกเลิกสิทธิ์อันไร้ความชอบธรรมของคนบางคน ที่จะควบคุมปัจจัยการผลิตอย่างผูกขาดแล้วนำกำไรเข้ากระเป๋าตนเองหรือลงทุนเพื่อหากำไรเพิ่ม ทุกสถานที่ทำงานจึงต้องเป็นของคนงานเอง ของสังคมโดยรวม ไม่มีเจ้านาย ไม่มีชนชั้น บริหารกันเอง ทรัพยากรของโลกจะเป็นของส่วนรวม ดังนั้นการกดขี่แย่งชิงกันระหว่างชาติก็จะหมดไป

4. มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่ ไม่ใช่ว่าบางคนมีงานทำที่น่าสนใจ และคนอื่นต้องทำงานซ้ำซาก การทำงานของพลเมืองควรจะเป็นเรื่องที่สร้างความภาคภูมิใจ และสนับสนุนความสร้างสรรค์ของเราทุกคน พลเมืองทั้งสังคมจะได้มีศักดิ์ศรีและได้รับความเคารพรักซึ่งกันและกัน

สังคมนิยมสองรูปแบบ

เมื่อเราพูดถึงสังคมนิยม มักจะมีคนนึกถึงระบบเผด็จการในรัสเซียหรือจีน หรือบางครั้งอาจนึกถึงระบบพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยภายใต้ทุนนิยมในประเทศสแกนดิเนเวีย อังกฤษ หรือออสเตรเลีย แต่แนวคิดสังคมนิยมมีสองรูปแบบที่แตกต่างกันคือ

1. สังคมนิยมจากบนสู่ล่าง ซึ่งประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการสร้างหรือบริหาร เช่นสังคมนิยมที่มาจากการสร้างเผด็จการของกลุ่มข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ในจีน ลาว คิวบา เกาหลีเหนือ หรือรัสเซีย(ภายใต้สตาลิน) หรือสังคมนิยมปฏิรูปที่มาจากการกระทำของ ส.. พรรคสังคมนิยมในรัฐสภา สังคมนิยมดังกล่าวเป็นสังคมนิยมประเภท ท่านให้ซึ่งเป็นสังคมนิยมจอมปลอม เป็นการประนีประนอมกับระบบกลไกตลาดเสรีของทุนนิยมและอำนาจนายทุน หรือไม่ก็เป็นเผด็จการข้าราชการแดงของพรรคคอมมิวนิสต์ที่กดขี่ขูดรีดประชาชน

2. สังคมนิยมจากล่างสู่บน เป็นสังคมนิยมที่สร้างโดยมวลชนกรรมาชีพเอง ร่วมกับชาวนาระดับยากจน โดยอาศัยการปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมเพื่อสถาปนารัฐกรรมาชีพ และรัฐกรรมาชีพดังกล่าวต้องมีกลไกในการควบคุมรัฐตามแนวประชาธิปไตยอย่างชัดเจน เช่นต้องมีสภาคนงานในรูปแบบคอมมูนปารีส หรือสภาโซเวียตหลังการปฏิวัติรัสเซีย 1917 สมัย เลนิน สังคมนิยมประเภทนี้คือสังคมนิยมแบบ “มาร์คซิสต์” เพราะสังคมนิยมเหมือนกับประชาธิปไตยหรือสิทธิเสรีภาพอื่นๆ ไม่มีใครยกให้ได้ ต้องมาจากการต่อสู้เรียกร้องของมวลชนเอง นี่คือสังคมนิยมที่เราชื่นชมและอยากได้

สังคมนิยมมาร์คซิสต์ แตกต่างจากเผด็จการคอมมิวนิสต์แบบ “สตาลิน-เหมา เจ๋อ ตุง” ที่พรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกนำมาใช้ใน รัสเซีย จีน ลาว เขมร เวียดนาม คิวบา หรือ เกาหลีเหนือ และที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเคยเสนอ

ความแตกต่างระหว่างสังคมนิยมสองแนว

มาร์คซ์/ เองเกิลส์ / เลนิน/ ตรอทสกี

สตาลิน / เหมา/ พ.ค.ท.

1. ลัทธิการเมืองตามหลักแนวคิดวิทยาศาสตร์

1. ลัทธิตามคำสั่งผู้นำแบบศาสนาของรัฐ ต้องเชื่อผู้นำ

2. สังคมนิยมต้องสร้างเป็นระบบสากล โดยกรรมาชีพ เพราะทุนนิยมเป็นระบบโลก

2. “สังคมนิยมสร้างในประเทศเดียวได้และไม่ต้องเป็นการกระทำของชนชั้นกรรมาชีพ ผลคือการสร้างชาติแทนสังคมนิยม หลังค.ศ. 1989 หันมาใช้ทุนนิยมตลาดเสรีอย่างที่เห็นในจีน

3. ชนชั้นกรรมาชีพคือมวลชนผู้ไร้ปัจจัยการผลิต

3. “ชนชั้นกรรมาชีพ” เป็นคำที่ใช้แทนพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่ออ้างความชอบธรรม

4. เน้นสากลนิยม ความสามัคคีของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก

4. เน้นชาตินิยม เพื่อสามัคคีชนชั้นภายในประเทศ แม้แต่กรรมาชีพกับนายทุนก็สามัคคี

5. รัฐสังคมนิยมเป็นเครื่องมือกดขี่ชนชั้นนายทุนและเป็นเครื่องมือชั่วคราวในการสร้างสังคมนิยม –พอเกิดสังคมไร้ชนชั้น ไม่ต้องมีรัฐ

5. รัฐใหม่เป็นสถาบันถาวร เป็นเผด็จการเหนือกรรมาชีพ และใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ(รัฐนิยม) เพื่อสร้างชาติ

6. ในขั้นตอนการสร้างสังคมนิยม ชนชั้นกรรมาชีพควรเป็นอิสระและควรต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ตนเอง

6. เมื่อยึดอำนาจรัฐก็กดขี่ขูดรีดกรรมาชีพ ห้ามไม่ให้จัดตั้งอิสระ ห้ามไม่ให้นัดหยุดงาน

7. ประชาธิปไตยสูงสุดภายใต้อำนาจของชนชั้นกรรมาชีพโดยผ่านสภากรรมาชีพและสภาชุมชน ทำการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน

7. เผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ที่กดขี่ชนชั้นกรรมาชีพในนามของชนชั้นกรรมาชีพ!! ระบบการผลิตออกแบบเพื่อสะสมอาวุธ และความมั่นคงของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์

8. ชาวนาสร้างสังคมนิยมไม่ได้แต่เป็นแนวร่วม

8. กองทัพชาวนาสร้าง สังคมนิยมได้ในความคิด เหมาเจ๋อตุง

ความคิดทางการเมืองที่สำคัญของลัทธิมาร์คซ์

1. ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ ชนชั้นกรรมาชีพตามนิยามของลัทธิมาร์คซ์ คือ ทุกคนที่ไร้ปัจจัยการผลิต ดังนั้นลูกจ้างทุกคนที่ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษถือว่าเป็นกรรมาชีพ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรโรงงาน พนักงานปกคอขาวคนขับรถเมล์ หรือครูบาอาจารย์ และระบบสังคมนิยมต้องสร้างจากการกระทำของชนชั้นกรรมาชีพเอง กลุ่มอื่นหรือกลุ่มผู้นำเล็ก ๆ ยกสังคมนิยมให้ชนชั้นกรรมาชีพหรือประชาชนไม่ได้

2. สังคมนิยมต้องสร้างมาจากการปฏิวัติล้มระบบทุน ในปี ค.. 1871 มีการปฏิวัติสังคมนิยมเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกที่เมืองปารีสประเทศฝรั่งเศส มาร์คซ์เสนอบทเรียนว่า

ชนชั้นกรรมาชีพไม่สามารถใช้สถาบันของรัฐที่มีอยู่ในขณะนี้ เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือของชนชั้นกรรมาชีพเอง” ทั้งนี้ เพราะรัฐอำมาตย์สร้างขึ้นมาเพื่อกดขี่พลเมือง ไม่ใช่เพื่อปลดแอกมนุษย์

ต่อมาในปี 1900 นักปฏิวัติสังคมนิยมอีกคนหนึ่งชื่อ โรซา ลัคแซมเบอร์ค เสนอว่าถ้านักการเมืองเลือกเส้นทางปฏิรูปก็จะไปในทิศทางที่แตกต่างกับเส้นทางปฏิวัติ และจะสร้างสังคมที่แตกต่างกัน ไม่นำไปสู่สังคมนิยม

ในปี 1917 ผู้นำสังคมนิยมอีกคนหนึ่ง ชื่อ เลนิน ได้เขียนหนังสือชื่อ รัฐกับการปฏิวัติ เพื่อเน้นความสำคัญของการปฏิวัติในการสร้างสังคมนิยม เลนิน เสนอว่าต้องมีการปฏิวัติเพราะแม้แต่ในประเทศประชาธิปไตยทุนนิยม คนส่วนใหญ่ก็ยังถูกขูดรีดและไม่มีประชาธิปไตยเต็มใบ

3. พรรคปฏิวัติ สองนักปฏิวัติรัสเซีย ตรอทสกี และ เลนิน เสนอว่าถ้ามีการปฏิวัติจะต้องอาศัยอำนาจการระดมพลของมวลชนที่เป็นชนชั้นกรรมาชีพ ไม่ใช่อาศัยการกระทำของคนกลุ่มเล็ก ๆ แต่ถ้าไม่มีพรรค พลังมวลชนก็จะเปรียบเสมือนพลังไอน้ำที่ไม่สามารถนำมาใช้ในระบบลูกสูบได้ คือเปลี่ยนสังคมไม่ได้

4. ระบบทุนนิยมตั้งอยู่บนพื้นฐานการขูดรีด และกลไกตลาดนำไปสู่วิกฤตเสมอ ความหมายของการขูดรีดในความคิดลัทธิมาร์คซ์ก็คือการที่นายทุนได้ผลประโยชน์จากการจ้างงาน โดยที่ออกค่าจ้างให้คนทำงานในอัตราที่ต่ำว่ามูลค่าแท้ของสิ่งที่คนงานเหล่านั้นผลิต ส่วนที่เหลือของมูลค่าทั้งหมดหลังจากที่หักค่าแรงและค่าลงทุนในโรงงานเครื่องจักร และค่าขนส่งต่าง ๆ ฯลฯ ออก คือ มูลค่าส่วนเกิน ซึ่งเป็นที่มาของ กำไร กลไกตลาดในระบบทุนนิยมมักจะผลักดันให้นายทุนแข่งขันเพื่อเพิ่มกำไรสะสมทุนตลอด มันเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจเสมอ

5. การกดขี่ทางเพศในสังคมปัจจุบันมาจากสภาพสังคมชนชั้น ไม่ใช่ความชั่วของผู้ชาย เองเกิลส์ คือนักสังคมนิยมคนแรกที่พยายามเข้าใจปัญหานี้โดยเขียนหนังสือ กำเนิดของครอบครัวทรัพย์สินเอกชนและรัฐ เองเกิลส์อธิบายว่า ครอบครัว ระบบชนชั้น และการกำเนิดทรัพย์สินส่วนตัวของผู้เป็นใหญ่ คือสิ่งที่นำไปสู่การกดขี่ทางเพศ การกดขี่ทางเพศที่ผู้หญิงต้องประสบในยุคปัจจุบัน มาจากความต้องการของระบบทุนนิยมที่จะให้ผู้หญิงเลี้ยงดูคนงานรุ่นต่อไป โดยที่ผู้หญิงต้องรับภาระหน้าที่นี้โดยเฉพาะและในลักษณะปัจเจก แทนที่สังคมส่วนรวมจะรับผิดชอบในการเลี้ยงดูเด็ก และในเมื่อผู้หญิงถูกกำหนดว่าเป็นผู้เลี้ยงดูเด็ก ผู้ชายก็จะถูกมองว่าควรมีบทบาทในสังคมภายนอกมากกว่าผู้หญิง สถาบันที่ผูกพันกับหน้าที่เลี้ยงเด็กของผู้หญิงมากที่สุดคือ สถาบันครอบครัว

6. ปรัชญา “วิภาษวิธี” หรือ “ไดอาเลคทิค”

แนวความคิดลัทธิมาร์คซ์ทั้งหมดอาศัยรากฐานความคิดแบบวิภาษวิธีซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญดังนี้

ก) มองโลกเป็นระบบรวม ถ้าจะเข้าใจสังคมหรือปัญหาทางการเมืองเราจะดูแต่ชิ้นส่วนย่อย ๆ ของปัญหาต่าง ๆ ไม่ได้

ข) มองว่าสังคมมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ คือไม่เคยหยุดนิ่งทั้ง ๆ ที่ชนชั้นปกครองในทุกยุคทุกสมัยมักอ้างเสมอว่าสภาพสังคมที่ดำรงอยู่เป็นมาอย่างนั้นตลอดกาล และจะไม่มีวันเปลี่ยนได้ การเปลี่ยนแปลงอาจสะสมเรื่อยๆ จนระเบิดออกมาและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หรือที่เขาเรียกว่า “จากปริมาณสู่คุณภาพ”

ค) มองว่า การเปลี่ยนแปลงมาจากความขัดแย้งภายในของสังคมในทุกยุคทุกสมัย พูดง่าย ๆ การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาตลอดมาจากการต่อสู้ระหว่างชนชั้นและสภาพความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในแต่ละระบบเสมอ สิ่งนี้ มาร์คซ์ เรียกว่า เอกภาพของสิ่งตรงข้าม เช่นการที่ระบบสังคมปัจจุบันมีทั้ง “นายทุน” และ “กรรมาชีพ” ซึ่งมีผลประโยชน์ตรงข้ามกันเสมอ

กำเนิดลัทธิสตาลิน-เหมา และปัญหาของแนวนี้

การปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 เป็น “การปฏิวัติถาวร” ซึ่งแปลว่าชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกรยากจน ร่วมกันโค่นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าซาร์ในรัสเซีย แล้วก้าวกระโดดไปโค่นระบบทุนนิยมและสร้างสังคมนิยมทันทีอีกด้วย ผู้นำพรรคบอลเชวิคที่ผลักดันแนวนี้มากที่สุดคือ เลนิน กับ ตรอทสกี้ และเป็นข้อสรุปของนักมาร์คซิสต์สองคนนี้ท่ามกลางการต่อสู้ ที่สำคัญคือมันเป็นการพัฒนาทฤษฏีการปฏิวัติ โดยการกลับไปศึกษาข้อสรุปของ คาร์ล มาร์คซ์ จากปี 1848 เพราะเดิมทีเดียวพรรคบอลเชวิคในรัสเซียเคยมองว่าในประเทศล้าหลังของเขา จะต้องล้มกษัตริย์ซาร์ก่อน แล้วค่อยๆ สร้างทุนนิยมประชาธิปไตย ส่วนสังคมนิยมคงต้องรอให้เกิดในอนาคต แนวคิดนี้เรียกว่า “แนวปฏิวัติสองขั้นตอน”

ภายในไม่กี่ปี การปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซียถูกโดดเดี่ยวและเริ่มถอยหลัง พลังชนชั้นกรรมาชีพอ่อนแอ เพราะเศรษฐกิจพังและมีสงครามจากการรุกรานของประเทศทุนนิยม เมื่อ เลนิน ตาย สตาลิน ก็ขึ้นมาช่วงชิงการนำในพรรคคอมมิวนิสต์(เดิมชื่อพรรคบอลเชวิค) ข้อเสนอของ สตาลิน ในการชิงอำนาจจากผู้นำบอลเชวิคเก่าอย่าง ตรอทสกี คือให้สร้างรัฐที่เข้มแข็ง ภายใต้ลัทธิชาตินิยมแทนลัทธิสากลนิยม เร่งพัฒนาอุตสาหกรรม และเลิกคิดที่จะปฏิวัติในระดับสากล สตาลิน เป็นผู้แทนของแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ที่เริ่มแปรไปเป็นข้าราชการแดง และเขามีฐานเสียงที่มั่นคง

ในที่สุด สตาลิน สามารถยึดอำนาจมาได้ และเปลี่ยนแนวทางของพรรคคอมิวนิสต์ไปเป็นพรรคเผด็จการชาตินิยมที่กดขี่ขูดรีดกรรมาชีพรัสเซียในระบบที่เรียกว่า “ทุนนิยมโดยรัฐ” ในระบบนี้ชนชั้นนายทุนคือข้าราชการแดง มีการห้ามการนัดหยุดงาน ห้ามการจัดตั้งเสรีของกรรมาชีพ และมีการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจประเภทอุตสาหกรรมหนัก เพื่อสร้างอาวุธ ในขณะเดียวกันประชาชนยากจนลง และไม่มีอาหารและเสื้อผ้าเพียงพอ

พอถึงยุค 1936 ถือได้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกถูกแปรไปในรูปแบบเผด็จการลัทธิสตาลิน รวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้ เหมา เจ๋อ ตุง และ พ.ค.ท. ในไทยอีกด้วย ลัทธิชาตินิยมของ สตาลิน แปรพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก จากองค์กรที่หวังจะปฏิวัติล้มทุนนิยมในประเทศต่างๆ ไปเป็นเครื่องมือของรัสเซีย แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าสมาชิกธรรมดาของพรรคเหล่านี้เลิกฝันถึงการปฏิวัติ มันมีความขัดแย้งในตัว

สำหรับ สตาลิน การอยู่รอดของรัฐเผด็จการข้าราชการแดงในรัสเซียคือสิ่งที่สำคัญที่สุด การแสวงหาเพื่อนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแนวการเมืองแบบไหน เป็นสิ่งที่ตามมา สตาลิน จึงรื้อฟื้น “แนวปฏิวัติสองขั้นตอน” ที่ เลนิน กับ ตรอทสกี ทิ้งไป เพื่อเสนอว่าในทุกๆ ประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์ต้องเน้นจับมือทำแนวร่วมกับนายทุนชาติ เพื่อสร้างทุนนิยมประชาธิปไตยก่อนอื่น โดยหวังผลว่านายทุนชาติในประเทศต่างๆ จะลดการโจมตีรัสเซีย

นโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก กลายเป็นนโยบายที่แสวงแนวร่วมกับนายทุนชาติ ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป อัฟริกา หรือเอเชีย ในไทย พ.ค.ท. พยายามทำแนวร่วมกับจอมพลป. หลังจากนั้นทำงานในหนังสือพิมพ์ของ สฤษดิ์ ในจีนมีการทำแนวร่วมกับ เชียงไคเชค ในอินโดนีเซียทำแนวร่วมกับ ซุการ์โน และเป้าหมายในการทำแนวร่วมคือเพื่อสร้างให้ประเทศเหล่านี้เป็นประชาธิปไตยทุนนิยม เกือบทุกครั้งพรรคคอมมิวนิสต์จะโดนหักหลัง สฤษดิ์ และ เชียงไคเชค หันมาฆ่าคอมมิวนิสต์ และในอินโดนีเซียพรรคมีบทบาทหลักในการห้ามการต่อสู้กับรัฐบาลซุการ์โน ซึ่งทำให้ขบวนการอ่อนแอ เมื่อทหารฝ่ายขวาซุฮาร์โตทำรัฐประหาร คอมมิวนิสต์เลยโดนฆ่าเป็นล้าน

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการทบทวนนโยบายนี้แต่อย่างใด ซึ่งเห็นได้จากการที่ พ.ค.ท. หลัง ๖ ตุลา ๒๕๑๙ จนถึงการล่มสลายของพรรค เสนอให้ปฏิวัติเพื่อ “ประชาชาติประชาธิปไตย” (ประชาธิปไตยทุนนิยม) ผ่านการสร้างแนวร่วมกับนายทุนรักชาติ เพื่อล้ม “ศักดินา” ตามสูตรเดิม และทุกวันนี้คนที่ได้อิทธิพลจาก พ.ค.ท. ก็มองว่าต้องทำแนวร่วมกับทักษิณเพื่อล้ม “ศักดินา”

อำมาตย์ในไทยคือ “อำมาตย์ทุนนิยม”

ปัญหาของแนวคิดแบบ พ.ค.ท. คือ “ศักดินา” มันหมดไปตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ สมัยที่มีการเลิกทาส เลิกไพร่ และสร้างรัฐทุนนิยมรวมศูนย์ภายใต้กษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ญี่ปุ่นก็ปฏิวัติรวมศูนย์ชาติในยุค เมจิ เช่นเดียวกัน กษัตริย์ศักดินาไทยแปรตัวเองไปเป็นนายทุนใหญ่ ลงทุนในการทำนา การธนาคาร และการก่อสร้าง

ต่อมาในปี ๒๔๗๕ มีการล้มระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และขยายชนชั้นปกครองไปสู่ทหาร ข้าราชการ และนายทุนเอกชนเชื้อสายจีน พูดง่ายๆคือ “เผด็จการอำมาตย์” ที่มีอยู่ในไทยทุกวันนี้ เป็นเผด็จการของสถาบันต่างๆ ในระบบทุนนิยม ไม่ว่าจะแอบอ้างสร้างภาพอย่างไร และประกอบไปด้วยนายทุน ทหาร ข้าราชการ และกษัตริย์ มันคือ “อำมาตย์ทุนนิยม” แต่คนที่ยังเชื่อในลัทธิของ พ.ค.ท. มองไม่เห็นตรงนี้ และยังคงท่องสูตรเดิมว่า “ศักดินาครองเมือง”

ในเมื่อเขาเชื่อว่า “ศักดินาครองเมือง” อดีต พ.ค.ท. หลายคน รวมถึงคุณสุรชัย แซ่ด่าน ก็เสนอว่าควรทำแนวร่วมกับทักษิณ เพราะทักษิณเป็นนายทุนรักชาติก้าวหน้า ที่เขาเชื่อว่าเผชิญหน้ากับ “ศักดินา” คนเหล่านี้เข้าไปร่วมมือกับ ไทยรักไทย ก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยา แต่ปัญหาใหญ่สำหรับเขาคือ ทักษิณ เอง จงรักภักดีต่อกษัตริย์ เพราะชนชั้นปกครองไทยทั้งหมดจงรักภักดีและเห็นประโยชน์ของการมีกษัตริย์ไว้ใช้ ความขัดแย้งไม่ได้เป็นเรื่อง “ศักดินา กับ ทุนนิยม” แต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องการชิงสิทธิ์ที่จะอ้างอิงกษัตริย์ ในอนาคต ทักษิณ อาจประนีประนอมกับศัตรู

เนปาล

ถ้าเราไปดูประเทศ เนปาล เราจะได้บทเรียนเพิ่มเติม ในเนปาลพรรคคอมมิวนิสต์สายเหมา เจ๋อ ตุง ใช้วิธีจับอาวุธสู้กับเผด็จการทุนนิยมของกษัตริย์เนปาล การต่อสู้นี้ บวกกับการต่อสู้ของมวลชนในเมือง เช่นนักศึกษาและสหภาพแรงงาน ในที่สุดนำไปสู่ชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ในการเลือกตั้ง มีการยกเลิกสถาบันกษัตริย์ แต่ระบบที่พรรคคอมมิวนิสต์เนปาลเสนอคืออะไร? พรรคคอมมิวนิสต์เนปาลต้องการกลไกตลาดเสรีของนายทุน!! และต้องการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ!! ซึ่งแปลว่าต้องคงไว้การขูดรีดกรรมกรและเกษตรกร เพียงแต่เปลี่ยนประเทศไปเป็นสาธารณะรัฐเท่านั้น

การจับอาวุธปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล จึงเป็นการต่อสู้เพื่อประนีประนอมกับระบบทุนนิยม แต่ข้อแตกต่างกับไทยคือ ในเนปาลไม่มีนายทุนใหญ่อย่างทักษิณที่มีอิทธิพลต่อขบวนการและสามารถดึงการต่อสู้ไปเพื่อคงไว้ระบบเดิมที่มีกษัตริย์

ประชาธิปไตยแท้จะเกิดจากการเปลี่ยนประมุขอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องมีการยึดอำนาจโดยประชาชนในทุกเรื่อง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แต่ถ้าเรายกอำนาจให้นายทุนดำรงอยู่และขูดรีดต่อไป และถ้าเราเกาะติดนายทุนใหญ่ในขณะที่เขาประนีประนอมกับอำมาตย์ทุนนิยม เราก็จะปลดแอกสังคมไม่ได้

สองใบหน้าของลัทธิ สตาลิน-เหมา “ปฏิวัติและประนีประนอม”

ในทุกประเทศของโลก เราจะเห็นสองใบหน้าของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ใช้ลัทธิ สตาลิน-เหมา คือพูดด้วยวาจา “ปฏิวัติ” อาจสร้างกองกำลังจับอาวุธ หรือไม่ แต่ในที่สุดจุดจบคือ ทุนนิยม และเผด็จการของชนชั้นนายทุน ไม่ว่าจะเป็น จีน เวียดนาม เกาหลีเหนือ ลาว คิวบา หรือ เนปาล ในประเทศจีน เวียดนาม และลาว พรรคคอมมิวนิสต์ที่เคยใช้กองกำลังติดอาวุธ กำลังสร้างทุนนิยมตลาดเสรีท่ามกลางการขูดรีดประชาชนอย่างหนัก ในยุโรปพรรคคอมมิวนิสต์ต่างๆ ประกาศว่ายอมรับระบบทุนนิยมกลไกตลาด และในกรณีกรีซพรรคถึงกับร่วมรัฐบาลกับพรรคอนุรักษ์นิยม

“อำมาตย์” มีในทุกประเทศ มันเป็นโครงสร้างของรัฐนายทุน เพียงแต่ว่าในประเทศประชาธิปไตย ชนชั้นกรรมาชีพและขบวนการทางสังคมได้กดทับอำมาตย์นี้ไว้ เพื่อไม่ให้เถลิงอำนาจแบบสุดขั้วอย่างที่เราเห็นในไทย

เลนิน, ตรอทสกี และนักมาร์คซิสต์อื่นๆ มีการวิจารณ์คนที่เลือกต่อสู้ทางทหาร โดยหันหลังให้มวลชน เพราะมองว่าคนที่จับปืนหรือถือระเบิดแบบนี้ ก็ไม่ต่างจากคนที่หวังว่าจะเปลี่ยนสังคมผ่านผู้แทนไม่กี่คนในรัฐสภา ตรอทสกี เคยเสนอว่าพวกปฏิรูปไม่ต่างจากพวกจับอาวุธเลย แค่แลกสูตและกระเป๋าทำงานกับปืนหรือระเบิดเท่านั้น เพราะในที่สุดเป้าหมายไม่ใช่การพลิกแผ่นดินให้ประชาชนเป็นใหญ่

ผลเสียของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ในไทย คือการที่คณะราษฏร์ อาศัยอำนาจกองทัพมากกว่าการจัดตั้งมวลชนในสังคม ในที่สุดซีกทหารยึดอำนาจจาก ปรีดี ได้ และนี่คือต้นกำเนิดของอำนาจทางการเมืองของทหารในไทย เราควรจดจำบทเรียนสำคัญอันนี้ไว้ และจดจำบทเรียนความล้มเหลวของ พ.ค.ท. เพื่อให้ความเคารพกับการต่อสู้เสียสละของคนเหล่านี้ในอดีต

การจับอาวุธหรือสร้างกองกำลัง เป็นการตัดขาดบทบาทมวลชนจำนวนมาก เป็นการผูกขาดสิทธิที่จะกำหนดแนวทางโดยแกนนำเผด็จการใต้ดิน ถ้ามีการถกเถียงเกิดขึ้นในแกนนำ จะใช้ปืนแทนปัญญาในการตัดสิน และเมื่อมีการลดบทบาทหรือสลายพลังมวลชน เราไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้ที่พลเมืองนำตนเองและร่วมสร้างสังคมใหม่ได้

เพื่อประชาธิปไตยแท้

แถลงการณ์แดงสยาม จาก ใจ อึ๊งภากรณ์

ศัตรูของประชาชนมี คุก ศาล ทหาร เขายึดรัฐสภาและรัฐบาลผ่านการก่ออาชญากรรม เราชาวประชาธิปไตยแดงที่หูตาสว่างมีมวลชน แต่ตราบใดที่เรากระจัดกระจายนำตนเองไม่ได้ เราจะอ่อนแอ เมื่อใดที่เราจัดตั้งตนเอง นำตนเอง ในแต่ละท้องที่และรวมตัวกันเป็นพรรคที่เราสามารถร่วมกันนำ 5 นิ้วที่อ่อนแอจะกลายเป็นกำปั้นเหล็กที่ถล่มฝ่ายตรงข้าม

ในขณะที่ผู้นำโลกอย่างประธานาธิบดีโอบามา กำลังเสนอมาตรการเพื่อปกป้องสังคมจากวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรง รัฐบาลไทยปล่อยให้คนงานตกงานเป็นจำนวนมาก และเอาใจใส่แต่ในการ ปิดปากประชาชน ทำลายประชาธิปไตย และสร้างเวปไซท์เรื่องกษัตริย์ที่ส่งเสริมให้ประชาชนเป็นแค่เด็กขี้ฟ้อง

ศัตรูของประชาชนอาจจะมีปืน มีกองกำลัง มีเงิน มีอิทธิพลมืด แต่เขาสามัคคีภายใต้ลัทธิปัญญาอ่อนไร้วิทยาศาสตร์ ที่มุ่งทำให้ประชาชนเป็นทาสเป็นไพร่ ลัทธิกษัตริย์นั่นเอง ลัทธิที่ไร้วิทยาศาสตร์นี้เชิดชูให้คนสามัญที่บังเอิญเกิดในตระกูลหนึ่งถูกมองว่าเป็นเทวดา ทั้งๆที่กษัตริย์มีความสามารถไม่น้อยและไม่มากกว่าประชาชนปกติ ที่เป็นวิศวะกร ศิลปิน เกษตรกร หรือช่างฝีมือ หลายล้านคนทั่วประเทศ

ฝ่ายตรงข้ามอยากให้เราเชื่อว่ากษัตริย์รักและดูแลประชาชน แต่ประชาชนดูแลตนเองได้ และทุกอย่างที่งดงามเกี่ยวกับประเทศเรามาจากมือของประชาชน

กษัตริย์ คนนี้เติบโตมากับเผด็จการโกงกิน สฤษดิ์ ถนอม ประภาษ

กษัตริย์ คนนี้ปล่อยให้คนบริสุทธิ์ถูกประหารชีวิตในข้อหาฆ่ารัชกาลที่ 8

กษัตริย์ คนนี้สนับสนุนเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 2519 เพราะมองว่ายุคนั้นไทยมีประชาธิปไตย “มากเกินไป” และเขาเป็นผู้อุปถัมภ์ อันธพาลลูกเสือชาวบ้าน

กษัตริย์ คนนี้ ปล่อยให้ คมช.ทำรัฐประหาร 19 กันยา และปล่อยให้ประชาธิปไตยของเราถูกปล้นไปโดยทหาร พันธมิตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์ ในนามของกษัตริย์

ในนโยบายเศรษฐกิจ กษัตริย์คนนี้เคยคัดค้านสวัสดิการสำหรับประชาชนที่มาจากงบประมาณของรัฐ ยิ่งกว่านั้นในฐานะที่เป็นคนรวยที่สุดในโลกคนหนึ่ง ยังบังอาจสั่งสอนคนจนให้ “พอเพียง”

กษัตริย์คนนี้ ยอมให้บริวารรอบข้างตั้งชื่อให้เป็น “พ่อของสังคม” ในขณะที่ลูกชายตนเองไม่เป็นที่เคารพ

พวกอภิสิทธิ์ชนในสังคมที่อ้างความชอบธรรมจากระบบกษัตริย์เป็นเพียงปลิงดูดเลือดประชาชน พวกนี้ไม่ใช่เจ้าของสังคมไทย เขาควรเป็นหนี้บุญคุณประชาชนต่างหาก

สิ่งเหล่านี้ทุกเรื่อง ประชาชนรู้ว่าเป็นความจริงอยู่แล้ว มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่กำลังห้ามไม่ให้เรายืนขึ้นพูดความจริงทั้งหมดนี้ ในสังคมเปิด นั่นคือความกลัว

ถ้าเราโดดเดี่ยวเราจะกลัว ถ้าเรามีกลุ่มเราจะกล้า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องนำความโกรธ ความกล้า และสติปัญญาที่ประชาชนทุกคนมีอยู่ มาถล่มความกลัว และนำแสงสว่างกลับมาสู่บ้านเมือง เราต้องร่วมกันตั้งคำถามกับระบบเผด็จการปัจจุบัน เพราะเมื่อเราพูดพร้อมๆ กันทั่วประเทศ เขาจะจับคุมเราทั้งหมดไม่ได้

ตราบใดที่เราหมอบคลานต่อลัทธิกษัตริย์ เราทำตัวเป็นแค่สัตว์ เราต้องยืนขึ้นเป็นคน เราต้องเป็นพลเมืองในโลกสมัยใหม่

ธงไตรรงค์สามสี แดง ขาว น้ำเงิน ของฝ่ายเผด็จการ ลอกมาจากธงสามสีของตะวันตก แต่เพื่อส่งเสริม “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นคำขวัญของพันธมาร และทหาร ที่ใช้ในการทำลายประชาธิปไตย

ธงสามสี แดง ขาว น้ำเงิน เคยมีความหมายอื่นในการปฏิวัติฝรั่งเศส นั่นคือ “เสรีภาพ ความเท่าเทียมและความสมานฉันท์” นี่คือคำขวัญที่เราต้องใช้ในการต่อสู้เพื่อปลดแอกสังคมไทย จากยุคมืดแห่งระเบียบใหม่/การเมืองใหม่

เราจะรวมตัวกันอย่างไร?

เลิกหวังได้แล้วว่าอดีตนายกทักษิณจะนำการต่อสู้ในทิศทางที่จำเป็นสำหรับการปลดแอกสังคม อย่าตั้งความหวังกับนักการเมืองพรรคเพื่อไทย เขายังไม่พร้อมที่จะต่อสู้นอกกรอบระบบปัจจุบัน แต่ประชาชนหลายแสนหลายล้านพร้อมจะไปไกล

การต่อสู้นอกกรอบ ไม่ใช่การจับอาวุธสู้ แต่เป็นการติดอาวุธทางปัญญากับมวลชน เราต้องมีกลุ่มศึกษาการเมืองของเราเอง เราต้องรวมตัวกันเป็นพรรค และพรรคนี้ต้องนำตนเองในทุกท้องที่ ทุกชุมชน ทุกโรงงาน ทุกสถานที่การศึกษา ในรูปแบบที่คนเสื้อแดงเริ่มทำอยู่ แต่เราต้องประสานงานกัน

เราต้องมั่นใจว่าคนที่จะนำพรรคคือ เรา พลังของพรรคคือ เรา และทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการสร้างนโยบายและจุดยืน

อาวุธของเราคือการชุมนุม การนัดหยุดงาน และการขยายความคิดสู่คนอื่นในทุกภาคส่วน แม้แต่ในระดับล่างของกองทัพ

พรรคเรา ต้องมีกิจกรรมเปิดบ้าง แต่เนื่องจากกฎหมายหมิ่นและความก้าวร้าวของทหาร บางส่วนจะต้องปิดลับตามความเหมาะสม นี่คืออีกเหตุผลที่เราต้องนำตนเอง

จุดร่วมของเราควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

มันไม่ใช่สิ่งที่คนๆเดียวเสนอได้ ต้องร่วมกันเสนอ แต่นี่คือข้อเสนอของผมในฐานะพลเมืองแดงรักประชาธิปไตยคนหนึ่ง

1. เราต้องมีเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพทีจะเลือกรัฐบาลทีคนส่วนใหญ่ต้องการ โดยไม่มีการปราบปรามข่มขู่ และไม่มีความกลัว
2. เราต้องมีความเท่าเทียมเสมอภาค ต้องยกเลิกระบบผู้ใหญ่ผู้น้อย ยกเลิกการหมอบคลาน นักการเมืองต้องปฏิญาณตนว่าจะเคารพนายที่แท้จริงของตนเองคือประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศไม่ใช่อำนาจนอกระบบ เราต้องสร้างวัฒนธรรมพลเมืองที่เคารพซึ่งกันและกัน เราต้องมีเสรีภาพและความเท่าเทียมทางเพศและเชื้อชาติ ต้องเคารพผู้หญิง เคารพคนรักเพศเดียวกัน เคารพคนพม่า ลาว เขมร และคนมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ ผู้หญิงต้องมีสิทธิทำแท้งอย่างปลอดภัย ผู้ลี้ภัยจากต่างประเทศควรจะได้รับการดูแลอย่างอบอุ่น สมกับที่ประเทศเราเป็นประเทศอารยะ
3. ประเทศเราต้องเป็นรัฐสวัสดิการ ถ้วนหน้า ครบวงจร และผ่านการเก็บภาษีก้าวหน้าจากคนรวย คนจนไม่ใช่ภาระ แต่เป็นคนร่วมพัฒนาชาติ ที่ต้องมีศักดิศรี สังคมล้าหลังปัจจุบันกดทับประชาชาชนจำนวนมากไม่ให้เขาเป็นผู้สร้างสรรค์ และนำสังคมไปสู่ความก้าวหน้า
4. ในประเทศเรากษัตริย์ไม่ควรยุ่งในเรื่องการเมือง และลักษณะส่วนตัวของกษัตริย์ไม่ควรจะมีความสำคัญ กษัตริย์ต้องไม่แสดงจุดยืนของตัวเองในเวทีสาธารณะ แต่ในสังคมไทยปัจจุบันชนชั้นปกครองร่วมรับผลประโยชน์จากการใช้กษัตริย์เป็นเครื่องมือ และดูเหมือนว่าจะไม่ยอมยกเลิกพฤติกรรมแบบนี้ ดังนั้นวิธีแก้ไขปัญหานี้ที่ดีที่สุด จึงเป็นเรื่องของการ สร้างระบบสาธารณะรัฐในประเทศไทย เพื่อให้ทุกตำแหน่งมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน
5. ประเทศเราอยู่ภายใต้รองเท้าบูทของนายพลมานานเกินไป เราตั้งตัดงบประมาณของทหารและอำนาจในสังคมเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยอีกต่อไป
6. ประเทศเราต้องมีความยุติธรรม ศาลไม่ควรอ้างกษัตริย์ในการขัดขวางการถูกตรวจสอบ ไม่ควรใช้กฎหมายหมิ่นศาลเพื่อปกป้องระบบอยุติธรรม เราต้องปฏิรูประบบยุติธรรมอย่างถอนรากถอนโคน ต้องมีระบบลูกขุนที่มาจากประชาชน ตำรวจต้องบริการประชาชนแทนที่จะรีดไถคนจน
7. ประชาชนในเมือง ในชุมชน ในท้องถิ่นต่างๆ ต้องเข้ามาบริหารสาธารณะในทุกระดับ เช่น รัฐวิสาหกิจ สื่อ โรงเรียนและโรงพยาบาล
8. ประเทศเราต้องทันสมัย เราต้องปรับปรุงระบบการศึกษา การคมนาคม และที่อยู่อาศัย และหันมาผลิตพลังงานจากลมและแสงแดดเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม
9. ประเทศเราต้องรักสงบ ไม่ขัดแย้งสร้างเรื่องกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือ สนับสนุนการก่อสงคราม

พวกใดโนเสาร์ล้าหลัง พวกเสื้อเหลือง จะบ้าคลั่ง น้ำลายฟูมปากเมื่ออ่านแถลงการณ์อันนี้ แต่มันเป็นเพียงอาการของพวกตกยุค หลุดโลก งมงาย ที่ควรจะลงถังขยะแห่งประวัติศาสตร์ เราชาวประชาธิปไตยแดง จะเดินหน้า สร้างสังคมอารยะ สังคมใหม่

พวกอภิสิทธิ์ชน ไม่มีสิทธิ์ปล้นชีวิต ศักดิ์ศรี ความเป็นคนของประชาชน ไปเพื่อหวังเพิ่มความเป็นคนของเขาเอง หยุดเอาคนจนมาบูชายันต์ได้แล้ว

พวกที่อ้างว่า “ไทยมีลักษณะพิเศษในการมีกษัตริย์” เพียงแต่ยืนยันว่าความพิเศษของสังคมไทยที่เขาต้องการปกป้องคือความป่าเถื่อนและเผด็จการ การอ้างเรื่อง “ความมั่นคง” เป็นเพียงการพยายามสร้างความมั่นคงให้กับผู้ที่กดขี่ขูดรีดประชาชน ไม่ใช่การสร้างความมั่นคงและดีงามกับพลเมืองทั่วไปแต่อย่างใด

แถลงการณ์นี้เป็นเพียงข้อเสนอที่เราอาจนำมาเป็นจุดร่วมได้ในหมู่คนเสื้อแดงที่รักประชาธิปไตย ส่วนตัวแล้ว ในฐานะนักสังคมนิยม ผมอยากเห็นประเทศเราเดินหน้าต่อไปจากนั้น เพื่อสร้างสังคมที่มีประชาธิปไตยเต็มใบและไม่มีชนชั้น ปราศจากการกดขี่ขูดรีด... ระบบสังคมนิยมนั้นเอง แต่นั้นเป็นเป้าหมายระยะยาว

ชนชั้นปกครองดูใหญ่โต เข้มแข็ง เมือเรายังคลานอยู่กับพื้น แต่พอเรายืนขึ้นหูตาสว่าง เดินหน้าร่วมกับคนอื่น เราจะเห็นว่าพวกนี้อ่อนแอและน่าสมเพชแค่ไหน

ในอดีต ไม่ว่าจะช่วง ๒๔๗๕ หรือ๑๔ ตุลา เคยมีความฝันในหมู่ประชาชน ว่าเราจะสร้างสังคมประชาธิปไตยที่มีความเท่าเทียม เราจะต้องสร้างความฝันนี้ให้เป็นจริงสักที
ใจ อึ๊งภากรณ์ 9 กุมภาพันธ์ 2009

ทำไมเราต้องปฏิวัติล้มอำมาตย์

ทำไมเราต้องปฏิวัติอำนาจอำมาตย์

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในฐานะที่ผมสนับสนุนแนว “ปฏิวัติอำนาจอำมาตย์” ซึ่งเป็นแนวทางเลือกหนึ่งในขบวนการเสื้อแดง ผมอยากจะอธิบายเหตุผลและอธิบายว่าการปฏิวัติที่ว่านี้คืออะไร เพราะขบวนการเสื้อแดงถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่เราทุกคนต้องร่วมกันคิด ร่วมกันถกเถียงระหว่าง “แนวปฏิวัติ” กับ “แนวปฏิรูป”

ลักษณะของอำนาจอำมาตย์
อำนาจอำมาตย์เป็นอำนาจในเชิง “ระบบ” ไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล และไม่ได้อยู่ที่สถาบันเดียวในสังคมไทย มันเป็นอำนาจที่ใช้ผ่านการควบคุม “รัฐ” ซึ่งรัฐในที่นี้มันใหญ่กว่าแค่รัฐบาล ในกรณี “รัฐอำมาตย์” มันประกอบไปด้วย ทหาร(ชั้นสูง) ตำรวจ(ชั้นสูง) ศาล ข้าราชการ(ชั้นสูง) นักการเมืองและนายทุนอนุรักษ์นิยม องค์มนตรีและประมุข และกลุ่มคนเหล่านี้ มีอิทธิพลในการคุมทรัพยากร สื่อ องค์กรศาสนา และระบบการศึกษาอีกด้วย
รัฐอำมาตย์ไทยมีศูนย์กลางอำนาจที่กองทัพ เพราะกองทัพผูกขาดอำนาจในการใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่รักประชาธิปไตย แต่อำมาตย์ทุกรูปแบบทั่วโลกต้องอาศัยการกล่อมเกลาทางความคิดเพื่อหวังสร้างความชอบธรรม พูดง่ายๆ อำนาจของอำมาตย์ขึ้นอยู่กับการปราบและการชักชวนพอๆ กัน
สถาบันเบื้องบนมีบทบาทหลักในการกล่อมเกลา ดังนั้นอำมาตย์ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ จะใช้ “ชาติศาสนาพระมหากษัตริย์” เป็นคำขวัญ และจะกล่อมเกลาให้เราคิดว่าใครที่ไม่จงรักภัคดีเป็น “ศัตรูของชาติ” แต่แท้ที่จริงการจงรักภัคดีที่ว่านี้มันเป็นการจงรักภัคดีต่ออำมาตย์ทั้งหมด ไม่ใช่แค่สถาบันเดียว ที่สำคัญทหารและส่วนอื่นๆ ของอำมาตย์อาจสร้างภาพเสมอว่า “ไปรับคำสั่งมาจากเบื้องบน” แต่ที่จริงมันเป็นละครที่เล่นให้เราดู อำนาจในการตัดสินใจอะไรๆ อยู่ที่พวกนายพลและส่วนอื่นๆ ของอำมาตย์ แต่เขาเชิดชูสถาบันเพื่อให้ความชอบธรรมกับสิ่งที่เขาเองเลือกทำเพื่อผลประโยชน์ของเขาเอง ซึ่งไม่ต่างจากการที่คนในสังคมอื่นๆ อ้างศาสนาเพื่อให้ความชอบธรรมกับสิ่งที่ตนเองทำ คนที่ใครๆคิดว่าเป็น “ตัวละครเอก” และผู้ที่อยู่ในครอบครัวทุกคนเกือบจะไม่มีอำนาจอะไรเลย และแถมไม่มีความคิดยาวไกล ไม่มีข้อเสนออะไรที่สร้างสรรค์ และไม่มีความกล้าหาญในการนำ ได้แต่ยอมให้คนชม ยอมให้คนหมอบกราบเพราะพึงพอใจในการร่วมกินกับอำมาตย์ ซึ่งแปลว่าการที่บุคคลคนหนึ่งจะหายไปในที่สุดตามธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ จะไม่ทำให้อำมาตย์หมดไป และมันแปลว่าถ้าเราจะล้มอำมาตย์ เราต้องตัดกำลังและอำนาจของทหารเป็นสำคัญ
การล้มอำมาตย์เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เกมส์เด็กเล่น และไม่ใช่ความเพ้อฝัน ที่อื่นเขาก็ทำได้ แต่ถ้าเราเลือกที่จะปล่อยไว้เพื่อหวังหาทางสันติ มันไม่มีหลักประกันว่าเราจะได้ประชาธิปไตยแท้มา และไม่มีหลักประกันว่าเขาจะไม่ปราบเราด้วยความรุนแรง อย่าลืมว่าอำมาตย์ก่อเหตุนองเลือดสี่ครั้ง คือ ๑๔ ตุลา ๖ตุลา พฤษภา๓๕ และเมษา๕๒ ทั้งๆที่ผู้ชุมนุมล้วนแต่ปราศจากอาวุธ และในหลายกรณียังชูรูปกษัตริย์อีกด้วย
ใครที่หวังว่าเรารอการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ เป็นคนที่ลืมว่าอำมาตย์ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามครั้ง ด้วยรัฐประหาร ๑๙ กันยา ด้วยรัฐประหารตุลาการ และด้วยการก่อจลาจลและซื้อตัวคนอย่างเนวิน เขาจะไม่ยอมรับกติกาประชาธิปไตย มันชัดเจนมานาน

การปฏิวัติหมายถึงอะไร?
มันแล้วแต่คนจะตีความ แต่สำหรับผม มันมีสองส่วนที่สำคัญพอๆ กันคือ
1. สิ่งที่เราจะทำหลังจากที่ยึดอำนาจทางการเมืองมาได้ คือต้องยกเลิกส่วนต่างๆ ของอำมาตย์ แปลว่าต้องตัดกำลังและอำนาจของทหาร ต้องปลดนายพลระดับสูงที่ไม่รักประชาธิปไตยออกให้หมด ต้องเอาอิทธิพลกองทัพออกจากสื่อ และต้องตัดงบประมาณทหารอย่างหนัก เราจะเอาเงินส่วนนี้ไปพัฒนารัฐสวัสดิการได้ และควรนำความเชี่ยวชาญของนายทหารธรรมดาระดับล่างๆ มาช่วยสังคม เช่นกู้ภัยและพัฒนาสาธารณูปโภค เราจะต้องปลดศาลตุลาการที่รับใช้อำมาตย์และมีสองมาตรฐานออกให้หมด นำนักกฎหมายและประชาชนที่รักประชาธิปไตยเข้ามาแทน พร้อมมีระบบลูกขุน เราจะต้องเอาสื่อออกจากมืออำมาตย์และตั้งกรรมการบริหารจากประชาชนรากหญ้า เราจะต้องปฏิรูปชีวิตตำรวจ เพื่อตัดวัฒนธรรมคอร์รับชั่นออกไป เพื่อให้ตำรวจมีศักดิ์ศรีและรับใช้ดูแลประชาชน เราจะต้องเปลี่ยนระบบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยคล้ายฝรั่งเศส อินเดีย ไต้หวัน หรือเยอรมัน แทนที่จะหวังว่าเป็นแบบอังกฤษหรือญี่ปุ่น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มีอะไรที่จะถูกแอบอ้างมาเพื่อทำความเลวในอนาคต เหมือนที่เคยแอบอ้างมาในอดีต และเพื่อให้พลเมืองทุกคนเท่าเทียมกันจริงๆ และที่สำคัญเพื่อประหยัดเงินและนำมาใช้สร้างรัฐสวัสดิการ สรุปแล้วการปฏิวัติมีหนึ่งความหมายในด้านผล คือการเปลี่ยนโครงสร้างสังคมการเมืองแบบถอนรากถอนโคน
2. เมื่อเราต้องเปลี่ยนสังคมแบบถอนรากถอนโคน เราต้องพูดถึงอำนาจและวิธีการในการเปลี่ยนสังคม ซึ่งแน่นอนคงไม่ใช่แค่รอวันเลือกตั้งเพื่อให้เขาทำรัฐประหารอีก หรือไปเดินขบวนเฉยๆ เพื่อให้เขาปราบอีก และในความเห็นผม เราไม่ควรเดินแนวจับอาวุธ เพราะการจับอาวุธเหมือนที่พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเคยทำ เป็นการตัดบทบาทมวลชนเสื้อแดงล้านๆ คนออกไป เพื่อยกหน้าที่ในการปลดแอกประชาชนให้กับกองกำลังไม่กี่หมื่นคน และเป็นการลดทอนพลังความสร้างสรรค์และเสรีภาพในการถกเถียงของคนเสื้อแดงอีกด้วย เพราะต้องปิดลับสั่งการจากบนลงล่าง ดังนั้นเราต้องเดินหน้าต่อไปในการสร้างขบวนการเสื้อแดง เราต้องขยายไปสู่สหภาพแรงงานเพื่อใช้พลังการนัดหยุดงาน เราต้องสร้างมิตรภาพกับตำรวจและทหารชั้นล่างที่เป็นลูกหลานพี่น้องเรา เราต้องสร้างพรรคเพื่อประกาศจุดยืนที่จะล้มอำมาตย์และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และเราต้องฝึกฝนการใช้มวลชนเพื่อบล็อคการเอารถถังหรือทหารออกมาในการปราบประชาชน นอกจากนี้เราต้องเริ่มสร้างหน่ออ่อนของรัฐใหม่ที่เราต้องการคือ ในชุมชนที่เราเข้มแข็งต้องสร้างระบบบริหารของเราเพื่อแข่งกับระบบบริหารของอำมาตย์ ต้องมีสื่อของเรา ต้องทำให้เป็น “เขตปลอดอำมาตย์” และต้องประสานกันระหว่างชุมชนแบบนี้ทั่วประเทศ เป้าหมายคือการท้าทายอำนาจรัฐอำมาตย์ในทุกรูปแบบ เราต้องสร้างองค์กรของคนเสื้อแดงเพื่อช่วยเหลือให้สวัสดิการและความรู้ให้กับประชาชน ซึ่งจะช่วยในการครองใจมวลชนและเตรียมตัวยึดอำนาจ ตัวอย่างที่ดีคือพรรค ฮามาส หรือเฮสโบลาในตะวันออกกลาง เพียงแต่เราจะไม่ใช้ลัทธิศาสนา ที่สำคัญมากๆ เราต้องกล้าซื่อสัตย์ ยอมรับข้อผิดพลาดในอดีตและปัจจุบัน ไม่เล่นพรรคเล่นพวกโดยไร้เหตุผล และรู้จักสามัคคีกับคนที่รักประชาธิปไตยที่มองต่างมุมกับเรา เพื่อให้มวลชนไว้ใจเรา ในที่สุดเมื่อเราพร้อม เราจะลุกฮือทั่วประเทศและยึดสถานที่ราชการต่างๆ พร้อมตัดกำลังของกองทัพ
คำถาม
มันจะนำไปสู่สงครามกลางเมืองไหม?... ไม่ เพราะสงครามกลางเมืองเรามีอยู่แล้วทุกวันนี้

มันจะนำไปสู่การนองเลือดไหม? ... นั้นขึ้นอยู่กับอำมาตย์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา เพราะเราไม่ใช่ผู้ก่อความรุนแรง ถ้าเรามีมวลชนจำนวนมาก ทหารชั้นล่างจะเลิกฟังผู้บังคับบัญชา และเราจะลดความเสี่ยงได้บ้าง แต่เราก็ควรเตรียมพร้อมที่จะโต้ตอบความรุนแรง ด้วยวิธีที่เรารู้จักจาก พฤษภา ๓๕ หรือ ๑๔ ตุลา หรือจากการต่อสู้ของประชาชนใน อิหร่าน จีน เวนเนสเวลา ฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆ อีกมากมาย

เรามีหลักประกันอะไรว่าจะชนะ? ... ไม่มี นี่คือโลกจริง แต่การปฏิรูปประนีประนอมจะไม่มีวันรื้อถอนอำนาจอำมาตย์ได้ เราจะได้แต่ “ทนอยู่กับมัน” และ “อาศัยความเมตตาของอำมาตย์”

มันจะใช้เวลานานไหม? ... คงจะใช้ เพราะเราต้องเตรียมตัว แต่การประนีประนอมจะใช้เวลานานกว่าอีก เพราะต้องไปเริ่มจากสูญใหม่ในอนาคตเพราะเราจะไม่ได้ประชาธิปไตยแท้

เราจะปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมด้วยหรือไม่? ... ผมเป็นนักสังคมนิยมและมองว่าระบบกลไกตลาดของทุนนิยมมีปัญหา เพราะทำลายชีวิตประชาชนท่ามกลางการขูดรีด ทำลายสิ่งแวดล้อม และนำระบบเศรษฐกิจสู่วิกฤตเป็นประจำ ผมมีความหวังว่าท่ามกลางการต่อสู้ คนเสื้อแดงจะเริ่มมองว่าสังคมนิยมเป็นเป้าหมายที่ดีเหมือนผม และเราจะได้ร่วมกันวางแผนเศรษฐกิจใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน สังคมนิยมที่ผมชื่นชมจะมีประชาธิปไตยและจะต่างจากเผด็จการคอมมิวนิสต์ในลาว คิวบา เกาหลีเหนือ หรือแบบที่เคยมีในจีนหรือรัสเซีย และมันจะก้าวหน้ากว่าสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ยอมรับทุนนิยม อย่างที่เห็นในสแกนดิเนเวียด้วย อย่างไรก็ตามคนเสื้อแดงหลายคนอาจยังไม่เป็นนักสังคมนิยม แต่เราจะสามัคคีและเดินหน้าร่วมกันเพื่อปฏิวัติอำมาตย์

กลุ่ม “สยามแดง” คืออะไร? ... ผมไม่ทราบเพราะผมไม่ได้มีส่วนในการก่อตั้งกลุ่มที่มีชื่อแบบนี้ ผมเพียงแต่เขียนและเผยแพร่ “แถลงการณ์สยามแดง” เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยแท้และระบบสาธารณะรัฐ ผมใช้คำว่า “สยาม” ในแถลงการณ์เพื่อต่อต้านแนวคิดชาตินิยม “ไทย” ที่กดขี่เพื่อนๆ เชื้อชาติอื่น โดยเฉพาะเพื่อนชาวมาเลย์มุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ และผมใช้ “แดง” เพราะผมเป็นเสื้อแดง และเป็นสังคมนิยม

ผมหวังว่าผมได้อธิบายจุดยืน “ปฏิวัติ” ของผมให้ท่านเข้าใจในฐานะที่ผมเป็นคนเสื้อแดงคนหนึ่ง ผมอยากชวนให้ท่านร่วมปฏิวัติด้วย เราต้องมีพรรค มีกลุ่มศึกษา ต้องถกเถียงเพื่อความชัดเจน ต้องร่วมกันนำจากรากหญ้า เพราะถ้าเราร่วมกันนำจากรากหญ้า เราจะพลิกวัฒนธรรมการเป็น “ผู้ตามที่ฟังแต่ผู้นำ” ที่อำมาตย์ชื่นชมมานาน ผมยอมรับว่าสิ่งที่ผมเสนอ มันเขียนง่าย โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่อยู่ในประเทศ ดังนั้นเพื่อนๆ เสื้อแดงต้องตัดสินใจเอง ทุกคนมีสิทธิ์กลัว ทุกคนมีสิทธิ์มองต่างมุม แต่เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไม่คิดอีกแล้ว คำถามที่เราต้องตอบคือ เราจะทำงานหนัก เราจะเสียสละ เราจะเสี่ยงภัย เพื่อชัยชนะอันยิ่งใหญ่และงดงามของประชาชน หรือจะยอมจำนน ประนีประนอมไปก่อน และอดทนกับการปกครองเผด็จการต่อไปอีกนาน?

อำมาตย์คุมอำนาจรัฐอย่างไร

วิเคราะห์อำนาจอำมาตย์
ใจ อึ๊งภากรณ์
ทุกวันนี้คนเสื้อแดงกำลังรบกับอำนาจ “นอกระบบ นอกรัฐธรรมนูญ หรือนอกกรอบกติกาประชาธิปไตย” หรือที่เราเรียกกันว่า “อำมาตย์” ดังนั้นเราต้องร่วมกันทำความเข้าใจว่าอำนาจอำมาตย์มีองค์ประกอบอะไรบ้าง ซึ่งแปลว่าเราต้องมาศึกษาเรื่อง “รัฐ”
“รัฐ” คือองค์กรปกครองประเทศในยุคสมัยนี้ ที่สำคัญคือมันมากกว่าแค่ รัฐบาล และรัฐสภา อย่างที่ เลนิน หรือนักมาร์คซิสต์อื่นๆ เคยอธิบาย มันประกอบไปด้วย ทหาร(ชั้นสูง) ตำรวจ(ชั้นสูง) ศาล คุก และข้าราชการ(ชั้นสูง) เราอาจรวมองค์มนตรีและประมุขเข้าไปด้วย และกลุ่มคนเหล่านี้ มีอิทธิพลในการคุมสื่อ องค์กรศาสนา และระบบการศึกษาอีกด้วย นอกจากนี้ในหมู่คนที่เราอาจเรียกรวมๆ ว่าเป็น “ชนชั้นปกครอง” เรายังต้องรวมนักธุรกิจนายทุนรายใหญ่ๆ ทั้งๆ ที่นายทุนเอกชนไม่ใช่ส่วนหนึ่งของรัฐ แต่ที่สำคัญเขาใช้อำนาจเศรษฐกิจการเงินของเขาในการกำหนดทิศทางการทำงานของรัฐได้ รัฐจึงไม่เป็นกลาง และไม่ใช่ของประชาชน และอย่าลืมว่าเวลาเราพูดถึงนายทุนในไทย มันรวมนายพลที่สะสมทุนผ่านการคอร์รับชั่น และรวมทรัพย์สินส่วนกษัตริย์ด้วย เพราะศักดินาเก่าแปรรูปไปเป็นนายทุนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๕
“รัฐ” จึงถือได้ว่าเป็นเครือข่ายของคนชั้นสูง ที่มีเส้นสายสัมพันธ์ ทั้งในด้านส่วนตัวมิตรสหายเครือญาติ และในด้านผลประโยชน์ร่วม ซึ่งทำให้เขาร่วมมือกันในการทำงานทั้งๆ ที่อาจมีการทะเลาะกันเถียงกันบ้าง นี่คือระบบอุปถัมภ์ “ร่วมกันกิน”ที่เป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย เพราะอะไร?
เราจะสังเกตเห็นว่า “รัฐ” มีทั้งส่วนที่อาจมาจากการเลือกตั้ง เช่นรัฐบาลและรัฐสภาในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย และอีกส่วน ซึ่งใหญ่กว่า ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเลย เป็นกลุ่มคนและสถาบันที่มีอำนาจนอกกรอบรัฐธรรมนูญและกติกาประชาธิปไตยแท้ อำนาจอำมาตย์จึงมีอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นไทย สหรัฐ อังกฤษ ญี่ปุ่น จีน สแกนดีเนเวีย หรืออินเดีย.... ประเด็นที่เราต้องตีให้แตกคือ เราจะกดทับอำนาจอำมาตย์ในระยะสั้น เพื่อไม่ให้ละเมิดประชาธิปไตยมากเกินไป แล้วในระยะยาวเราจะกำจัดมันให้หมดไปอย่างไร ถ้าเปรียบไทยกับยุโรปตะวันตก จะเห็นว่าในยุโรปอำนาจประชาชนกดทับอำนาจอำมาตย์ไปได้บ้างในระยะสั้น จึงไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงประชาธิปไตยเท่ากับประเทศไทย
ข้อสรุปสำคัญจากการวิเคราะห์แบบนี้คือ การเลือกตั้งอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะลดอำนาจอำมาตย์ได้ ซึ่งเราเห็นในกรณีความไร้อำนาจของรัฐบาลพลังประชาชนเมื่อปีที่แล้ว และการแก้รัฐธรรมนูญไม่เพียงพอที่จะลดอำนาจอำมาตย์ด้วยเพราะอำนาจเขาอยู่นอกกรอบรัฐธรรมนูญ
เมื่อเราเข้าใจตรงนี้ ข้อเสนอให้กาช่องไม่เลือกใคร(No Vote) ของอ.ชูพงษ์ ถี่ถ้วน ไม่มีน้ำหนักหรือเหตุผลเพียงพอ เพราะมีคำถามตามมาว่ามันจะทำให้คนเสื้อแดงเข้มแข็งอย่างไร? มันให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งมากเกินไป และถ้ากาช่องไม่เลือกใครแล้วกลับบ้าน...หลังจากนั้นทำอะไรต่อ? อย่าลืมว่า อ.ชูพงษ์เคยอยู่กับ อ.ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ซึ่งเป็นอดีตคอมมิวนิสต์ที่ไปจับมือกับทหาร และหน้าที่ของกลุ่มอาจารย์ประเสริฐในอดีตและปัจจุบันคือการสร้างความสับสนในขบวนการประชาชนเพื่อไปจงรักภัคดีกับทหารและกษัตริย์ในที่สุด
ในระยะสั้นเราจะใช้อะไรเป็นเครื่องมือในการลดอำนาจอำมาตย์ที่อยู่นอกกรอบรัฐธรรมนูญหรือกรอบกติกาประชาธิปไตย? อำนาจที่สำคัญคืออำนาจมวลชนผู้รักประชาธิปไตย คนเสื้อแดงนั้นเอง มันหมายความว่าคนเสื้อแดงต้องเปลี่ยนจากผู้ที่เคยไปลงคะแนนเสียงแล้วกลับบ้าน ไปสู่คนที่เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์ ถ้าจะให้สมบูรณ์มากขึ้น เราต้องทำอะไร?
· ต้องมีการสร้างพรรคเสื้อแดง จากกลุ่มคนเสื้อแดงเอง ซึ่งจะต่างจากพรรคที่นักการเมืองสร้างจากบนลงล่าง เราทุกคนต้องพัฒนาตนเองเป็นนักการเมืองและนักวิชาการของประชาชนผู้รักประชาธิปไตย เราต้องเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกรัฐสภาในทุกเรื่องที่เป็นประโยชน์กับคนจนและพลเมืองธรรมดา เช่นปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และปัญหาการเลือกปฏิบัติหรือการเอารัดเอาเปรียบทั้งหลาย ซึ่งล้วนแต่ผูกพันกับประชาธิปไตย อย่าลืมว่าอำมาตย์ขโมยประชาธิปไตยเพราะเขาเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจ พรรคแดงต้องเรียกร้องให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ครบวงจร ผ่านการเก็บภาษีจากคนรวยและการกระจายรายได้
· พรรคแดงต้องเข้าไปช่วงชิงความคิดในขบวนการสหภาพแรงงาน เพราะขบวนการนี้มีอำนาจพิเศษคืออำนาจต่อรองที่มาจากการนัดหยุดงาน รัฐและอำมาตย์จะได้ผลกระทบถ้ามีการนัดหยุดงาน เราไม่ควรปล่อยให้ พันธมาร ขยายการเมืองในสหภาพแรงงานฝ่ายเดียว
· พรรคแดงต้องเข้าไปจัดตั้งและพยายามให้ความคิดกับนักศึกษา ซึ่งเป็นหนุ่มสาวไฟแรงที่สนใจความคิด และในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอื่นๆ เช่นขบวนการสิทธิสตรี ขบวนการต้านโรงไฟฟ้า ขบวนการสิทธิคนรักเพศเดียวกัน ขบวนการคนพิการ หรือขบวนการคนชนเผ่า หรือชนกลุ่มน้อย อย่าปล่อยให้เอ็นจีโอเหลืองๆ มีอิทธิพลในขบวนการเหล่านี้ฝ่ายเดียว
· เราต้องไม่หลงเชื่อว่าเราจะแทรกเข้าไปในกลุ่มคนชั้นสูงเพื่อเอาเขามาเป็นพวกได้ เพราะผลประโยชน์ของอำมาตย์ตรงข้ามกับผลประโยชน์ประชาชน นั้นคือสาเหตุที่อำมาตย์เกลียดประชาธิปไตย เขาไม่ได้ “หลงผิด” เขาปกป้องผลประโยชน์เขาต่างหาก ดังนั้นต้องเน้นกลุ่มคนที่ไม่ใช่ผู้ใหญ่ รัฐ หรือนายทุนใหญ่ เพื่อให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน และเพื่อบังคับให้มีการลดอิทธิพลของอำมาตย์ในสังคม

หลายคนอาจคิดว่ามันคงเป็นเรื่องใหญ่ ใช่เลย มันเป็นเรื่องใหญ่ แต่ไม่ได้แปลว่าเสื้อแดงในประเทศไทยทำไม่ได้ เพราะเราไม่ด้อยกว่าใครในประเทศอื่น การตั้งพรรคแดง การที่พรรคแดงสร้างหรือนำขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นเรื่องสำคัญ เรารอให้คนอื่นทำแทนไม่ได้ พรรคเพื่อไทยอ่อนแอมาก และไม่ว่าส.ส.บางคนของเพื่อไทยจะดีแค่ไหน เขาจะไม่มีพลังหนุนช่วยเขา ถ้าเราไม่สร้างขบวนการเสื้อแดงให้เข้มแข็งและอิสระ นอกรัฐสภา
อำนาจอำมาตย์ที่เป็นอำนาจนอกกรอบรัฐธรรมนูญ อาศัยสองขาคือ (1) ความรุนแรง/การปราบปราม และ (2) การสร้างภาพความชอบธรรมเพื่อครองใจประชาชน
ส่วนแรกเขาได้เปรียบเรา แต่ถ้าเราผูกมิตรกับทหารระดับล่างที่เป็นลูกหลานประชาชน มันก็จะช่วยลดอำนาจตรงนี้ แต่ส่วนที่อำมาตย์อ่อนแอที่สุดคือในส่วนการสร้างความชอบธรรมเพื่อครองใจประชาชน ดังนั้นภารกิจหลักของเราชาวเสื้อแดงคือการโต้เถียงกับความคิดของอำมาตย์ในทุกเวที เราต้องกล้าเถียงว่าทำไมต้องมีประชาธิปไตยแท้ ทำไมทุกตำแหน่งสาธารณะในสังคมต้องมาจากการเลือกตั้ง ทำไมไม่ควรมี “สูง-ต่ำ” พลเมืองทุกคนต้องเท่าเทียมกัน ทำไมรัฐบาลแย่ในการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ ทำไมต้องมีระบบยุติธรรม ไม่ใช่สองมาตรฐาน ทำไมคนจนเป็นผู้สร้างชาติ ไม่ใช่ภาระหรือผู้ที่ควรถูกขูดรีดเอารัดเอาเปรียบ ฯลฯ เป็นต้น

เราสามารถและจำเป็นที่จะต้องชนะอำนาจอำมาตย์เพื่อสร้างประชาธิปไตยและให้ประชาชนเป็นใหญ่ แต่มันไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดจากแค่การเลือกตั้ง มันเป็นสงครามทางการเมืองที่สำคัญและบังคับให้เราชาวเสื้อแดงแปรตัวเป็นมืออาชีพ

กองกำลังติดอาวุธไม่ใช่คำตอบ

การสร้างกองกำลังติดอาวุธไม่ใช่ทางออกของคนเสื้อแดง
ใจ อึ๊งภากรณ์

แนวทาง “ปฏิวัติ” ที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยแท้ ไม่ใช่การสร้างกองกำลังติดอาวุธ แต่เป็นการเน้นการจัดตั้งมวลชนคนเสื้อแดงซึ่งมีจำนวนเป็นล้านๆ เพื่อการร่วมกันพัฒนาความคิดผ่านกลุ่มศึกษาทางการเมือง ร่วมกันสู้เพื่อทำลายความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้ามผ่านการกระจายข่าวและความเห็น ร่วมกันประท้วงอำมาตย์ตามท้องถนนเมื่อโอกาสเหมาะ ร่วมกันตั้งหน่ออ่อนของรัฐและโครงสร้างบริหารของฝ่ายเราในชุมชน และตั้งองค์กรสงเคราะห์ต่างๆ แข่งกับฝ่ายรัฐอำมาตย์ มันหมายถึงการไม่ร่วมมือกับอำมาตย์ มันหมายถึงการนำทหารชั้นผู้น้อยและตำรวจมาเป็นพวก รวมถึงการเข้าไปในสหภาพแรงงานและกลุ่มนักศึกษาทั่วประเทศ มันหมายความว่าเราต้องการโค่นระบบปัจจุบันแบบถอนรากถอนโคนและนำระบบใหม่มาใช้ มันหมายถึงการฝึกฝนการคัดค้านรถถังของฝ่ายทหาร วิธียึดรถถัง วิธีสร้างทางกั้นทหารตามถนน โดยให้มวลชนออกมาสกัดกั้นพร้อมๆ กับการคุยกับทหารธรรมดา จุดสุดยอดคือ การลุกฮือทั่วประเทศในอนาคต เมื่อเราพร้อม อย่างที่ผมได้เคยอธิบายไปแล้ว

มีเพื่อนคนหนึ่งวาดภาพว่าเราชาวเสื้อแดงล้านๆ คน ต้องเป็นฝูงผึ่งที่รุมต่อยอำมาตย์อย่างไม่หยุดยั้ง เขาใช้ปืนและรถถังกับฝูงผึ่งไม่ได้

ข้อเสียของการสร้างกองกำลังติดอาวุธ อย่างที่เคยทำสมัยพรรคคอมมิวนิสต์มีดังนี้

1. ขบวนการคนเสื้อแดงมีมวลชนหลายล้านคน ซึ่งเป็นประชาชนธรรมดา เป็นลูกจ้าง เป็นนักศึกษา เป็นแม่บ้าน เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย เป็นพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย เป็นเกษตรกร ฯลฯ เรามีความชอบธรรมเพราะเราเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม ขบวนการคนเสื้อแดงมีลักษณะเด่นตรงที่คนตั้งกลุ่มกันเอง นำกันเอง จากรากหญ้า มันคือขบวนการประชาธิปไตยที่แท้จริง ถ้าจัดกองกำลังติดอาวุธเมื่อไร ก็เท่ากับสร้างองค์กรลับของคนถืออาวุธไม่กี่คน (ไม่เกินห้าหมื่นคนอย่างมากที่สุด) เป็นการหันหลังให้มวลชนเป็นล้านๆ เพื่อยกภาระในการ “ปลดแอกเรา” ให้กับคนหยิบมือเดียว มวลชนเสื้อแดงส่วนใหญ่จับอาวุธแบบนั้นไม่ได้ และจะไม่มีบทบาทหรือมีบทบาทรองจนหมดความสำคัญไป
2. การปิดลับแปลว่าไม่สามารถสร้างเวทีสมัชชาเปิดของคนเสื้อแดงเพื่อร่วมกันถกเถียงแนวทางการต่อสู้ แนวทางจะถูกกำหนดโดยแกนนำลับ กลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและไม่ถูกตรวจสอบโดยคนเสื้อแดง เป็นการสั่งจากบนลงล่าง มันเป็นเผด็จการของคนส่วนน้อย เผด็จการของคนส่วนน้อยสร้างประชาธิปไตยแท้ไม่ได้
3. บทเรียนจากประเทศจีนคือ เมื่อกองทัพพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มล้อมเมืองต่างๆ จะไม่มีการปลุกระดมให้พลเมืองลุกขึ้นยึดเมือง แต่จะมีการสั่งให้ทุกคนสงบเงียบอยู่กับที่และรอฟังคำสั่งจากกองทัพแดง นั้นเป็นแนวที่ตรงข้ามกับการปฏิวัติโดยมวลชนจำนวนมาก ที่เคยมีในรัสเซีย 1917, อิหร่าน 1979, โปแลนด์ 1980 และในเวเนสเวลาปัจจุบัน การปฏิวัติโดยมวลชนย่อมก่อให้เกิด “สภาคนงาน” และ “สภาชุมชน” ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการนำของประชาชนเอง แต่วิธีที่เน้นกองกำลังติดอาวุธเป็นวิธีทหารที่ไม่มีประชาธิปไตย หรือที่แค่ “เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมบ้าง” แต่พลังและความสร้างสรรค์ไม่ได้มาจากรากหญ้าเอง สภาดังกล่าวที่ผมพูดถึงเกิดขึ้นใน รัสเซีย อิหร่าน โปแลนด์ และเวนเนสเวลา และยังมีกรณี ชิลี 1973 อาเจนทีน่า ตอนประสบวิกฤตเศรษฐกิจ และในโบลิเวียอีกด้วย
4. คนที่เสนอการตั้งกองกำลังติดอาวุธอาจจริงใจ แต่บ่อยครั้งเป็นการพูดเอามันเพื่อดูกล้าหาญเด็ดขาด ในที่สุดมันเบี่ยงเบนประเด็นจากภาระอันยิ่งใหญ่ในการจัดตั้งมวลชนทางการเมือง เพื่อปฏิวัติมวลชน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและจะต้องใช้เวลา
5. กองกำลังติดอาวุธของฝ่ายเรา ไม่มีวันปะทะกับกองกำลังของอำมาตย์อย่างตรงไปตรงมาได้ เขามีอาวุธครบมือที่เหนือกว่าเราเสมอ อันนี้เป็นบทเรียนจาก ไทย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ในกรณีเนปาล สิ่งที่ชี้ขาดในที่สุดคือการลุกฮือในเมือง และพรรคคอมมิวนิสต์เนปาลไม่ต้องการเปลี่ยนสังคมอย่างถอนรากถอนโคนอีกด้วย เพราะต้องการเอาใจนายทุนใหญ่ ส่วนแนวทางปฏิวัติมวลชนต้องอาศัยพลังและจำนวนของมวลชนเพื่อให้ทหารชั้นผู้น้อยเปลี่ยนข้าง
6. ถ้าใช้กองกำลังติดอาวุธ เราขยายความคิดทางการเมืองยากขึ้น เพราะเราต้องปิดลับ และที่สำคัญเมื่อเราเดินเข้าไปในชุมชนต่างๆ ชาวบ้านชาวเมืองจะกลัวเราพอๆ กับฝ่ายทหารอำมาตย์ เพราะทั้งสองฝ่ายถือปืน นี่คือบทเรียนจากพรรคคอมมิวนิสต์ไทย และการต่อสู้กับรัฐไทยในสามจังหวัดภาคใต้
7. ถ้าคนที่เสนอแนวทางติดอาวุธ ไม่อธิบายว่าเป้าหมายคืออะไรอย่างชัดเจน ไม่อธิบายว่าประชาธิปไตยแท้คืออะไร ถ้าเขาชนะ อาจเป็นแค่เปลี่ยนหัวชนชั้นปกครองโดยไม่มีการปฏิวัติก็ได้
8. ในประเทศที่เน้นการสร้างกองกำลังปลดแอก และกองกำลังนั้นชนะ เช่นจีน เวียดนาม ลาว เขมร ซิมบาบวี คิวบา ผลคือเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ประชาธิปไตยแท้

ขอยืนยันว่าเราต้องเดินแนว “ปฏิวัติมวลชน โค่นอำมาตย์อย่างถอนรากถอนโคน”

ปัญหาของสันติวิธี

ปัญหาของแนวทางสันติวิธี
ใจ อึ๊งภากรณ์
เวลาเราพิจารณาแนวทางการต่อสู้แบบสันติวิธีเราจะต้องคำนึงถึงประเด็นปัญหา 3 อย่างคือ
1. แนวทางสันติวิธีมีประสิทธิภาพในการสร้างประชาธิปไตยและเสรีภาพแค่ไหน? และหลีกเลี่ยงเหตุการนองเลือดได้จริงหรือ?
2. คนในสังคม นักวิชาการ สื่อกระแสหลัก และคนทั่วไป นิยามสันติวิธีอย่างไรบ้าง?
3. คนกลุ่มไหนในสังคมเป็นผู้ที่ใช้ความรุนแรงมาตลอดและอย่างเป็นระบบ?
ประสิทธิภาพของสันติวิธี
มหาตมะ คานธี ขึ้นชื่อว่าเป็นศาสดาแห่งสันติวิธี เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาจริงใจที่จะใช้แนวทางนี้และเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเขามีบทบาทในการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียจากอังกฤษ อย่างไรก็ตามแนวทางของ มหาตมะ คานธี ไม่ได้หลีกเลี่ยงเหตุการนองเลือดแต่อย่างใดทั้งสิ้น เพราะในการก่อตั้งประเทศอินเดียและปากีสถานเป็นประเทศอิสระจากอังกฤษ มีการฆ่าฟันกันทั่วทวีประหว่างคนมุสลิมและคนฮินดู มีคนล้มตายหลายหลายแสน และมีคนที่ต้องอพยพหนีความรุนแรงเป็นล้านๆ ปัญหาสำคัญของแนวทาง มหาตมะ คานธี คือเขามักจะคัดค้านการต่อสู้ของมวลชน การนัดหยุดงาน และการกบฏของทหารต่ออังกฤษ ดังนั้นเวลามีการต่อสู้ของมวลชน คานธี จะเรียกร้องให้มวลชนสงบนิ่งกลับบ้านเพื่อให้ตัวเขาเองเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ต่อไปด้วยการอดอาหาร การต่อสู้ของมวลชนในอินเดียก่อนที่จะได้รับเอกราชจากอังกฤษมักจะเป็นการต่อสู้ของคนชั้นล่างที่เรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมพร้อมๆ กับเสรีภาพ และที่สำคัญที่สุดมันเป็นการต่อสู้ที่จำเป็นต้องสามัคคีคนยากคนจนจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือฮินดูหรือศาสนาอื่น แต่เมื่อมวลชนถูกสลายนิ่งเฉยอยู่บ้านฝ่ายนักการเมืองที่อยากจะปลุกระดมความเกลียดชังทางศาสนา ก็จะมีช่องทางเพื่อไปขยายความคิดที่นำไปสู่ความแตกแยกได้ เพราะคนที่นั่งเฉยอยู่บ้านอาจจะยอมเชื่อว่าความเลวร้ายต่างๆในชีวิตเขามาจากการกระทำของคนที่มีความเชื่อทางศาสนาต่างจากตัวเอง แต่คนที่ร่วมสู้กับเพื่อนหลากหลายศาสนาจะไม่มีวันเชื่อการเป่าหูแบบนี้
ความแตกแยกระหว่างคนฮินดูกับคนมุสลิม และการฆ่าฟันกัน เกิดขึ้นเป็นระยะๆจนถึงทุกวันนี้แต่มันไม่ใช่เรื่องธรรมชาติที่คนมุสลิมและคนฮินดูจะเกลียดชังกัน ในประวัติศาสตร์มีช่วงที่อยู่ด้วยกันอย่างสันติมานาน ความแตกแยกที่เกิดขึ้นมาจากการปลุกระดมของนักการเมืองแนวศาสนาเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง สิ่งที่ค้านแนวความคิดนี้ได้เป็นแนวคิดที่สามัคคีคนจนเพื่อต่อสู้กับคนชั้นบนที่กดขี่ขูดรีดคนจนเสมอ แต่ มหาตมะ คานธี มีความใกล้ชิดกับนายทุนใหญ่และชนชั้นสูงในอินเดียเขาไม่อยากให้มีการต่อสู้ในเชิงชนชั้น
มหาตมะ คานธี ไม่ได้ปลดแอกอินเดียคนเดียว การปลดแอกอินเดียมาจากการต่อสู้ของคนจำนวนมากทั้งในและนอกพรรคคองเกรส การอ้างว่า มหาตมะ คานธี สามารถปลดแอกอินเดียได้คนเดียวเป็นการพูดเกินเหตุและไม่ได้เป็นการพิจารณาบริบทการเมืองระหว่างประเทศในยุคนั้นอีกด้วย

ประเทศปากีสถานเป็นประเทศที่ก่อตั้งในยุคเดียวกับที่อินเดียได้รับเอกราชคือในปี 1947 ประเทศนี้เป็นผลจากการปลุกระดมของนักการเมืองแนวศาสนา ปากีสถาน จึงประกาศตัวว่าเป็น “ประเทศมุสลิมบริสุทธิ์” ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามหาศาลกับครอบครัวชาวฮินดูจำนวนมากที่อาศัยในพื้นที่ประเทศใหม่นี้ ปากีสถานเองเป็นประเทศที่ตกอยู่ภายใต้เผด็จการทหารมาอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันอยู่ภายใต้อำนาจจักรวรรดินิยมอเมริกา ประชาชนปากีสถานอาจจะได้รับเอกราชจากอังกฤษแต่ไม่เคยได้รับสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย
อีกคนหนึ่งที่ขึ้นชื่อว่าต่อสู้แบบสันติวิธีคือ นางอองซาน ซูจี และเขาได้ใช้วิธีคล้ายๆ มหาตมะ คานธี คือ เมื่อมวลชนออกมาสู้เป็นจำนวนมาก เช่นในเหตุการณ์ 8-8-88 อองซาน ซูจี จะชักชวนให้ประชาชนกลับบ้านอย่างสงบเพื่อให้ตัวเขาคนเดียวเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า และเพื่อให้ประชาชนตั้งความหวังกับการเลือกตั้งและไว้ใจนายพลที่ปกครองประเทศอยู่ ทั้งๆที่นางอองซาน ซูจี เป็นคนที่กล้าหาญและจริงใจ แต่การต่อสู้ของเขายังไม่ประสบผลสำเร็จและยังไม่สามารถทำให้มีการหลีกเลี่ยงเหตุการณ์นองเลือดที่เกิดขึ้นเป็นประจำได้
เราจะเห็นได้ว่าแนวทางสันติวิธีไม่สามารถหลีกเลี่ยงเหตุการณ์นองเลือดได้ ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเป็นการต่อสู้ในรูปแบบที่เชิดชูสัญลักษณ์ของบุคคลคนหนึ่งโดยหันหลังกับบทบาทมวลชนจำนวนมาก ซึ่งไม่แตกต่างจากการหันหลังให้กับบทบาทมวลชน โดยพวกที่เน้นการสร้างกองกำลังติดอาวุธ
นิยามของสันติวิธี
การนิยามว่าอะไรเป็นการต่อสู้แบบ “สันติ” และการต่อสู้แบบ “รุนแรง” มีการนิยามที่แตกต่างออกไปขึ้นอยู่กับอคติและจุดยืน ตัวอย่างที่ดีคือ อ.ชัยวัฒน์ สถานอนันต์ ที่ขึ้นชื่อว่าศึกษาและเลื่อมใสในแนวทางสันติวิธี หลังการทำรัฐประหาร 19 กันยา นักวิชาการคนนี้ได้ประกาศว่ารัฐประหารดังกล่าวอาจจะเรียกได้ว่า “เป็นสันติวิธี” !! เหมือนกับว่าการนำรถถังและทหารติดปืนออกมาบนท้องถนนไม่ได้เป็นการข่มขู่ที่จะใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด คำพูดของ ชัยวัฒน์ ในกรณีนี้แสดงให้เห็นว่าบ่อยครั้งนักสันติวิธีใช้สองมาตรฐาน และแม้แต่นักสันติวิธีที่ซื่อสัตย์และจริงใจก็มักจะมีเส้นแบ่งว่าจะใช้สันติวิธีในกรณีใดและพร้อมจะใช้ความรุนแรงเมื่อไหร่ คนที่นับถือพุทธอาจไม่อยากฆ่าคน แต่อาจเห็นด้วยกับโทษประหาร เป็นต้น
ถ้าเราพิจารณาสื่อกระแสหลัก เราจะเห็นว่าพวกนี้มักจะนิยมว่าคนที่เคลื่อนไหวต่อสู้หรือแค่พูดในแนวที่ตรงข้ามกับชนชั้นปกครอง จะถูกนิยามว่าเป็นพวก “หัวรุนแรง” ทั้งๆที่เขาไม่ได้จับอาวุธหรือก่อให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงแต่อย่างใด ในกรณี 3 จังหวัดภาคใต้ ที่มีการปะทะกันระหว่างฝ่ายที่กบฏต่อรัฐไทยกับทหาร สื่อกระแสหลักมักจะมองว่าผู้ใช้ความรุนแรงมีฝ่ายเดียวคือฝ่ายกบฏ ดังนั้น เราจึงต้องพิจารณาการนิยมสันติวิธีอย่างละเอียด
เราทราบดีว่าพวกเสื้อเหลืองพันธมารฯ ก็มีการโกหกอ้างตัวว่าใช้วิธีแบบสันติ ทั้งๆที่มีกองกำลัง มีการใช้ระเบิดและมีการทำร้ายร่างกายของฝ่ายตรงข้าม จำลอง ศรีเมือง ผู้นำคนหนึ่งของพันธมารฯ ที่ประกาศตัวว่าใช้แนวสันติวิธีในการต่อสู้กับเผด็จการทหารในเหตุการพฤษภาคม 2535 อาจจะใช้แนวทางสันติในกรณีปี 2535 แต่ในช่วงที่เข้าร่วมกับพันธมารฯ หลายคนคาดว่ามีส่วนในการฝึกกองกำลังของอันธพาลพวกนี้ นอกจากนี้ จำลอง ศรีเมือง เป็นคนที่ก่อความรุนแรงต่อสตรีไทยในทางอ้อม เพราะคัดค้านสิทธิที่จะเลือกทำแท้งของผู้หญิงไทย ซึ่งบังคับให้สตรีจำนวนมากต้องไปเสี่ยงทำแท้งในสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย นี่คืออีกตัวอย่างของสองมาตรฐาน
ใครใช้ความรุนแรงในสังคมอย่างเป็นระบบ?
คำตอบสั้นๆคือ “ทหาร” ทหารไม่ได้มีไว้เพื่อไถนา เพื่อเป็นนักสังคมสงเคราะห์ หรือเพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์งดงามในบ้านเมืองของเรา ทหารมีไว้เพื่อฆ่าคนและการฆ่าคนหรือการขู่ว่าจะฆ่าคนเป็นความรุนแรง หลายคนในสังคมต่างๆ อาจจะมองว่าการฆ่าคนต่างชาติในสงครามเป็นความรุนแรงที่ยอมรับได้ แต่ทหารไทยมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการฆ่าประชาชนคนไทยเพื่อที่จะปกครองประเทศด้วยระบบเผด็จการ ใน 3 จังหวัดภาคใต้ทหารเป็นผู้ที่ใช้ความรุนแรงมาตั้งแต่การยึดพื้นที่ของอาณาจักรปัตตานีมาเป็นของกรุงเทพ ดังนั้นถ้าเราจะคัดค้านการใช้ความรุนแรงในสังคมอย่างจริงจังและปราศจากสองมาตรฐานเราจำเป็นต้องเริ่มด้วยการเรียกร้องให้ยกเลิกกองทัพ ซึ่งคงจะมีประโยชน์ในเรื่องประชาธิปไตยอีกด้วย
การใช้ความรุนแรงของทหารและอำมาตย์เป็นการใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้องผลประโยชน์อันไม่ชอบธรรมของคนกลุ่มน้อย มันเป็นการปกป้องระบบเผด็จการเพื่อไม่ให้เกิดประชาธิปไตย ดังนั้นความรุนแรงของทหารมีเป้าหมายอันไม่ชอบธรรมที่ขัดกับประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ
ในกรณีที่มีคนจับอาวุธสู้กับเผด็จการไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพ ใน 3 จังหวัดภาคใต้ หรือในประเทศต่างๆ ของตะวันออกกลางความรุนแรงดังกล่าวเป็นไปเพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย เป้าหมายจึงมีความชอบธรรม แต่มันก็ยังเป็นความรุนแรงอยู่ดี ใครที่ชอบวิจารณ์ “ความรุนแรง” ควรจะวิจารณ์ความรุนแรงของทหารและอำมาตย์เป็นหลัก ถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็ถือว่าใช้สองมาตรฐาน และนอกจากนี้ควรจะตั้งคำถามและตอบคำถามว่าเมื่อคนที่ถูกกดขี่ลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธ เขามีทางเลือกอื่นหรือไม่? และเรามีส่วนในการช่วยให้เขามีทางเลือกอื่นหรือไม่?
คนที่ถูกกดขี่ขูดรีดด้วยกำลังทหารที่ใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบ ย่อมมี “สิทธิ์” ที่จะจับอาวุธลุกขึ้นสู้และกบฏ แต่แนวทางนั้นจะเป็นแนวทางที่ฉลาดและนำไปสู่ประชาธิปไตยแท้จริงหรือไม่นั่นคือประเด็นใหญ่ ในความเห็นผมแนวทางจับอาวุธสู้กับอำมาตย์ไม่ใช่แนวทางที่ฉลาดของเสื้อแดง อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ในบทความอื่น
แนวทางปฏิวัติสังคมโดยมวลชน เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการจับอาวุธ หรือการอ้างแบบลอยๆถึงแนวสันติวิธี

ความอับจนของเศรษฐกิจพอเพียง

ความอับจนของ “ลัทธิเศรษฐกิจพอเพียง”
ใจ อึ๊งภากรณ์

ทุกวันนี้คนไทยถูกเป่าหูด้วยเศรษฐกิจพอเพียงทุกวัน เหมือนกับว่าเป็นทางออกสำหรับประเทศไทย มันคืออะไร? นำมาใช้อย่างไร? ต่างจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณอย่างไร? ทำไมทหารเผด็จการ คมช. นำมาบรรจุในรัฐธรรมนูญปี ๕๐? ทำไมรัฐบาลไทยอ้างว่าเป็นแนวคิดใหม่ที่จะนำไปสอนชาวโลกได้??? แล้วทำไมมีคนโจมตีแนวคิดนี้อย่างรุนแรงในวารสารเศรษฐศาสตร์ต่างประเทศ?
ผมขออ้างอิงคำพูดของคนขับรถแทคซี่คนหนึ่งในกรุงเทพฯ เพราะคนขับคนนี้สะท้อนความคิดของคนส่วนใหญ่ เขาบอกผมว่า "สำหรับคนข้างบนเขาพูดง่าย เรื่องพอเพียง ไปไหนก็มีคนโยนเงินให้เป็นกระสอบ แต่พวกเราต้องเลี้ยงครอบครัว จ่ายค่าเทอม เราไม่เคยพอ” ในแง่นี้จะเห็นว่าคนจนไม่น้อยมองว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นคำพูดของคนชั้นบน เพื่อให้เรารู้จัก “พอ” (ไม่ขอเพิ่ม) ท่ามกลางความยากจน และเป็นคำพูดของคนที่ไม่เคยพอเพียงแบบคนจนเลยอีกด้วย ... บทความของอาจารย์ พอพันธ์ อุยยานนท์ (๒๕๔๙ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบทบาทการลงทุนทางธุรกิจ ใน ผาสุก พงษ์ไพจิตร (บรรณาธิการ) “การต่อสู้ของทุนไทย” สำนักพิมพ์มติชน) แสดงให้เห็นว่าธุรกิจสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีการลงทุนกว่า 45 พันล้านบาท ไม่น่าจะเรียบง่ายอะไร ...แล้วพอเรามาดูค่าใช้จ่ายของวังต่างๆ ยิ่งเห็นชัด
ดังนั้น เศรษฐกิจพอเพียง เป็นลัทธิล้าหลังของคนชั้นสูงเพื่อสกัดกั้นการกระจายรายได้และสกัดกั้นการสร้างความเป็นธรรมในสังคม เป็นลัทธิเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนที่รวยที่สุด และที่น่าปลื้มคือคนจนทั่วประเทศเข้าใจประเด็นนี้ ในขณะที่นักวิชาการและคนชั้นกลางยังหลงใหลกับลัทธิพอเพียงอยู่
สำหรับพระราชวัง ความพอเพียงหมายถึงการมีหลายๆ วัง และบริษัททุนนิยมขนาดใหญ่เช่นธนาคารไทยพาณิชย์ สำหรับทหารเผด็จการความพอเพียงหมายถึงเงินเดือนสูงจากหลายแหล่ง และสำหรับเกษตรกรยากจนหมายถึงการเลี้ยงชีพด้วยความยากลำบากโดยไม่มีการลงทุนในระบบเกษตรสมัยใหม่
ขบวนการเอ็นจีโอ โดยเฉพาะสาย “ชุมชน” (ดูงาน อ.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา) จะคิดกันว่าแนว “พอเพียง” สอดคล้องกับสิ่งที่เขาเสนอมานานเรื่องการปกป้องรักษาชุมชนให้อยู่รอดได้ท่ามกลางพายุของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ แนวคิดชุมชนแบบนี้มองว่าเราควรหันหลังให้รัฐ ไม่สนใจตลาดทุนนิยมมากเกินไป พยายามสร้างความมั่นคงของชุมชนผ่านการพึ่งตนเอง ผ่านการแลกเปลี่ยนแบบมีน้ำใจและความเป็นธรรม หรือปฏิเสธบริโภคนิยม มันเพ้อฝัน หมดยุค(ถ้าเคยมียุค) แต่เขาหวังดี ไม่เหมือนพวกที่เสนอลัทธิพอเพียง
หลังรัฐประหาร 19 กันยา มีการนำ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระราชวัง มาเป็นนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล มรว. ปรีดิยาธร เทวกุล รัฐมนตรีคลังคนแรกของ คมช. ในวันที่ 2 พ.ย. 49 อธิบายว่า... “เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงอย่าขยายเกินกำลังทุนที่มี.... ให้พอดี... ไม่เกินตัว... เป็นแนวเศรษฐศาสตร์พุทธ.... ต้องมีการออม... การลดหนี้ครอบครัว..เป็นแนวสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน” แต่พอเราอ่านรายละเอียดแล้วพยายามสรุป มันมีสาระเพียงว่า “อย่าทำให้พัง ล้มละลาย” แค่นั้น หรือ “ใครรวยจ่ายมากได้ ใครจนต้องจ่ายน้อย” เด็กอายุ4 ขวบคงคิดแบบนี้ได้ ไม่ต้องมีสมองใหญ่โต
ปรีดิยาธร เทวกุล เสนออีกว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญแก่เป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพ.....การรักษาวินัยการเงินการคลังของภาครัฐ” “การใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีทำได้” และเราก็เห็นว่ารัฐบาล คมช. ผลักดันนโยบายเสรีนิยมสุดขั้วของกลุ่มทุนมากกว่าไทยรักไทยเสียอีก เช่นการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ การตัดงบประมาณสาธารณสุข การเพิ่มงบประมาณทหาร การผลักดัน FTA (สัญญาค้าเสรี) กับญี่ปุ่น หรือการเดินหน้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจรถไฟและไฟฟ้าเป็นต้น ในกรณีไทยรักไทย เขาทำนโยบายเสรีนิยมทั้งหมดดังกล่าวด้วย แต่คานมันโดยใช้นโยบายการเพิ่มค่าใช้จ่ายรัฐ (แบบเคนส์) ในเรื่องกองทุนหมู่บ้าน หรือสาธารณูปโภค หรือ30บาทรักษาทุกโรค พูดง่ายๆ ไทยรักไทย ใช้นโยบายเศรษฐกิจคู่ขนาน ทั้งตลาดเสรีและรัฐนิยมพร้อมกัน
เราต้องฟันธงว่าลัทธิเศรษฐกิจพอเพียงไม่มีเจตนาที่จะลดอำนาจกลุ่มทุนและอิทธิพลคนรวยแต่อย่างใด ตรงกันข้ามมันเป็นคำพูดที่พยายามหล่อลื้นการหันไปสนับสนุนตลาดเสรีของนายทุนใหญ่อย่างสุดขั้ว และรัฐธรรมนูญ คมช. ปี ๕๐ ก็ยืนยันสิ่งนี้
แล้วสาระของเศรษฐกิจพอเพียงมีมากกว่านี้ไหม? เราถือว่าเป็นทฤษฏีเศรษฐกิจได้ไหม? วารสาร The Economist เขียนไว้ว่ามันเป็นความคิดเศรษฐศาสตร์ที่เหลวไหลเพ้อฝัน เพียงแต่ “ประทับตราราชวัง” เท่านั้น
เศรษฐกิจพอเพียงไม่เอ่ยอะไรที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับเรื่องสำคัญๆ เช่นการใช้รัฐหรือการเน้นตลาดในการบริหารเศรษฐกิจ หรือวิธีกระจายรายได้ของประเทศ และไม่พูดถึงสวัสดิการหรือรัฐสวัสดิการเลย ในเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจมีแต่จะเสนอให้คนจนไป “ยากจนแต่ยิ้ม” กับญาติในชนบท

ในที่สุดสิ่งที่จะสร้างความยั่งยืนและความพอเพียงแท้กับคนส่วนใหญ่คือการสร้างระบบรัฐสวัสดิการ และต่อจากนั้นต้องเดินหน้าสู่ “สังคมนิยม” ที่ยกเลิกการใช้กลไกตลาดในการแจกจ่ายผลผลิต หันมาใช้การวางแผนโดยชุมชนและประชาชนในลักษณะประชาธิปไตย และนำระบบการผลิตมาเป็นของกลาง บริหารโดยประชาชนเอง ซึ่งหมายความว่าต้องยกเลิกระบบชนชั้นที่บางคนรวยและควบคุมทุกอย่าง ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยากจนและเป็นเพียงลูกจ้างหรือเกษตรกรยากจน


สรุปแล้วเศรษฐกิจพอเพียง เป็นลัทธิของคนชั้นบนที่รวยที่สุดในสังคม เพื่อกล่อมเกลาให้คนส่วนใหญ่ก้มหัวยอมรับสภาพความยากจน มันเป็นลัทธิของพวกที่ยังเชื่อว่าไทยเป็นทาส ไทยเป็นไพร่ และที่สำคัญ พวกนี้พยายามใช้กฎหมายหมิ่นฯและการปกปิดเสรีภาพ เพื่อไม่ให้เราวิจารณ์ลัทธิที่อับจนอันนี้

แต่ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่โง่ หูตาสว่างแล้ว เข้าใจเรื่องนี้ได้ดี... และนั้นคือสิ่งที่พวกข้างบนกลัวที่สุด!

ตากใบคืออาชญากรรมของรัฐ

ตากใบคืออาชญากรรมของรัฐ
ใจ อึ๊งภากรณ์

การสลายการชุมนุมของประชาชนผู้ไร้อาวุธที่ตากใบในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 โดยการขนประชาชนขึ้นรถทหารในลักษณะเลวร้ายยิ่งกว่าหมูหมา คือผูกมือไว้ข้างหลังแล้วให้นอนทับกันหกถึงเจ็ดชั้น ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานาน ซึ่งมีผลทำให้คนตาย 78 คน (ไม่นับผู้ที่ถูกยิงตาย) ต้องถือว่าเป็นอาชญากรรมของรัฐไทย เทียบเท่าการฆ่าประชาชนในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม, ๖ ตุลาคม, พฤษภาคม ๓๕, และเมษายน๒๕๕๒ ดังนั้นการที่ศาลสงขลาตัดสินว่าเจ้าหน้าที่รัฐ “ไม่ได้ทำความผิด” เป็นตัวอย่างของการที่ระบบศาลไทยไร้ความยุติธรรมโดยสิ้นเชิง ศาลไทยเลือกที่จะปกป้องทหาร ตำรวจ และอำมาตย์มาตลอด แทนที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพและชีวิตของประชาชน มันเป็นอีกตัวอย่างของสองมาตรฐานและการที่ไทยไม่ใช่นิติรัฐ

“ในไทย... ฆ่าคนไม่ผิดถ้าเป็นฝ่ายรัฐ แต่ประชาชนที่วิจารณ์ความผิดต้องติดคุก”

นี่คือสภาพเลวร้ายของสังคม มันพิสูจน์ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่มีความตั้งใจที่จะสร้างความยุติธรรมแต่อย่างใด และมันพิสูจน์ว่าเราต้องปฏิรูประบบศาลแบบถอนรากถอนโคน ต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นศาลและกฎหมายหมิ่นเดชานุภาพ

สำหรับคนเสื้อแดง กรณีตากใบ กรือแซะ และกรณีสงครามยาเสพติด ที่มีคนบริสุทธิ์ ที่ยังไม่นำมาขึ้นศาล ถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก เป็นสิ่งที่ท้าทายความคิด เพราะอาชญากรรมเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลไทยรักไทยของนายกทักษิณ ถ้าเราชาวเสื้อแดงรักประชาธิปไตยจริง เราไม่สามารถแก้ตัวแทนรัฐบาลทักษิณได้ในจุดนี้ และเราไม่ควรมองข้ามไม่พูดถึง เพราะ “ผิด” ก็ “ผิด” ไม่ว่าใครจะทำ เราไม่อยากสร้างสองมาตรฐานเหมือนคนเสื้อเหลือง และที่สำคัญเราต้องโตและพัฒนาพอที่จะยอมรับข้อผิดพลาดในอดีตของรัฐบาลไทยรักไทยได้ เราต้องฟันธงไปว่าถ้าในอนาคตมีรัฐบาลเสื้อแดง รัฐบาลนี้จะไม่ก่ออาชญากรรมอีก จะปกป้องสิทธิเสรีภาพ และจะนำผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ มาลงโทษ เราต้องเสนอต่อไปให้นักการเมืองไทยรักไทยทบทวนความคิด และต้องเสนอว่าสงครามกลางเมืองในภาคใต้ และปัญหายาเสพติด ต้องแก้ไขด้วยนโยบายการเมืองและนโยบายสังคม ไม่ใช่การทหาร การปราบปราม หรือการใช้ความรุนแรง ผมเชื่อมั่นว่าคนเสื้อแดงจะเข้าใจประเด็นนี้ เพราะเราคือผู้ใช้เหตุผล เราไม่ได้บ้าคลั่งเหมือนคนเสื้อเหลือง
การที่คนในภาคใต้จับอาวุธสู้กับรัฐบาลไทยมีเหตุผล มันมาจากการที่เขาไม่เคยได้รับความเคารพในฐานะที่เป็นคนมาเลย์มุสลิม รัฐไทยทำให้เขาเป็นพลเมืองชั้นสอง การที่คนใช้ยาเสพติดก็มีเหตุผล อาจมีปัญหาทางจิตใจ อาจเศร้า อยู่ในสภาวะแปลกแยกจากสังคม หรืออาจเป็นความจำเป็นในการทำงานหลายชั่วโมงต่อวัน หรือแค่เสพเพื่อความสุข ดังนั้นปัญหาแบบนี้ต้องล้วนแต่แก้ที่ต้นเหตุ ด้วยความใจกว้าง ด้วยความเมตตา และด้วยหลักสิทธิมนุษยชน

ทั้งหมดที่ผมเขียนมานี้ ไม่สามารถเป็นข้ออ้างในการให้ความชอบธรรมกับทหาร คมช. พันธมิตรฯ เนวิน หรือประชาธิปัตย์ ในการใช้อำนาจเผด็จการเพื่อล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแต่อย่างใด เพราะทหารมีส่วนสำคัญในการก่ออาชญากรรมที่กรือแซะและตากใบ และในเหตุการณ์อาชญากรรมอื่นๆ ที่ผมกล่าวถึงไปแล้ว ส่วนพวกเสื้อเหลืองพันธมาร เนวิน หรือพรรค “อำมาติปัตย์” ของอภิสิทธิ์ ก็มือเปื้อนเลือดเช่นกัน เราต้องเอามันออกให้หมด

ทำไมต้องจงรักภัคดีกับประชาชนแทนกษัตริย์

ทำไมต้องจงรักภัคดี?
ใจ อึ๊งภากรณ์
ในระบบประชาธิปไตยการมีประมุขไม่ว่าจะเป็นกษัตรย์หรือประธานาธิบดี ไม่ได้แปลว่าพลเมืองจะต้องจงรักภัคดีต่อประมุขแต่อย่างใด ตรงกันข้ามประมุขจะต้องจงรักภัคดีต่อประชาชนผู้เป็นพลเมือง เพราะในระบบประชาธิปไตยประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดินและมีอำนาจอธิปไตยสูงสุด ในกรณีที่ประเทศมีระบบประธานาธิบดีประมุขจะต้องได้รับการเลือกมาจากประชาชน ประชาชนจึงเป็นเจ้านายแท้ของประธานาธิบดี ในกรณีที่คนส่วนใหญ่อยากมีประมุขเป็นกษัตรย์ กษัตริย์จะต้องเข้าใจว่าเขาต้องรับใช้ประชาชนและเขาจะต้องสะท้อนความคิดของประชาชนส่วนใหญ่และของประชาชนที่เป็นส่วนน้อยอีกด้วย จึงจะเป็น “จุดรวมศูนย์ของชาติ” ได้ ในกรณีกษัตริย์ยุโรป ถ้าประชาชนเลือกพรรคสังคมนิยมมาเป็นรัฐบาล กษัตริย์จะต้องสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลนั้น

ถ้ากษัตริย์ผู้เป็นประมุขเพียงแต่เข้าข้างคนส่วนน้อยที่มีอำนาจนอกกรอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ต้องถือว่ากษัตริย์ละเมิดอธิปไตยแท้ของพลเมือง และไม่เคารพประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญต่างๆของประเทศไทยหลัง 2475 กำหนดไว้ว่ากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังนั้นกษัตริย์ต้องถือว่าเป็นผู้รับใช้ประชาชน ถ้าไม่เช่นนั้นก็ต้องถือว่าเรามีระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ทำไมเล่า...ชนชั้นปกครองไทยถึงชอบสร้างภาพว่ากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดและบังคับให้เราต้องจงรักภัคดีต่อเขา?

การสร้างภาพว่าเราต้องจงรักภัคดีต่อกษัตริย์ โดยไม่มีการอธิบายเหตุผลว่าทำไมในระบบประชาธิปไตยที่ถือว่าพลเมืองมีอำนาจสูงสุด เราจะต้องไปจงรักภัคดีต่อคนๆหนึ่งที่บังเอิญเกิดมาในตระกูลหนึ่ง เป็นการพยายามล้างสมองประชาชนอย่างไร้ปัญญา และด้วยเหตุที่มีการสร้างกระแสความเกรงกลัว คนไทยจำนวนมากจึงไม่กล้าตั้งคำถามอย่างเปิดเผยกับข้อเสนอว่า”เราต้องจงรักภัคดี” ไม่กล้าตั้งคำถามกับข้อเสนอว่าสถาบันกษัตริย์มี “ความศักดิ์สิทธิ์” และไม่กล้าตั้งคำถามกับการยัดเยียดความคิดว่าสถาบันกษัตริย์อยู่เคียงข้างสังคมไทยมาตั้งแต่โลกเกิดและได้ทำให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข

ทั้งวิภาษวิธีมาร์คซิสต์และศาสนาพุทธ เสนอว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นเวลาชนชั้นปกครองพูดว่าสถาบันกษัตริย์อยู่เคียงข้างสังคมไทยมาอย่างยาวนาน มันเป็นคำพูดที่ไร้วิทยาศาสตร์ เป็นคำพูดเท็จเพื่อให้พลเมืองเป็นไพร่...แต่เป็นไพร่ของใคร? คำตอบคือเป็นไพร่ของทหาร อภิสิทธิชน ประชาธิปัตย์และคนอื่นที่เกาะกินรวบอำนาจและขูดรีดประชาชน ในเครือข่าย “คนรักเจ้า”

ข้อเสนอว่าสถาบันกษัตริย์ไทยทำให้เราอยู่เย็นเป็นสุข เป็นข้อเสนอที่เหลวไหลเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่นำไปสู่การปฏิวัติ 2475 ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทหารที่ครองเมืองมานานพร้อมกับการโกงกินมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 หรือวิกฤติการเมืองปัจจุบัน และไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนคนรวยที่เห็นได้ชัดในสังคมไทย สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ชี้ให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์ไม่มีประสิทธิภาพในการสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขกับพลเมืองแต่อย่างใด คือเป็นอุปสรรคและกาฝากสังคมด้วย เพราะกษัตริย์ไม่ยอมปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ยอมห้ามคนที่เอาเปรียบประชาชน และเครือข่ายพระราชวังใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อประโยชน์ส่วนตน ทั้งๆที่งบประมาณส่วนนี้ควรจะนำมาสร้างรัฐสวัสดิการ

เครือข่ายเจ้าพร้อมที่จะให้ประชาชนหมอบคลานกราบตีน และใช้ราชาศัพย์พิเศษอันแสดงความเป็นเทวดาเหนือคนอื่น นี่คือพฤติกรรมของผู้ที่ไม่รู้จักบุญคุณของประชาชนและไม่รู้จักการเคารพพลเมืองทั้งปวงในรูปแบบประชาธิปไตย

ดังนั้นผมขอฟันธงว่า ในระบบประชาธิปไตยแท้ พลเมืองจะต้องจงรักภัคดีและเคารพศักดิ์ศรีของเพื่อนพลเมืองด้วยกัน เราจะต้องไม่จงรักภัคดีต่อคนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ นายพล นายกรัฐมนตรี หรือ ประธานาธิบดี และไม่มีอะไรศักดิ์สิทธิ์นอกจาก “สิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเสมอภาค” นักการเมืองหรือนักวิชาการคนไหนที่พูดว่าเราต้องจงรักภัคดีต่อกษัตริย์ในยุคนี้ต้องถือว่าไม่เข้าใจประชาธิปไตยอันแท้จริง

เสื้อแดงต้องมีพรรคใหม่

เสื้อแดงต้องเป็นพรรค
แต่ต้องไปไกลกว่า ไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย

ปัญหาแห่งยุคสมัย

พวกเราคงเห็นด้วยว่าสถานการณ์ปัจจุบัน ท้าทายขบวนการคนเสื้อแดง
สิ่งที่น่าจะชัดเจนคือ:
· เราทำงานกระจัดกระจายไม่ได้ เราต้องมีการประสานงาน เช่นในรูปแบบสมัชชาเสื้อแดง
· แต่เราต้องนำตนเอง ไม่ใช่ถูกนำจากข้างบนโดยนักการเมืองเก่า เราต้องรักษาเอกภาพของกลุ่มเสื้อแดงที่หลากหลาย

พูดอย่างนี้ มันดูขัดแย้งกัน แต่ไม่ใช่ เราต้องสามารถทำงานโดยนำส่วนดีของทั้งสองส่วนที่ขัดแย้งมาใช้เป็นประโยชน์


พรรค
พรรคของคนเสื้อแดงสำหรับยุคนี้ควรเป็นพรรคของกลุ่มเคลื่อนไหว พรรคในหัวสมองเราเป็นอันดับแรก อันดับสองคือประสานกัน แล้วค่อยว่ากันไป เราต้องเคารพและปกป้องความหลากหลายทางจุดยืนของสมาชิกและกลุ่มต่างๆ ที่เข้าร่วม แต่ต้องมีจุดร่วมด้วย คือเพื่อขยายประชาธิปไตย เพื่อความเป็นธรรมในสังคม และเพื่อแก้ปัญหาปากท้องพร้อมๆ กันหมด

พรรคเราควรเน้นการเคลื่อนไหวและการจัดตั้ง ก่อนที่จะคิดเรื่องการลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะเรายังไม่พร้อมและฝ่ายเผด็จการยังคงคุมระบบเลือกตั้งอีกด้วย โดยใช้กกต.และศาลทำลายความเป็นกลางของระบบเลือกตั้ง หนำซ้ำยังใช้รัฐธรรมนูญเผด็จการอีกด้วย

นโยบายของพรรคเราต้องร่วมกันกำหนด แต่ผมเคยเสนอจุดยืนของผมใน “แถลงการณ์สยามแดง” ไปแล้ว

เราต้องคิดแบบพรรค
การมองว่าเรากำลังสร้างพรรค จะพาเราไปไกลกว่าแค่การเป็นคนเสื้อแดง เพราะในช่วงแรกการเป็นคนเสื้อแดงเป็นการประกาศจุดยืนรักประชาธิปไตย และรักนโยบายที่ให้ประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ เช่นระบบรักษาพยาบาล ฯลฯ การเป็นคนเสื้อแดงเป็นการต่อต้านเผด็จการ คมช. พันธมาร และประชาธิปัตย์ ที่ปล้นประชาธิปไตยเราไปอีกด้วย แต่แค่นั้นไม่พอแล้วในยุคนี้

การคิดแบบพรรค หมายความว่าเราต้องพัฒนากลุ่มของเราเป็น “ปากเสียงของผู้ที่ถูกรังแกในสังคม” ซึ่งหมายความว่าเราจะต้องสนใจ รณรงค์ และสนับสนุนหลายๆ เรื่องพร้อมกัน เช่นต่อต้านการเลิกจ้างคนงานในวิกฤตเศรษฐกิจ เรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการที่ใช้ได้จริง ต่อต้านเศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนเกษตรกรที่ลำบาก ยืนเคียงข้างชาวบ้านที่เดือดร้อนจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ หนุนช่วยคนที่ถูกทหาร ตำรวจหรือข้าราชการรังแก ปกป้องวิทยุชุมชน สนับสนุนสิทธิสตรีในแง่ต่างๆ เปิดกว้างเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของคนชายขอบ เช่นคนบนดอย คนมุสลิมในสามจังหวัด คนงานพม่า คนรักเพศเดียวกัน และต่อต้านการใช้กฎหมายหมิ่นฯ....

ถ้าเราพัฒนากลุ่มต่างๆ ของเราเป็นปากเสียงของผู้ถูกรังแกในสังคม เราจะมีพลังอันยิ่งใหญ่ในการสร้างสังคมประชาธิปไตย เสรีภาพและศักดิ์ศรีมนุษย์

เราจะครองใจประชาชน จนพวกเสื้อเหลืองจะไม่มีวันต้านเราได้

ถ้าจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ เราต้องมีการจัดตั้ง มีกลุ่ม มีการประสานกัน และที่สำคัญต้องคิดเองและพัฒนาทุกคนให้เป็นปัญญาชนเสื้อแดง ซึ่งแปลว่าต้องจัดกลุ่มศึกษา