Wednesday 28 October 2009

ทำไมคนเสื้อแดงควรเข้าข้างสหภาพแรงงานรถไฟ

ทำไมคนเสื้อแดงควรเข้าข้างสหภาพแรงงานรถไฟ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ผมถือว่าคนเสื้อแดงเป็นคนที่รักประชาธิปไตยแท้ และรักความเป็นธรรมทางสังคม ซึ่งแปลว่าเราเข้าข้างผลประโยชน์คนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน เราต่อต้านการผูกขาดอำนาจและอภิสิทธิ์พิเศษของชนชั้นสูง และเรากำลังหาทางต่อสู้กับอำมาตย์ด้วยวิธีต่างๆ ดังนั้นในกรณีสหภาพแรงงานรถไฟ ประเด็นสำคัญที่เราจะต้องพิจารณาคือ

1. ถ้าเราจะล้มอำนาจอำมาตย์ เราจะแค่ชุมนุม แค่ยื่นฏีกา แค่รอให้เราชนะการเลือกตั้งเพื่อให้เขาล้มรัฐบาลอีกรอบ? หรือเราจะขยายมวลชนและสมรภูมิการต่อสู้ไปสู่ส่วนสำคัญอื่นๆของสังคม เช่นขบวนการแรงงาน เพราะขบวนการแรงงานมีพลังซ่อนเร้นที่มาจากการนัดหยุดงาน มันเป็นอำนาจที่จะมาสู้กับอำมาตย์ได้ ถ้าเราเข้าไปช่วงชิงการนำจากเสื้อเหลือง คนเสื้อแดงละเลยขบวนการแรงงานมาตลอดทั้งๆ ที่คนงานส่วนใหญ่เป็นคนที่เคยเลือกพรรคไทยรักไทย ตอนนี้ถึงเวลาที่จะต้องทบทวนแนวปฏิบัติของคนเสื้อแดงว่าจะขยายการต่อสู้ หรือจะถอยหลัง จะหาแหล่งพลังใหม่ๆ หรือจะสร้างความเพ้อฝันว่าจะสร้างกองกำลังติดอาวุธหรือหาพรรคพวกในหมู่อำมาตย์

2. พันธมิตรฯ อย่างสมศักดิ์ โกศัยสุข และสาวิทย์ แก้วหวาน ไม่เคยนำการต่อสู้ของพนักงานรถไฟเพื่อประโยชน์ของพนักงานและประชาชนเลย ค่าจ้างสวัสดิการยังตกต่ำ มีลูกจ้างชั่วคราวจำนวนมาก สภาพระบบรถไฟก็แย่เพราะขาดการลงทุนมานาน พวกพันธมิตรฯก็แค่ใช้สหภาพเป็นเครื่องมือ ที่สำคัญคือ เราควรเหมารวมคนขับรถไฟ เจ้าหน้าที่บนขบวนรถ เจ้าหน้าที่สถานีต่างๆ คนซ่อมทางฯลฯ เข้ากับแกนนำเหลืองหรือ? หรือเราจะค่อยๆช่วงชิงมวลชนคนจนเหล่านี้จากการนำโดยพันธมิตรฯ? ในความเป็นจริงแกนนำเสื้อเหลืองไม่สามารถนำสหภาพรถไฟเพื่อประโยชน์สมาชิกและประชาชนได้ เพราะเสื้อเหลืองคัดค้านประชาธิปไตย คัดค้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ให้สวัสดิการกับคนส่วนใหญ่ คัดค้านการลงทุนของรัฐเพื่อสร้างสาธารณูปโภค อย่าลืมว่าฝ่ายทหารอำมาตย์คัดค้านสิทธิในการนัดหยุดงานของพนักงานรัฐวิสาหกิจมานาน ตัวอย่างที่ดีคือสมัย ร.ส.ช. นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์มีประวัติการผลักดันให้ขายรัฐวิสาหกิจมาตลอด ดังนั้นถ้าเราเสนอให้แก้ปัญหาสำหรับพนักงานและประชาชนอย่างจริงจัง และคัดค้านการแปรรูป เน้นการลงทุนของรัฐเพิ่มขึ้น เราแข่งแนวกับคนอย่างสาวิทย์ได้ในระยะยาว

3. คนเสื้อแดงนิ่งเฉยและหวังว่าประวัติผลงานของ ไทยรักไทย จะช่วยครองใจประชาชนต่อไปไม่ได้ พรรคเพื่อไทย ยังไม่มีนโยบายและข้อเสนอใหม่ๆ เลย เราย่ำอยู่กับที่ในการด่าเปรม ด่าอำมาตย์ซึ่งไม่พอ คนเสื้อแดงต้องมีนโยบายที่เกี่ยวกับปัญหาปากท้องของประชาชน เหมือนกับที่ ไทยรักไทย เคยมี เราต้องสนใจประเด็นความปลอดภัย ประเด็นโลกร้อน ประเด็นสิทธิแรงงาน ประเด็นเศรษฐกิจ ไม่ใช่ปล่อยให้ฝ่ายเสื้อเหลืองหรือเอ็นจีโอเหลือง สร้างภาพว่าเขาแคร์เรื่องแบบนี้เพื่อครองใจคน ศัตรูของเราคืออำมาตย์ทุกรูปแบบ ไม่ใช่ประชาชนบางส่วนที่ถูกอำมาตย์ครอบงำชั่วคราว

4. การนัดหยุดงานคือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานในระบบประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยมากกว่าการลงคะแนนเสียง มันรวมถึงการกำหนดชีวิตตนเอง อำมาตย์คัดค้านเสรีภาพนี้มาตลอด ตั้งแต่สมัยสฤษดิ์จนถึงปัจจุบัน เพราะมันเป็นวิธีที่ประชาชนคนทำงานสร้างอำนาจต่อรองกับนายจ้างและรัฐบาลเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ สิทธิในการนัดหยุดงานแยกออกจากประชาธิปไตยไม่ได้ การนัดหยุดงานอาจบอกล่วงหน้าหรือไม่บอกก็ได้แล้วแต่สถานการณ์ ในกรณีด่วน เช่นการลงโทษคนขับเพราะรัฐบาลไม่ยอมรับผิดชอบกับความปลอดภัย ต้องหยุดงานทันที อันนี้เป็นมาตรฐานสากล นอกจากนี้คนงานภาครัฐทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นคนรถไฟ ครู พยาบาล หมอ บุรุษไปรษณีย์ คนขับรถเมล์ คนดับเพลิง เจ้าหน้าที่สนามบิน ฯลฯ เวลานัดหยุดงานย่อมมีผลต่อประชาชนเป็นธรรมดา แต่ถ้าเขาชนะประชาชนจะได้ประโยชน์ไปด้วย เพราะจะพัฒนาคุณภาพการบริการ และคนงานเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของประชาชน ดังนั้นคนที่อ้างแต่ว่า “ประชาชนเดือดร้อน” เป็นคนที่ใช้คำพูดของนายทุนกับอำมาตย์ อย่าลืมว่าเวลาคนเสื้อแดงปิดถนนอย่างมีความชอบธรรม ก็มีคนมาว่าเราว่าเราทำให้ประชาชนเดือดร้อน ทำไมพวกเราเชื่อสื่อกระแสหลักที่ด่าสหภาพรถไฟในขณะที่เรารู้ว่ามันโกหกในทุกเรื่อง? ทำไมต้องไปเข้าข้างนายกอภิสิทธิ์ เวลาเขาด่าสหภาพ?

5. การพูดว่าการนัดหยุดงานครั้งนี้มาจากแผนทางการเมืองของพันธมิตรฯ เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นความจริงว่าในรถไฟมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย สภาพการจ้าง และการขาดการลงทุน มันเป็นการยืมความคิดและคำพูดของอำมาตย์มาใช้อีก เพราะอำมาตย์พูดเสมอว่าคนเสื้อแดงไม่ได้สนใจหรือเข้าใจประชาธิปไตยจริง แต่เป็นแค่เครื่องมือของทักษิณที่ถูกจูงมาในระบบอุปถัมภ์ เราต้องถามตัวเองว่าความคิดแบบนี้มันกลายเป็นข้อแก้ตัวของคนเสื้อแดงที่จะมีอคติต่อไปต่อสหภาพรถไฟ และไม่จริงใจในการขยายมวลชนหรือไม่

สำหรับผม ในฐานะที่เป็นนักสังคมนิยม ผมมองว่าขบวนการแรงงานมีความสำคัญมาก เราต้องขยายอิทธิพลของคนเสื้อแดงในขบวนการนี้ เราต้องเป็นสะพานเชื่อมสหภาพแรงงานต่างๆ กับเสื้อแดงที่ก้าวหน้า

เราต้องเข้าข้างคนชั้นล่าง ผู้ด้อยโอกาส และคนที่ถูกรังแกเสมอ เช่นแรงงานพม่า หรือคนมุสลิมในภาคใต้ ในกรณีกฎหมายหมิ่นฯ เราต้องชูประเด็นคุณดา โดยไม่ต้องถามว่าคุณดาพูดว่าอะไรหรือในอดีตทำอะไร เราพยายามปกป้องคุณดาเพื่อผลักดันประชาธิปไตยแท้ ในขณะที่เสื้อแดงอื่นๆ โดยเฉพาะแกนนำพรรคเพื่อไทย อาจต้องการลืมเขาเพื่อประนีประนอมกับอำมาตย์ในอนาคต

ในประเด็นสหภาพแรงงานไทรอัมฟ์ ซึ่งเคยเป็นสหภาพที่เข้มแข็ง แต่ถูกนายจ้างและเสื้อเหลืองทำลาย บทเรียนสำคัญคือไม่มีการดึงเสื้อแดงเข้ามาร่วมต่อสู้ และไม่มีการขยายขอความช่วยเหลือเป็นรูปธรรมจากส่วนอื่นของขบวนการแรงงานไทย พร้อมกันนั้นไม่มีการพยายามขยายการต่อสู้ไปสู่นครสวรรค์และส่วนอื่นของบริษัท แทนที่จะทำสิ่งเหล่านี้กลับไปหวังว่าเพื่อนต่างประเทศจะช่วย และหวังสร้างแนวร่วมกับนักวิชาการเสื้อเหลือง

ในกรณีรถไฟ เราต้องกระตุ้นการถกเถียงในวงเสื้อแดง เพื่อให้หันมาเน้นการขยายมวลชน หรือช่วงชิงการนำในขบวนการแรงงาน ตราบใดที่สมาชิกสหภาพรถไฟปล่อยให้เสื้อเหลืองนำ เขาจะมีสภาพการจ้างงานที่แย่ตลอดไป ตราบใดที่เสื้อแดงละเลยขบวนการแรงงาน เราจะขาดพลังในการโค่นอำมาตย์ เราจึงต้องค่อยๆดึงสองฝ่าย สหภาพกับคนเสื้อแดง มาใกล้ชิดกัน

จุดยืนที่หลากหลายของนักสหภาพแรงงาน หรือคนเสื้อแดงเอง แค่สะท้อนความหลากหลายของความคิดทางการเมืองในสังคม การเมืองกำหนดทุกอย่าง รวมถึงวิธีในการต่อสู้และการวิเคราะห์สถานการณ์ นั้นคือสาเหตุที่เราต้องมีองค์กรทางการเมืองที่มีแนวคิดชัดเจน เพื่อขยายแนวที่เรามองว่ามีประโยชน์มากที่สุดต่อการต่อสู้ และเราต้องขยายความคิดนี้ในแนวร่วมและมวลชนส่วนอื่นๆ

ดูข้อมูลเพิ่มจาก http://www.prachatai.com/journal/2009/10/26386

Saturday 24 October 2009

ความปัญญาอ่อนของ NGO กรณี องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน

ความปัญญาอ่อนของ NGO กรณี องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน

ใจ อึ๊งภากรณ์

อาเซียน (ASEAN) ประกอบไปด้วย ประเทศไทย เวียดนาม ลาว เขมร พม่า และสิงค์โปร์ ซึ่งล้วนแต่เป็นเผด็จการ นอกจากนี้มีประเทศกึ่งเผด็จการแบบมาเลยเซีย และมีฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประชาธิปไตย จะมีใครบ้างในโลกที่ฝันว่ารัฐบาลของประเทศเหล่านี้จะสร้างองค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง? คำตอบคือ พวก NGO

แต่ไม่ว่า NGO จะฝันไปถึงไหน เขาก็โดนตบหน้าจากผู้นำอาเซียน นอกจากรัฐบาลต่างๆจะสงวนสิทธิในการแต่งตั้งคนของตนเองเข้ามาเป็นกรรมการองค์กรสิทธิมนุษยชนแล้ว ผู้นำรัฐบาลอาเซียนยังปฏิเสธครึ่งหนึ่งของคณะ NGO ที่ต้องการเข้าพบและอนุญาติให้คนคนเดียวมิสิทธิ์พูด คือ อาจารย์สุริชัย หวันแก้ว จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุริชัย คนนี้คือใคร? เขาเป็นผู้ที่สนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยา และเป็นผู้ที่ คมช. แต่งตั้งเข้าสู่สภาของเผด็จการ นอกจากนี้ทีมงาน NGO ไทย ประกอบไปด้วยคนที่สนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยา อีกหลายคน

ในพิธีเปิดองค์กรสิทธิมนุษชนของอาเซียน นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ เป็นคนปราศัย คนนี้เป็นนายกรัฐมนตรีเผด็จการ ที่ถือตำแหน่งจากการจัดการของทหาร ที่เซ็นเซอร์สื่อ ที่จับคนบริสุทธิเข้าคุก ที่สั่งให้ทหารฆ่าประชาชน และที่มีส่วนในการก่อตั้งอันธพาลเสื้อสีน้ำเงิน อภิสิทธิ์ได้โกหกและบิดเบือนความจริงตามเคย โดยอ้างว่าสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนสำคัญของสังคมที่พวกเขาต้องการสร้าง นอกจากนี้ก็พูดเชิงกล่อมเด็กว่าองค์กรประชาสังคมควรจะมั่นใจได้ว่ารัฐบาลของอาเซียน เป็นเพื่อนที่ดีของเขา

ทำไม NGO หลายส่วนถึงเดินตามแนวปัญญาอ่อนแบบนี้? เขาโง่? เขาเป็นผู้ฉวยโอกาส? หรือเขาตาบอดเพราะวิเคราะห์อะไรไม่เป็น?

พวก NGO นักล็อบบี้” ชอบอ้างว่าตัวเองเป็นตัวแทนของ “ประชาสังคม” ทั้งๆที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งจากใคร องค์กร NGO หลายองค์กร ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งและการยกมือลงคะแนนเสียงอีกด้วย พวกนี้ลืมว่า “ประชาสังคม” สามารถขยายพื้นที่ประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพต่อเมื่อมีการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีมวลชนจำนวนมาก ขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าวจะต้องต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ และอภิสิทธิของคนชั้นสูงอีกด้วย

แทนที่จะเสียเวลาคุยกับผู้นำรัฐบาลต่างๆ NGO ควรจะใช้เวลาและทรัพยากรในการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวหรือการสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่มีอยู่แล้ว เช่น คนเสื้อแดงในไทย หรือ ขบวนการต้านรัฐบาลในประเทศอื่นๆ

องค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิได้จริงจะต้องเป็นองค์กรที่ตัดขาดและอิสระจากรัฐบาล และองค์กรเหล่านี้จะต้องกล้าวิพากษ์วิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกรูปแบบอีกด้วย ตัวอย่างที่ดีคือองค์กรสิทธิมนุษยชนเอเชียที่ฮ่องกง

หลัง “การล่มสลายของคอมมิวนิสต์” ขบวนการ NGO หันหลังให้กับ การเมือง การสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และพรรคการเมือง เขาหันไปเน้นเรื่องการล็อบบี้ผู้หลักผู้ใหญ่แทน และชื่นชมแนวความคิดชุมชนนิยมแบบอนาธิปไตย และทั้งๆ ที่สองแนวทางนี้ดูเหมือนขัดแย้งกันเพราะคลานไปกอดอำนาจรัฐและปฏิเสธอำนาจรัฐพร้อมๆกัน แต่จุดร่วมคือการปล่อยรัฐไว้และปฏิเสธการวิเคราะห์ภาพรวมทางการเมือง นี่คือสาเหตุที่ NGO สามารถหลับหูหลับตาถึงเผด็จการในอาเซียนได้

แทนที่จะสร้างขบวนการเคลื่อนไหวหรือพรรค NGO เน้นการเคลื่อนไหวประเด็นเดียว เขาดีใจเมื่อได้รับคำเชิญชวนเข้าไปในห้องประชุมกับผู้มีอำนาจ แทนที่จะหาทางทำลายอำนาจดังกล่าวของฝ่ายเผด็จการ การทำงานแบบนี้สอดคล้องกับการรับทุนจากองค์กรระหว่างประเทศ และนำไปสู่การทำงานที่ไร้การเมือง

ในประเด็นเรื่องโลกร้อน NGO ในไทย มองข้ามการที่รัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และคิดว่าเผด็จการจะฟังประชาชน มีการใช้แนวชาตินิยมเพื่อเอาใจผู้มีอำนาจ ซึ่งทำให้มีการปัดความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาโลกร้อนไปสู่ประเทศตะวันตกโดยที่รัฐบาลในเอเชียไม่ต้องทำอะไร มันทำให้สร้างแนวร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวในตะวันตกยากขึ้น เพราะขบวนการในตะวันตกเข้าใจดีว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องรับผิดชอบมากที่สุดในการแก้ปัญหาโลกร้อน ประเด็นที่สำคัญคือเราจะจัดการกับกลไกตลาดที่แสวงหากำไร ทำลายโลก และสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างไร

ในไทยและประเทศเอเซียอื่นๆ รัฐบาลจะต้องเก็บภาษีจากคนรวยและตัดงบประมาณทหารเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน เราต้องการเทคโนโลยี่สมัยใหม่เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าแสงแดด กังหันลม ระบบคมนาคมขนส่งมวลชนที่ใช้ไฟฟ้า และบ้านที่อยู่อาศัยที่ใช้พลังงานด้วยประสิทธิภาพสูง เรื่องเหล่านี้ NGO ในไทย เงียบเฉยโดยที่พยายามหมุนกงล้อประวัติศาสตร์กลับไปสู่ยุคก่อนอุตสาหกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

ยุคของ NGO ที่จะเป็นพลังก้าวหน้าในสังคมหมดสิ้นไปนานแล้ว สำหรับนักเคลื่อนไหวที่ต้องการสร้างสังคมที่ดีขึ้น จะต้องมีการทบทวนประวัติศาสตร์การต่อสู้ เพื่อหาทางใหม่ แต่สำหรับผู้ที่สนใจแต่จะกินเงินเดือนก็ควรจะอยู่ต่อไปในองค์กร NGO โดยไม่ทำอะไรใหม่ และหวังว่าแหล่งเงินทุนจะไม่หายไป

รัชกาลที่ ๕ ปฏิวัติล้มระบบศักดินา

รัชกาลที่ ๕ ปฏิวัติล้มระบบศักดินา

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทุกวันที่ ๒๓ ตุลาคม นิสิตจุฬาฯ จะถูกเกณฑ์ไปกราบรูปปั้นรัชกาลที่๕ เหมือนกับว่ากราบไหว้เทวดา แต่การกราบไหว้รูปปั้นของคนในรูปแบบนี้ โดยไม่สนใจที่จะวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของผลงานอันยิ่งใหญ่ของรัชกาลที่๕ เป็นการสอนให้นักศึกษาเป็นคนปัญญาอ่อน ไม่ใช่สอนให้คิดเองเป็น เพื่อสร้างมาตรฐานวิชาการ

อำมาตย์ชอบเสนอว่า สถาบันกษัตริย์ไทยปัจจุบันเป็นสถาบันเก่าแก่ตั้งแต่สุโขทัย ที่อยู่เคียงข้างสังคมในรูปแบบ “ศักดินา-สมบูรณาญาสิทธิราชย์” คือมองว่าศักดินาไม่ต่างจากสมบูรณาญาสิทธิราช์นั้นเอง ฝ่ายอำมาตย์มีการรณรงค์ผ่านโรงเรียนและสื่อให้เราเชื่อว่ากษัตริย์มีอำนาจเหนือชีวิตของเหล่าไพร่ทั้งหลาย เหมือนกับว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากสมัยอยุธยาเลย มันเป็นความพยายามเพื่อสร้างภาพเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ให้ประชาชนเชื่อว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการจงรักภักดีต่อและเกรงกลัวผู้ปกครองที่เป็นเสมือนพระเจ้าหรือเทวดา ส่วนฝ่ายซ้ายเก่า เช่น พ.ค.ท. หรือนักวิชาการที่ได้รับอิทธิพลจาก พ.ค.ท. มักมองว่าไทยยังเป็น “กึ่งศักดินา” จนถึงทุกวันนี้ หลายคนมองต่อไปว่าความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองกับแดง เป็นการต่อสู้ระหว่างศักดินากับนายทุนสมัยใหม่ ผมว่าการวิเคราะห์แบบนี้ผิด และไม่มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์รองรับเลย

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์เราจะพบว่าในรอบ 200 ปีที่ผ่านมาสถาบันกษัตริย์ไทยเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง จากสถาบันในระบบศักดินา ไปเป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจรวมศูนย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วงรัชกาลที่ ๕ และในการปฏิวัติปี ๒๔๗๕ เปลี่ยนอีกครั้งเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นสถานภาพของสถาบันก็เปลี่ยนแปลงต่อไป งานเขียนของนักประวัติศาสตร์อย่าง ธงชัย วินิจจะกูล และ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ มีประโยชน์ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างดี นอกจากนี้ข้อมูลในหนังสือของ Paul Handley ก็ช่วยวาดภาพประวัติศาสตร์ช่วงดังกล่าวอีกด้วย อย่างไรก็ตามนักวิชาการส่วนใหญ่มองข้ามแง่มุมของสถาบันกษัตริย์ไทย ที่เป็นสถาบันสมัยใหม่ในระบบทุนนิยมซึ่งมีบทบาทหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง และเป็นลัทธิความคิด ที่ให้ความชอบธรรมกับทหารผู้มีอำนาจจริงในการครอบงำสังคม

ลักษณะสำคัญของระบบศักดินา

หลายคนเข้าใจผิดว่าการปกครองในยุคศักดินาเป็นการปกครองที่มีพระเจ้าแผ่นดินที่มีอำนาจเข้มแข็ง แต่ที่จริงแล้วระบบศักดินามีองค์ประกอบสามอย่างที่ทำให้พระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจจำกัดคือ

() ระบบการปกครองแบบศักดินาไม่มีข้าราชการ ระบบข้าราชการไทยตั้งขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๕ ฉนั้นพระเจ้าแผ่นดินในยุคศักดินาต้องแบ่งอำนาจในการปกครองกับ ขุนนาง มูลนาย และเจ้าหัวเมือง

() การที่ระบบการผลิตอาศัยการเกณฑ์กำลังงานแรงงานบังคับโดยมูลนายและขุนนาง มีส่วนทำให้พระเจ้าแผ่นดินต้องแบ่งอำนาจทางเศรษฐกิจการผลิตให้กับมูลนายและขุนนางอีกด้วย

() อำนาจของเมืองหลวง” เช่นอยุธยา หรือ กรุงเทพฯ ในระบบศักดินา จะลดลงในสัดส่วนที่เท่ากับความห่างจากตัวเมือง เพราะเมืองห่างๆ ไม่จำเป็นต้องกลัวการส่งกองกำลังมาปราบปรามเท่ากับเมืองที่อยู่ใกล้ศูนย์กลาง นอกจากนี หัวเมือง อาจเป็น หัวเมือง ของเมืองอำนาจศูนย์กลางอื่นๆ หลายเมืองพร้อมๆกัน ระบบการแผ่อำนาจแบบวงกลมซ้อนๆนี้ เรียกว่าเป็นระบบ Mandala หรือ Galactic Polity – คือระบบดวงดาวที่หมุนรอบดวงอาทิตย์ มันเป็นระบบที่ไม่มีแผนที่ ไม่มีพรมแดน เพราะเน้นควบคุมคนและชุมชนเป็นหลัก

การผลิตในระบบศักดินาใช้แรงงานบังคับ ไม่ใช่แรงงานรับจ้าง มีทาสและไพร่ ทาสในระบบศักดินาคือผู้ที่ติดหนี้สินกับมูลนาย ผู้ที่ต้องการความคุ้มครองจากมูลนาย หรือเชลยศึก เขาจะต้องทำงานอยู่กับเจ้านายตลอด ส่วนไพร่นั้นคือผู้ที่เป็นชาวนากึ่งอิสระที่ต้องถูกเกณฑ์ไปใช้งานเป็นประจำโดย ขุนนาง มูลนาย พระเจ้าแผ่นดิน หรือ วัด

ปฏิวัติทุนนิยมล้มศักดินานำโดยรัชกาลที่๕

หลังจากที่รัฐบาลกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เซ็นสัญญาการค้าเสรีกับอังกฤษที่เรียกว่า สัญญาเบาริ่งในปีพ.. ๒๓๙๘ ระบบทุนนิยมโลกเริ่มที่จะมีอิทธิพลเหนือเศรษฐกิจไทยมากขึ้นทุกที ระบบการค้าเสรีและการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจทุนนิยมตะวันตก สร้างทั้งปัญหาและโอกาสกับกษัตริย์ศักดินา และนำไปสู่การปฏิวัติล้มระบบศักดินาโดยรัชกาลที่ ๕

การยกเลิกระบบการเกณฑ์แรงงานบังคับ และการใช้ระบบการปกครองของข้าราชการจากศูนย์กลาง เป็นการทำลายอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองของมูลนาย ขุนนาง และ เจ้าหัวเมือง ซึ่งเป็นคู่แข่งของกษัตริย์ โดยที่อำนาจรัฐและอำนาจเศรษฐกิจไปกระจุกอยู่ที่พระเจ้าแผ่นดินภายใต้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นครั้งแรกใน นอกจากนี้การเลิกทาสหรือไพร่ และการหันมาใช้แรงงานรับจ้างไม่ใช่เพราะความเมตตาของใครแต่อย่างใด มันเป็นเรื่องการใช้แรงงานในลักษณะที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในระบบทุนนิยมต่างหาก

การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยดังกล่าวต้องถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับการปฏิวัติสังคมที่นำไปสู่ระบบทุนนิยมในประเทศไทย และรัฐใหม่ที่รัชกาลที่ ๕ สร้างขึ้นเป็นรัฐทุนนิยม เพื่อประโยชน์นายทุนกษัตริย์ และเพื่อสร้างรัฐชาติไทยขึ้นมาเป็นครั้งแรกในยุคที่กรุงเทพฯ ต้องเผชิญหน้ากับการสร้างรัฐชาติพม่า มาเลย์ และอินโดจีน ภายใต้จักรวรรดินิยมตะวันตก ยิ่งกว่านั้นการเลิกทาสเลิกไพร่ และการนำระบบเศรษฐกิจการค้าเสรีเข้ามา เปิดโอกาสให้กษัตริย์ไทยสมัยนั้นสามารถสะสมกำไรมหาศาลจากการเป็นนายทุนที่ดิน นายทุนเกษตร และนายทุนธนาคาร ซึ่งมีการถ่ายทอดมรดกจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะสำคัญของระบบทุนนิยมคือ มีการลงทุนเพื่อการผลิต และมีการสะสมทุนเพิ่มจากกำไรในการผลิต กระบวนการนี้อาศัยการที่นายทุนเริ่มควบคุมปัจจัยการผลิต เช่นที่ดิน บริษัท หรือโรงงาน ในขณะที่คนธรรมดาต้องไปรับจ้างหรือเช่าที่ดินจากนายทุน การลงทุนเพื่อการเกษตรแถวๆ รังสิตในสมัยรัชกาลที่๕ กระทำไปโดยเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยมาเช่าที่ดิน เพื่อขยายการผลิตข้าว โดยเป้าหมายคือการส่งออกในตลาดทุนนิยมโลก มันเป็นระบบรับเหมาทำนา โดยที่นายทุนผู้ครองที่ดินได้ประโยชน์ ดังนั้นนายทุนในระบบทุนนิยมมีหลายรูปแบบ คือเป็นกษัตริย์ ทหาร หรือนักธุรกิจเอกชนก็ได้ ขอให้มีอำนาจคุมปัจจัยการผลิตและความสามารถในการสะสมทุนเท่านั้นก็พอ

รัฐทุนนิยมในรูปแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่รัชกาลที่๕ สร้างขึ้น ถูกปฏิวัติล้มไปในปี ๒๔๗๕ และอำนาจรัฐถูกค่อยๆ ขยายไปสู่ส่วนอื่นของชนชั้นนายทุนที่ไม่ใช่กษัตริย์และราชวงศ์ เช่นข้าราชการพลเรือน ทหาร และนายทุนเอกชน ซึ่งการขยายชนชั้นปกครองไปสู่กลุ่มอำมาตย์แบบนี้ ยังมีอิทธิพลต่อการเมืองปัจจุบัน ทั้งๆ ที่อาจไม่ใช่เจตนาหลักของผู้นำคณะราษฏร์ฝ่ายซ้ายอย่างปรีดี พนมยงค์

Tuesday 13 October 2009

บทเรียนจากการล้มทหารในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

บทเรียนจากการล้มทหารในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ท่ามกลางการต่อสู้ของนักศึกษา กรรมกร ชาวนา และประชาชนทั่วไป เผด็จการทหารของ ถนอม กิตติขจร ประภาส จารุเสถียร และณรงค์ กิตติขจร ถูกโค่นล้มไป สามทรราชนี้ต้องหนีออกนอกประเทศ เพราะมีส่วนในการสั่งฆ่าประชาชนผู้ไร้อาวุธท่ามกลางกรุงเทพฯ ไม่ต่างอะไรจาก “อภิสิทธิ์มือเปื้อนเลือด” ในยุคนี้

รัฐบาลเผด็จการทหารของ ถนอม-ประภาส-ณรงค์ เป็นรัฐบาลอำมาตย์ที่รับมรดกอำนาจจากจอมเผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เราคงจำได้ว่า สฤษดิ์ เป็นนายทหารที่มีบทบาทสำคัญในการรื้อฟื้นอำนาจและบารมีของกษัตริย์ภูมิพล หลังจากที่ความนิยมเจ้าในไทยตกต่ำตั้งแต่ช่วง ๒๔๗๕ นอกจากถนอม-ประภาส-ณรงค์ จะรับมรดกอำนาจจาก สฤษดิ์ แล้ว ยังรับมรดกวิธีโกงกินชาติบ้านเมืองจากครูใหญ่อีกด้วย เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ทหารเข้ามากินบ้านกินเมืองยกใหญ่

เวลานักศึกษานำขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย ออกจากธรรมศาสตร์ สู่ถนนราชดำเนิน มีนักศึกษาถือรูปกษัตริย์และราชินีนำหน้า ซึ่งแสดงว่านักศึกษาพวกนี้ยังต้องการพิสูจน์ความจงรักภักดีอยู่ แต่นั้นก็ไม่สามารถป้องกันเขาจากกระสุนของอำมาตย์ได้ ในช่วงท้ายของการเดินขบวนมีการอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากกษัตริย์ที่วังสวนจิตรลดาอีกด้วย ตอนนั้นฝ่าย ถนอม-ประภาส-ณรงค์ พยายามป้ายสีนักศึกษาว่าบุกเข้าไปเพื่อโค่นกษัตริย์ แต่การป้ายสีไม่สำเร็จเพราะเผด็จการทหารหมดอำนาจและความชอบธรรมไปแล้ว

ในการวิเคราะห์สถานการณ์ ในช่วง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เราควรปฏิเสธนิยาย 3 ข้อเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ

1. นิยายที่เสนอว่าประชาชน “ถูกหลอกมาเดินขบวน” เพื่อรับใช้ผู้ใหญ่ที่ขัดแย้งกัน ซึ่งนอกจากจะดูถูกวุฒิภาวะของนักศึกษาและประชาชนแล้ว ยังเป็นนิยายที่เหมือนกับคำพูดของเสื้อเหลืองที่มองว่าคนเสื้อแดงโง่และถูกทักษิณหลอก ความคิดแบบนี้ชวนให้เราเลิกสู้และอยู่บ้าน เป็นนิยายที่หวังทำลายขบวนการประชาชน

2. นิยายที่เสนอว่าเผด็จการทหารถูกล้มเพราะนายทหารชั้นสูงขัดกันเอง ซึ่งพยายามมองแต่ผู้ใหญ่และตาบอดถึงบทบาทหลักของประชาชนหรือมวลชนในการเปลี่ยนสังคม มันเป็นมุมมองที่เชียร์อภิสิทธิ์ชน และไม่มองภาพรวม

3. นิยายที่เสนอว่ากษัตริย์ภูมิพลออกมากู้ชาติ สร้างความสามัคคีและประชาธิปไตยในวันที่ ๑๔ ตุลาคม อย่าลืมว่ากษัตริย์ภูมิพลร่วมกินและได้ผลประโยชน์จากเผด็จการทหารตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ และไม่เคยออกมาวิจารณ์เผด็จการเลย ไม่เคยออกมาห้ามการยิงประชาชนด้วย สิ่งที่กษัตริย์ภูมิพลทำในวันที่ ๑๔ ตุลา คือทำตามหน้าที่เดียวที่กษัตริย์ในระบอบรัฐสภาต้องทำ คือใช้ภาพเท็จของความเป็นกลาง เพื่อก้าวเข้ามาแทรกแซงการเมืองในยามวิกฤต โดยมีเป้าหมายเดียวคือ กู้สถานการณ์และปกป้องอำมาตย์ นี่คือหน้าที่ของกษัตริย์สมัยใหม่ทั่วโลก

ขณะที่เผด็จการทหารถูกล้มโดยประชาชนในวันที่ ๑๔ ตุลาคม โดยที่นักศึกษาสร้างความชอบธรรมให้กษัตริย์ ผ่านการถือรูปและเข้าไปที่สวนจิตรลดา กษัตริย์ได้โอกาส จึงรีบก้าวออกมาเพื่อประสานงานการตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” และสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อปกป้องการดำรงอยู่ของอำมาตย์ต่อไป และต้อนสังคมเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยรัฐสภาและการเลือกตั้งภายใต้ผลประโยชน์อำมาตย์ อย่างไรก็ตาม เขาไม่สามารถคุมการเคลื่อนไหวของนักศึกษา กรรมกร และชาวนาได้ จึงมีการวางแผนระยะยาวเพื่อก่อเหตุนองเลือดในสามปีข้างหน้า

ข้อผิดพลาดของฝ่ายขบวนการนักศึกษาและประชาชนในวันที่ ๑๔ ตุลา เป็นความผิดพลาดที่เราควรยกโทษให้ เพราะขบวนการนี้กำลังเรียนรู้ท่ามกลางการต่อสู้ อย่างไรก็ตาม เราสามารถมองย้อนกลับไปสรุปได้ว่าขบวนการประชาชนในยุคนั้นควรจะเตรียมตัวยึดอำนาจรัฐเอง หลังจากที่โค่นเผด็จการ ไม่ใช่นิ่งเฉยท่ามกลางความสับสน หรือไปมอบอำนาจหรือความชอบธรรมให้กษัตริย์ วิธีหนึ่งที่ขบวนการประชาชนจะเตรียมตัวยึดอำนาจรัฐ คือการสร้างพรรคมวลชน

ในยุคนั้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยพยายามสร้างพรรคมวลชน เพื่อยึดอำนาจรัฐผ่านการสร้างกองกำลังติดอาวุธ ตามแบบของ เหมา เจ๋อ ตุง ในจีน พ.ค.ท. เชื่อว่าจะต้องยึดชนบทก่อนแล้วค่อยล้อมเมือง ดังนั้นพรรคไม่ได้เข้าไปจัดตั้งและให้ความสนใจกับการต่อสู้ในกรุงเทพฯ ที่ได้รับชัยชนะในวันที่ ๑๔ ตุลาเลย

เราจะเห็นว่าพลังมวลชนเป็นสิ่งที่ชี้ขาดว่าเราจะล้มเผด็จการได้หรือไม่ แต่ถ้าเราไม่มีการจัดตั้งเป็นพรรค พลังมวลชนจะกระจายหายไป และอำมาตย์สามารถฟื้นตัวเพื่ออยู่ต่อในรูปแบบใหม่ได้เสมอ แต่การมีพรรคก็ไม่ใช่หลักประกันอะไร ถ้าพรรคเสนอแนวทางที่ผิดพลาด และไม่เปิดโอกาสให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยน

ทั้งๆ ที่ พ.ค.ท. เข้ามามีอิทธิพลมากมายในขบวนการนักศึกษาและประชาชนหลัง ๑๔ ตุลา แต่ก็ไม่ได้สนใจที่จะสู้กับอำมาตย์ในเมือง ปล่อยให้ขบวนการถูกปราบไปในวันที่ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ และเมื่อนักศึกษาและประชาชนเข้าป่าไปร่วมกับพรรค ก็ไม่มีการสนับสนุนให้นำตนเอง ใช้วิธีเผด็จการของพรรคปิดกั้นไม่ให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับแนวทาง และไม่มีการสนับสนุนการศึกษาทางการเมืองนอกจากการท่องหนังสือของ เหมา เจ๋อ ตุง ซึ่งทำให้สมาชิกพรรคหดหู่ไม่เข้าใจเมื่อรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์หันมาจับมือกับอำมาตย์ไทย นอกจากนี้ไม่มีการวางแผนเพื่อสู้ในเมืองเลย ซึ่งทั้งหมดนี้เปิดโอกาสให้อำมาตย์ไทย ภายใต้แนวคิดของ เปรม ติณสูลานนท์ สามารถใช้การเมืองนำทหารดึงนักศึกษาออกจากป่าได้ จนพรรคคอมมิวนิสต์ล่มสลาย ประเด็นเหล่านี้ คนอย่าง คุณสุรชัย แซ่ด่าน (อดีต พ.ค.ท.) จะต้องอธิบายและตอบข้อสงสัยกับคนเสื้อแดง เมื่อเสนอแนวทางจับอาวุธหรือตั้งกองกำลังในยุคนี้

เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม เกือบจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะในช่วงแรกฝ่ายเผด็จการพยายามประนีประนอม มีการปล่อยตัวคนที่ถูกจับเพราะแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และมีการ “สัญญา” ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญในอนาคต ถ้านักศึกษายอมถอยตอนนั้น ถนอม-ประภาส-ณรงค์ก็คงอยู่ต่อได้ เหมือนกับที่ทหารพม่าอยู่ต่อหลังจากการลุกฮือ 8-8-88 ได้เนื่องจากขบวนการพม่ายอมประนีประนอม คนที่เสนอว่าคนเสื้อแดงยุคนี้ต้องประนีประนอมกับอำมาตย์ จะต้องอธิบายให้เราฟังได้ว่า เราจะได้ประชาธิปไตยแท้หรือไม่ หรืออำมาตย์จะอยู่ต่อหลังการประนีประนอมดังกล่าว

คนที่เสนอให้คนไทยสามัคคี เลิกความแตกแยก จะต้องพิสูจน์ว่าคุณมีวิธีใดที่จะสร้างประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และมีวิธีใดที่จะห้ามไม่ให้เกิดรัฐประหารหรือการแทรกแซงการเมืองโดยทหารโดยวิธีทางอ้อม เช่นการใช้ศาลเป็นต้น คนที่อ้างว่าเรายังต้องจงรักภักดีต่อกษัตริย์ จะต้องอธิบายว่าการกระทำแบบนั้นจะไม่เปิดช่องให้อำมาตย์ฟื้นฟูอีกได้อย่างไร เพราะเรามีข้อสรุปที่ชัดเจนจาก ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖แล้ว

พิษภัยของ “รัฐบาลห่งชาติ”

ในช่วงที่กษัตริย์ภูมิพลมีชีวิต เขาทำหน้าที่ปกป้องความมั่นคงและผลประโยชน์ของอำมาตย์ ผ่านการสร้างภาพลวงตาเรื่องความสามัคคีหรือความเป็นกลาง ในยุคนี้ประชาชนจำนวนมากมองออกว่าเป็นแค่ภาพลวงตา แต่สิ่งที่เราจะต้องระมัดระวังอย่างมากคือ เมื่อภูมิพลตาย ฝ่ายอำมาตย์อาจจะพยายามเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” เพื่อ “สามัคคีในยามเศร้า” และผู้นำเสื้อแดงบางคนอาจถูกชักชวนให้ไปประนีประนอม

“รัฐบาลแห่งชาติ” ภายใต้อำนาจและเงื่อนไขของอำมาตย์ จะไม่มีวันนำไปสู่ประชาธิปไตยแท้ และความเป็นธรรมทางสังคมได้ และเราไม่ควรหลงเชื่อว่าอำมาตย์เสนอความสามัคคี “เพราะอ่อนแอหลังกษัตริย์ตาย” เนื่องจากอำนาจทหาร ศาล และข้าราชการจะยังอยู่เหมือนเดิม ชาวเสื้อแดงที่รักประชาธิปไตยแท้และความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ จะต้องไม่หลงสามัคคีกับเสื้อเหลืองและอำมาตย์ เราจะต้องสู้ต่อไปเพื่อโค่นระบบเผด็จการอันเลวทรามนี้ให้ได้ วีรชน ๑๔ ตุลา และ ๖ ตุลา เขาเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยแท้ คนเสื้อแดงจะต้องรับภาระนี้ต่อไป เพื่อให้เราได้รับชัยชนะสักที

Sunday 11 October 2009

คนเสื้อแดงควรคัดค้านการรื้อฟื้นโทษประหาร

คนเสื้อแดงควรคัดค้านการรื้อฟื้นโทษประหาร

ใจ อึ๊งภากรณ์

สังคมไทยภายใต้ตีนเปื้อนเลือดของอำมาตย์ ผู้ทำลายสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในยุคปัจจุบัน เป็นสังคมป่าเถื่อนที่ไร้มาตรฐานทางกฎหมายและความยุติธรรม อำมาตย์ทำรัฐประหารและล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลายครั้งเพราะดูหมิ่นประชาชนคนจนและมองว่าเราไม่มีวุฒิภาวะที่จะมีสิทธิทางการเมือง เขามองว่าเราไม่ควรที่จะได้สวัสดิการและส่วนแบ่งของมูลค่าที่คนธรรมดาสร้างขึ้นมาจากการทำงาน เขามั่นใจว่าเขาจะใช้กฎหมายตามอำเภอใจได้ เขาคิดว่าเขาเป็นเจ้าของประเทศและพรรคพวกของเขาจะก่ออาชญากรรมได้อย่างเสรีโดยไม่ถูกลงโทษ และเขามองว่าเราเป็นแค่ไพร่หรือทาส ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของกองโจรพันธมาร อันธพาลเสื้อน้ำเงิน ทหารป่าเถื่อน หรือรัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นการยึดสนามบินหรือทำเนียบ ไม่ว่าจะเป็นเมษาเลือดหรือ๖ตุลา และไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเซ็นเซอร์สื่อและการใช้กฎหมายหมิ่น อำมาตย์ไม่มีความชอบธรรมและไม่มีการเคารพสิทธิเสรีภาพของพลเมืองแต่อย่างใด

การรื้อฟื้นโทษประหารภายใต้รัฐบาลอำมาตย์เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความป่าเถื่อนและไร้มาตรฐานทางกฎหมาย

ท่านผู้อ่านอาจเคยมองว่าโทษประหารมีประโยชน์ต่อสังคมบ้าง แต่ผมขอชวนให้ท่านเปลี่ยนใจ ถ้าท่านคัดค้านโทษประหารมานานแล้ว ขอให้กำลังใจในการรณรงค์ต่อไป

เราควรคัดค้านโทษประหารด้วยสี่สาเหตุสำคัญดังนี้คือ

1. โทษประหารไม่เคยแก้ปัญหาอาชญากรรมได้เลย ข้อมูลจากทั่วโลกพิสูจน์ว่าการมีโทษประหารไม่มีผลในการห้ามไม่ให้มนุษย์ก่ออาชญากรรม เพราะสาเหตุที่คนฆ่าคนอื่น ขายยาเสพติด หรือกระทำความรุนแรงอื่นๆ เป็นเรื่องซับซ้อน ต้องแก้ไขที่สภาพสังคม ต้องมีการสร้างรัฐสวัสดิการและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์จึงจะแก้ไขได้ ดังนั้นโทษประหารเป็นเพียงการ “แก้แค้น” ซึ่งเป็นการฆ่าคนเพื่อความสะใจ ถือว่าป่าเถื่อนและเป็นอาชญากรรมในตัว

2. ในสังคมไทย ทั้งในปัจจุบันและอดีต ผู้ที่ถูกประหารชีวิตหลายคนเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการเสียชีวิตของรัชกาลที่๘ การที่เผด็จการสฤษดิ์ประหารนักสังคมนิยม หรือการประหารชีวิตอย่างไม่เป็นทางการในสงครามยาเสพติดและที่ตากใบหรือกรือเซะในสามจังหวัดภาคใต้ รัฐไทยมีประวัติอันยาวนานในการฆ่าคนบริสุทธิ์ เราต้องยกเลิกโทษประหารเพื่อปกป้องชีวิตคนบริสุทธิ์

3. คนที่ถูกขังคุกและประหารชีวิต ล้วนแต่เป็นคนจน เพราะคนรวย คนใหญ่คนโต ทำอะไรก็ได้ ก่ออาชญากรรมได้ แล้วลอยนวลเสมอ ไม่ว่าจะเป็น สฤษดิ์ ถนอม ประภาส ณรงค์ สุจินดา ฯลฯ ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่รัฐไทยที่ถูกลงโทษจากการกระทำความผิด ไม่เคยมีลูกหลานคนใหญ่คนโตถูกลงโทษ ดังนั้นมันเป็นการใช้กฎหมายในรูปแบบสองมาตรฐานเสมอ

4. การประหารชีวิต ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ถือว่าเป็นการฆ่าคนอย่างเลือดเย็น ดังนั้นเราไม่ควรมองว่าการฉีดยาพิษดีกว่าวิธีอื่นๆ และพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ผู้คุมคุกและรัฐบาลที่รับผิดชอบก็เลวทราม แจ้งนักโทษล่วงหน้าไม่ถึงชั่วโมง เพราะมองว่านักโทษเหล่านี้ไม่ใช่คน พร้อมกับตั้งตัวเองขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ผู้ดีเพื่อพิพากษาว่าตัวเขาเองดีกว่านักโทษ พวกนี้น่าจะพิจารณาตนเองก่อนอื่น

ร่วมกันต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตยแท้ และสังคมอารยะ!!!

Monday 5 October 2009

๖ ตุลา




มองย้อนกลับไปสู่เหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ๒๕๑๙

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในเช้าตรู่ของวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ กองกำลังของรัฐไทย ซึ่งนำโดยตำรวจตระเวนชายแดนจากหัวหิน และสมทบด้วยตำรวจนครบาลจากกรุงเทพฯ ได้ใช้อาวุธสงครามบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ มีการยิงปืนสกัดรถถังและปืนกล กราดใส่นักศึกษาและประชาชนที่ชุมนุมภายในรั้วมหาวิทยาลัย โดยมีการจงใจปิดประตูทุกด้าน เพื่อไม่ให้ใครมีโอกาสออกจากมหาวิทยาลัยและกลับบ้านได้ เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นอาชญากรรมของรัฐอำมาตย์ไทย

ภายนอกรั้วมหาวิทยาลัย กองกำลังอันธพาล ที่มีหน้าตาคล้ายๆพวกเสื้อเหลืองและเสื้อน้ำเงินในยุคนี้ แต่ตอนนั้นเรียกว่า “ลูกเสื้อชาวบ้าน” “กระทิงแดง” และ “นวพล” ได้ลากนักศึกษาออกมาทุบตี แขวนคอ และเผาทั้งเป็น ที่ท้องสนามหลวง พวกนี้เคลื่อนไหวภายใต้การคลั่ง “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ลูกเสือชาวบ้านมีผ้าพันคอที่ราชวงศ์ประทานให้ และเป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นโดยตำรวจตระเวนชายแดน “นวพล” หมายถึงกองกำลังของเบอร์๙ และกระทิงแดงเป็นนักศึกษาอาชีวะที่ถูกจัดตั้งโดยทหารและฝ่ายขวา หลังเหตุการณ์นองเลือดที่ป่าเถื่อนที่สุด ในวันเดียวกัน เจ้าฟ้าชายได้ออกมาให้กำลังใจกับลูกเสือชาวบ้านที่ลานพระรูปทรงม้า นอกจากนี้หลายคนเชื่อว่า จำลอง ศรีเมือง มีบทบาทเบื้องหลังในการฆ่านักศึกษาที่ธรรมศาสตร์อีกด้วย ทุกวันนี้ ราชินี ยังมองย้อนหลังด้วยความภูมิใจ และหวังว่าลูกเสือชาวบ้านจะถูกฟื้นฟูขึ้นมาอีก เพื่อปกป้องราชวงศ์

นักศึกษาและประชาชนที่ชุมนุมภายในธรรมศาสตร์วันนั้น กำลังต่อต้านการกลับมาของเผด็จการทหาร โดยเฉพาะ จอมพลถนอม กิตติขจร เพราะถนอมเคยสั่งฆ่าประชาชนผู้รักประชาธิปไตยที่ออกมาชุมนุมไล่เผด็จการเมื่อสามปีก่อน ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ การนำ ถนอม กลับมาบวชที่วัดบวรนิเวศน์ เป็นแผนของฝ่ายอำมาตย์เพื่อก่อเรื่องทำรัฐประหาร และเพื่อใช้ความรุนแรงปราบปรามนักศึกษาและฝ่ายสังคมนิยมในไทย เราต้องเข้าใจว่านักศึกษาหรือประชาชนที่สนใจการเมืองและต้องการประชาธิปไตยในยุคนั้น เป็นฝ่ายซ้ายสังคมนิยมกันส่วนใหญ่ ในสายตาเขาเผด็จการอำมาตย์ผูกกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนจนกับคนรวย เขาจึงสู้เพื่อประชาธิปไตยและสังคมนิยมพร้อมๆ กัน

ในสามปีหลังการล้มเผด็จการทหารในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ฝ่ายอำมาตย์พยายามตลอด และอย่างถึงที่สุด ที่จะทำลายประชาธิปไตย ขบวนการนักศึกษา ขบวนการชาวนา และขบวนการกรรมกร โดยการก่อตั้งกองกำลังต่างๆ การก่อเหตุรุนแรง การลอบฆ่า การโยนระเบิด และที่สำคัญคือ มีการป้ายร้ายป้ายสีฝ่ายประชาธิปไตยและสังคมนิยมอย่างเป็นระบบ เหมือนกับที่สื่อผู้จัดการทำทุกวันนี้ สื่อสมัยนั้นมีสถานีวิทยุยานเกราะ และหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ก่อนที่จะเกิดอาชญากรรมรัฐอำมาตย์ในวันที่ ๖ สื่อเหล่านี้ได้ประโคมข่าวเท็จว่านักศึกษาธรรมศาสตร์เล่นละครแขวนคอเจ้าฟ้าชาย เพื่อปลุกระดมพวกคลั่งเจ้าให้ไปฆ่านักศึกษา เพลงโปรดของพวกฝ่ายขวาสมัยนั้นคือ “หนักแผ่นดิน” ซึ่งถูกนำมาร้องอีกครั้งโดยพันธมิตรฯในยุคนี้

ในสายตาอำมาตย์ยุคนั้น ประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้ประชาชนต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม ไม่ว่าจะเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ ที่ดินสำหรับเกษตรกร หรือความยุติธรรมในระบบศาลฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นภัยต่อผลประโยชน์อำมาตย์ เขาต้องการโกงกินต่อไป เขาต้องการใช้อภิสิทธิ์ส่วนตัว และเขาไม่อยากให้ประชาชนพัฒนา ดังนั้นในฝ่ายอำมาตย์มีพวกนายพล มีพวกข้าราชการชั้นสูง มีพวกราชวงศ์ มีพวกนายทุนใหญ่ และมีนักการเมืองพรรคอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย โดยเฉพาะในพรรคชาติไทย (ภายใต้ ชาติชาย ชุณหวัน ซึ่งผูกผ้าพันคอลูกเสือชาวบ้านในวันที่ ๖ ตุลา) ส่วนพรรคประชาธิปัตย์สมัยนั้น ก็คัดค้านนักศึกษาและแนวสังคมนิยมด้วย เป็นส่วนหนึ่งของอำมาตย์ด้วย แต่ฝ่ายอำมาตย์สุดขั้วมองว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์อ่อนเกินไปที่ไม่ลงมือปราบนักศึกษาอย่างตรงไปตรงมา สรุปแล้วชนชั้นปกครองไทยทั้งชนชั้น ไม่ว่าจะอยู่ซีกไหน กลุ่มไหน ก็มือเปื้อนเลือดจาก ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ทั้งนั้น

หลังจากที่ถนอมถูกพากลับมาบวชที่วัดบวรฯ กษัตริย์และราชินีก็ไปเยี่ยม ซึ่งส่งสัญญาณว่ากษัตริย์เห็นด้วยกับการปราบนักศึกษาและฝ่ายซ้าย ในเดือนธันวาคมปีนั้น หลังเหตุนองเลือดที่ธรรมศาสตร์ กษัตริย์ออกมาพูดว่ารัฐประหารเป็นสิ่งจำเป็นเพราะสังคมไทยมี “ประชาธิปไตยมากเกินไป” และมันเปิดโอกาสให้นักศึกษาและคนอื่นเรียกร้องอะไรต่ออะไรเพิ่ม ในยุคนั้นกษัตริย์ก็ออกมาวิจารณ์ระบบรัฐสวัสดิการในตะวันตกอีกด้วย โดยอ้างว่ามันทำให้คนขี้เกียจ ยังกับว่าราชวงศ์เคยขยันทำงานเหมือนชาวนาหรือกรรมกร แต่กษัตริย์ไม่ใช่หัวหน้าใหญ่ที่สั่งการปราบนักศึกษา เขามีหน้าที่ในการเปิดไฟเขียวกับเหตุการณ์นองเลือดมากกว่า

อำมาตย์ทั้งแก๊งเห็นสมควรที่จะทำร่วมกันทำลายประชาธิปไตยและแนวสังคมนิยม แต่ในขณะเดียวกันมีการแย่งชิงกันเอง เพื่อยึดอำนาจระหว่างทหารสามฝ่ายและนักการเมืองอีกด้วย ในที่สุดทั้งๆ ที่มีหลายกลุ่มของอำมาตย์ที่ก่อความรุนแรงมาตลอด กลุ่มที่ทำรัฐประหารสำเร็จคือกลุ่มของ พล.อ. บุญชัย บำรุงพงศ์ และ พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ และเขาได้แต่งตั้งนักกฎหมายที่คลั่งเจ้าชื่อ ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายก อย่างไรก็ตามรัฐบาลของ ธานินทร์ ถึงแม้ว่าจะใกล้ชิดวังแค่ไหน ก็อยู่ไม่ได้ ถูกโค่นโดยรัฐประหารอีกรอบภายในหนึ่งปี เพราะเป็นรัฐบาล “ขวาตกขอบ” ซึ่งมี สมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีมหาดไทยที่คอยออกกฎหมายห้ามอ่านหนังสือและเผาหนังสือที่ขัดกับแนวตนเอง มีการเซ็นเซอร์สื่ออย่างหนัก และสมัคร เป็นนักการเมืองที่โกหกเรื่อง ๖ ตุลา มาตลอด ตอนแรกอ้างว่านักศึกษามีอาวุธสงคราม อ้างว่ามีทหารเวียดนามในธรรมศาสตร์ และอ้างว่า ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นคอมมิวนิสต์และให้การเท็จเรื่อง ๖ ตุลา

สำหรับทหารที่ล้มรัฐบาลธานินทร์ ซึ่งถือว่าเป็นรัฐบาลที่ใกล้ชิดวัง ทหารพวกนี้เข้าใจว่าการทำให้สังคมไทยแตกแยกอย่างสุดขั้วภายใต้รัฐบาลขวาตกขอบของธานินทร์ เป็นสิ่งอันตราย เพราะนักศึกษาและประชาชนพากันไปเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์ในป่าเขาต่างๆ ทุกภาค ดีไม่ดีอำมาตย์จะเสียอำนาจไปหมดท่ามกลางสงครามกลางเมือง ดังนั้นมีการพยายามใช้แนวการเมือง พร้อมๆ กับแนวทหาร เพื่อหวังทำลายพรรคคอมมิวนิสต์ นายทหารที่มีบทบาทสูงสุดตรงนี้คือ เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งภายหลังก็ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

หลังจากที่รัฐบาลธานินทร์ถูกล้มโดยรัฐประหาร ฝ่ายทหารก็เริ่มลดบทบาทของลูกเสือชาวบ้าน เพราะกลัวว่าจะคุมไม่ได้ และกลายเป็นเครื่องมือของคู่แข่งทางการเมือง ซึ่งก็ไม่ต่างจากการที่ เนวิน และ สุเทพ ในรัฐบาลปัจจุบัน ต้องการลดบทบาทพันธมิตรฯและสร้างกองกำลังเสื้อน้ำเงินแทน

สมัยนั้นนอกจากกฎหมายหมิ่นแล้ว รัฐบาลอำมาตย์ยังใช้กฎหมายปราบคอมมิวนิสต์อีกด้วย และในช่วงของรัฐบาลเปรม มีการเลือกตั้งในรัฐสภาในรูปแบบที่อำมาตย์ควบคุมอำนาจและเสียงได้ ซึ่งคล้ายระบอบ “การเมืองระเบียบใหม่” ของพันธมิตรฯ

ภาพของอาชญากรรมรัฐอำมาตย์ ในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เป็นภาพที่สะท้อนว่าอำมาตย์พร้อมจะเข่นฆ่าประชาชนเพื่อปกป้องผลประโยชน์และอภิสิทธิ์เสมอ เวลามีกลุ่มคนเสนอให้มีการปฏิรูปการเมืองหรือพัฒนาสวัสดิการ ไม่ว่าจะช่วง ก่อน ๖ ตุลา หรือช่วงก่อน ๑๙ กันยา ๒๕๓๙ ก็จะก่อรัฐประหารเพื่อยับยั้งความเจริญ จะมีสื่อคอยบิดเบือนความจริง และจะพยายามปิดปากผู้รักประชาธิปไตยและผู้ที่เป็นนักสังคมนิยม และถึงแม้ว่าอำมาตย์จะสามัคคีกันในการปราบประชาชน แต่ภายหลังก็หันมาแย่งกระดูกผลประโยชน์กันเหมือนหมาป่า

ตราบใดที่ยังมีอำมาตย์ครองเมือง สังคมไทยจะอยู่ในสภาวะป่าเถื่อนต่อไป

อ่านข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับ ๖ ตุลา ได้ที่ http://www.2519.net/

2519.net ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อกับบทความนี้ของผมแต่อย่างใด