Saturday 30 January 2010

เสื้อแดงคนไทยยูเคเปิดโปง นักวิชาการเหลืองที่ลอนดอน



เสื้อแดงคนไทยยูเคเปิดโปง นักวิชาการเหลืองที่ลอนดอน


เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2553 สถานทูตไทยในอังกฤษได้จัดงาน “แก้ตัวแทนอำมาตย์สร้างภาพความบริสุทธิ์” เพื่อหลอกลวงนักศึกษาไทยและนักวิชาการต่างประเทศ โดยเชิญ สุจิต บุญบงการ และ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาเป่าหูประชาชน ที่ SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน โดยที่ก่อนเข้าห้องสัมมนาสถานทูตมีการแจกโฆษณาชวนเชื่อเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” และบทความของ บวรศักดิ์ ที่สร้างความชอบธรรมให้กับกฎหมายหมิ่นเดชานุภาพ
อย่างไรก็ตามชาวไทยที่รักประชาธิปไตยในอังกฤษได้รวมตัวกันเพื่อเปิดโปงสองโฆษกของอำมาตย์ มีการแจกใบปลิว และมีการตั้งคำถามคมๆจากผู้เข้าฟังหลายคน (แต่ขอไม่แจ้งนามเพื่อปกป้องความปลอดภัย) ในช่วงแรกเจ้าหน้าที่สถานทูตพยายามใช้ยามของมหาวิทยาลัยเพื่อห้ามไม่ให้มีการแจกใบปลิวและเพื่อสกัดกั้นไม่ให้ ใจ อึ๊งภากรณ์ เข้าไปในที่ประชุมแต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ทูตไทยประจำอังกฤษเปิดการประชุมโดยสร้างภาพลวงตาว่าขบวนการเสื้อแดง ไม่ได้เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ และพูดต่อไปว่ากษัตริย์ไทยอยู่เหนือการเมืองมาตลอด
สุจิต บุญบงการ นำการอภิปรายโดยอ้างเช่นเดียวกับทูตว่าคนเสื้อแดงเป็นตัวแทนของคนส่วนน้อยในสังคม ในขณะที่คนส่วนใหญ่เป็น “พลังเงียบ” การวาดภาพสังคมการเมืองไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันของ สุจิต มีลักษณะ “ประหยัดในความจริง” เพราะไม่กล่าวถึงรายละเอียดการยุบพรรค การมีสองมาตรฐานทางกฎหมาย หรือ บรรยากาศการเซ็นเซอร์สื่อ นอกจากนี้ สุจิต ดูเหมือนความจำเสื่อมเพราะเสนอว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่เคยมีในสังคมไทยก่อนหน้านี้ เขาคงลืม ๒๔๗๕ หรือ ยุค ๒๕๑๖-๒๕๒๓
เมื่อถูกตั้งคำถามว่าเห็นด้วยกับกฎหมายหมิ่นฯและกระบวนการของศาลหรือไม่? สุจิต ตอบว่า กระบวนการยุติธรรมในกรณีกฎหมายหมิ่นฯ ดีอยู่แล้ว “เป็นธรรมและจำเป็นต้องปิดศาลในการพิจารณาคดี” (ซึ่งเรามองว่าเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานความโปร่งใสสากล) มีการพูดถึงคณะกรรมการใหม่ที่อภิสิทธิ์ตั้งขึ้นเพื่อทบทวนการใช้กฎหมายหมิ่นฯ เหมือนกับว่าจะสร้างความยุติธรรม แต่นักสิทธิมนุษยชนหลายคนสงสัยว่าวัตถุประสงค์จริงคือการทำให้กฎหมายหมิ่นฯ มีประสิทธิภาพสูงขึ้นต่างหาก สุจิต พูดอีกว่าคนที่ถูกลงโทษในคดีหมิ่นฯสามารถร้องเรียนไปถึงกษัตริย์ได้แต่ลืมบอกว่าในกรณี สุวิชา ท่าค้อ ยังไม่มีคำตอบมาทั้งๆที่ติดคุกมาหนึ่งปีแล้ว และในกรณีที่ผู้ถูกคุมขังยืนยันว่าไม่ได้ทำอะไรผิดจะไปขอขมาทำไม สุจิต จบลงด้วยการเสนอว่าในประเทศไทยเรามีเสรีภาพในการแสดงออกไม่ได้ เพราะเรามีวัฒนธรรมในการรักกษัตริย์ อย่างไรก็ตามคนไทยผู้รักประชาธิปไตยขอมองต่างมุม วัฒนธรรมไทยมีหลายประเภท วัฒนธรรมไทยของสุจิต คือวัฒนธรรมทาสแต่วัฒนธรรมไทยของเราคือวัฒนธรรมของเสรีชน
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ผู้เปลี่ยนเจ้านายตามกระแสลมเพื่อเอาตัวรอดอย่างสม่ำเสมอ พยายามอ้างว่าปัญหาของสังคมมาจากความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนซึ่งต้องเร่งแก้ไข แต่เมื่อถูกถามว่าเขาจะคัดค้านเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ เพราะเป็นลัทธิที่ไม่เห็นด้วยกับการกระจายรายได้ และเป็นลัทธิของคนที่รวยที่สุดในประเทศไทย บวรศักดิ์ ไม่มีคำตอบ ได้แต่โกหกว่าตนเองสนับสนุนให้ไทยเป็นรัฐสวัสดิการ แต่ในประโยคเดียวกันเจ้าพ่อแห่งความเจ้าเล่ห์คนนี้ ได้โจมตีนโยบายสวัสดิการที่เป็นประโยชน์สำหรับคนจนของไทยรักไทย ว่าเป็นการสร้าง “ประเพณีการพึ่งพาในระบบอุปถัมภ์” ในประเด็นระบบอุปถัมภ์นี้มีนักวิชาการชาวอังกฤษคนหนึ่งเถียงว่านโยบายของไทยรักไทยไม่ถือว่าสร้างระบบอุปถัมภ์ เมื่อ บวรศักดิ์ ถูกตั้งคำถามว่าทำไมในประเทศไทยถึงมีการใช้สองมาตรฐานทางกฎหมาย เขาตอบว่า “ไม่จริง” และถ้ามีปัญหานี้ก็เป็นเพราะตำรวจไม่ทำตามหน้าที่ บวรศักดิ์ ชื่นชมระบบผู้พิพากษาและศาลจนน้ำลายหยด
เมื่อ บวรศักดิ์ ถูกตั้งคำถามในเรื่องคดีหมิ่นฯ และเสรีภาพในการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับกองทัพ โดยที ใจ อึ๊งภากรณ์ เสนอความเห็นส่วนตัวว่ากษัตริย์ ภูมิพล อ่อนแอ ไม่มีคุณสมบัติที่จะนำการทำรัฐประหารได้ ในขณะที่ไม่เคยปกป้องประชาธิปไตยเลย แต่ถูกทหารอ้างถึงเพื่ออาศัยความชอบธรรมจากกษัตริย์ในการทำรัฐประหาร บวรศักดิ์ เริ่มแสดงออกอาการฉุนเฉียวพร้อมกล่าวหาเท็จว่า ใจ อึ๊งภากรณ์ เขียนและพูดว่ากษัตริย์เป็นผู้สั่งให้มีรัฐประหาร อย่างไรก็ตามเมื่อมีการพิสูจน์ว่าคำพูดของ บวรศักดิ์ เป็นคำพูดเท็จ และมีการตั้งข้อสงสัยในเรื่องความสามารถทางภาษาของเขา เขาฟิวส์ขาดในทันทีและท้าให้ ใจ มาดีเบทกับเขาเป็นภาษาไทย ใจ อึ๊งภากรณ์ ยินดีรับคำท้านี้ และคนไทยรักประชาธิปไตยในอังกฤษพร้อมจะจัดเวที ให้มีการถกเถียงดังกล่าวกับ บวรศักดิ์ ขอให้เขาเพียงแต่แจ้งมาว่าเขาพร้อมจะร่วมเวทีนี้ที่อังกฤษเมื่อไหร่
ในหนังสือ “ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ของบวรศักดิ์ ที่แจกให้คนเข้าฟัง บวรศักดิ์ พยายามสร้างภาพเท็จว่าประเทศอื่นมีกฎหมายคล้ายๆกัน แต่ผู้แทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนของนักเขียน (PEN) ชี้แจงก่อนหน้านี้ว่ากฎหมายนี้ถูกยกเลิกไปแล้วในอังกฤษโดยที่ ราชินีอังกฤษเซ็นยกเลิกเอง บวรศักดิ์ พยายามอ้างว่าประเทศไทยมี “วัฒนธรรมพิเศษ” ที่ทำให้ไทยเป็นทาสและหมอบคลานต่อ “พระพุทธเจ้าหลวง” หรือ “พ่อที่ปกครองลูก” และยังมีการพูดถึงธรรมราชาซึ่งหมายถึงกษัตริย์ที่ปกครองด้วยธรรมะ (การปกครองด้วยธรรมะ คงหมายถึงการเซ็นรับรองการทำรัฐประหาร?)
ในงานเสวนาครั้งนี้ มีวิทยากรที่เป็นนักวิชาการอังกฤษสองคนมาร่วมเสนอ และทั้งสองคนมองว่ากฎหมายหมิ่นฯ มีปัญหา คนที่น่าสนใจที่สุดคือ Duncan McCargo ซึ่งอธิบายว่าปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ เป็นปัญหาของการรวมศูนย์การปกครองโดยไม่คำนึงถึงวัฒนธรรมและประเพณีที่หลากหลาย ประเด็นที่น่าคิดคือหลายๆฝ่ายในประเทศไทยรวมทั้งทหารและนักการเมือง ยอมรับว่านี่คือปัญหาจริง แต่ไม่มีใครกล้าเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นรูปธรรม และDuncan ยังพูดถึงบรรยากาศโดยทั่วไปในไทยว่าประชาชนตกอยู่ในความกลัวและไม่มีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น
ในใบปลิว ของ ใจ อึ๊งภากรณ์ ที่แจกไปในงานเสวนาครั้งนี้ มีการเรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษการเมืองในประเทศไทย และอธิบายว่า ปัจจุบันนี้การเรียกร้องประชาธิปไตยและการพูดความจริงกลายเป็นอาชญากรรม มีการใช้กฎหมายหมิ่นฯกระจายไปทั่วและการพยายามเซ็นเซอร์สื่ออย่างเบ็ดเสร็จ นอกจากนี้มีการพูดถึงระบบสองมาตรฐานในศาลที่ยุบพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด มีการร่างรัฐธรรมนูญของทหารที่ให้ความชอบธรรมกับรัฐประหารและระบุว่าจะต้องมีการเพิ่มงบประมาณทหารในการขณะที่ต้องจำกัดงบประมาณทางสังคม ใบปลิวนี้เสนอว่าพวกที่สนับสนุนรัฐประหาร ๑๙ กันยา ดูถูกปัญญาของคนจนและต้องการหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคอดีตที่มีแต่การซื้อขายเสียงของพรรคการเมือง โดยไม่สนใจประชาชน ทางออกที่จะแก้ปัญหาสำหรับสังคมไทยคือ เราต้องเอาประชาธิปไตยกลับมา เราต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯและกฎหมายคอมพิวเตอร์ ต้องตัดกำลังกองทัพ และนำผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาลงโทษ ประเทศไทยควรจะเป็นรัฐสวัสดิการและสาธารณรัฐประชาธิปไตย

Tuesday 26 January 2010

คนเสื้อแดงไม่ควรเลือกเส้นทางการต่อสู้ของทหารหรือนักการเมืองอันธพาล เสธ. แดง พัลลภ ปิ่นมณี หรือ เฉลิม อยู่บำรุง ไม่ใช่คำตอบ


คนเสื้อแดงไม่ควรเลือกเส้นทางการต่อสู้ของทหารหรือนักการเมืองอันธพาล
เสธ. แดง พัลลภ ปิ่นมณี หรือ เฉลิม อยู่บำรุง ไม่ใช่คำตอบ
ใจ อึ๊งภากรณ์

ขบวนการคนเสื้อแดงเป็นขบวนการมวลชนเพื่อประชาธิปไตยแท้ สิ่งนี้พวกเราไม่ควรลืม ขบวนการมวลชนเสื้อแดงประกอบไปด้วยชาวบ้านชาวเมืองทุกวัย ส่วนใหญ่เป็นคนจนมากกว่าที่จะเป็นคนชั้นกลางหรือคนรวย เราต่อสู้เพื่อล้มอำมาตย์ เพราะอำมาตย์เป็นพวกอภิสิทธิ์ชนที่ใช้ความรุนแรงในการปล้นประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางสังคมจากพลเมืองไทย อำมาตย์มีความสุขกับความเหลื่อมล้ำและการใช้เส้นใช้สายกอบโกยผลประโยชน์ พวกเราออกมาเคลื่อนไหวเพราะเราเริ่มเข้าใจว่าถ้าเราไม่ออกมาสู้หรือถ้าเราปล่อยให้คนไม่กี่คนสู้ เราจะไม่ชนะและเราจะเป็นทาส

ฝ่ายอำมาตย์และกองเชียร์ของอำมาตย์ในหมู่ชนชั้นกลาง ซึ่งอ้างว่าตัวเองฉลาดมีการศึกษา ย่อมดูถูกประชาชนเป็นธรรมดาว่า “โง่” “เข้าไม่ถึงข้อมูล” “ไม่เข้าใจประชาธิปไตย” “ทำอะไรเองไม่ได้” หรือมีการป้ายร้ายว่า “ถูกทักษิณซื้อ” คนเสื้อแดงจำนวนมากรัก ทักษิณ แต่รักด้วยเหตุผลเพราะ ทักษิณ เป็นนายกคนแรกที่เอาใจใส่ชีวิตคนจน ความรักนี้มีเหตุผลมากกว่าการรัก ภูมิพล หลายเท่า เพราะ ภูมิพล ไม่เคยทำอะไรให้พลเมืองส่วนใหญ่ มีแต่การเข้าข้างทหารเผด็จการและการสอนให้คนจนอยู่อย่างสงบท่ามกลางความยากจนในขณะที่ ภูมิพล และราชวงศ์ร่ำรวยมหาศาล

สรุปแล้วขบวนการคนเสื้อแดงเป็นขบวนการของ “คนดีคนธรรมดาของสังคม” เราเชื่อมั่นว่ามวลชนปลดแอกตนเองได้ เพราะเราไม่ใช่วัวหรือควาย เราไม่ต้องรอให้คนอื่นมาปลดแอกเรา

พลเมืองไทยเจ็บปวดมานาน ตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา และการเบ่งอำนาจของอำมาตย์ อำมาตย์และพันธมารฯ ใช้ทุกวิธีทางเลวทรามที่จะทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเรา และแน่นอนปัญหาใหญ่ที่เผชิญหน้าเราทุกวันคือ เราจะล้มอำมาตย์อย่างไร

ในการต่อสู้ทุกยุคทุกสมัยมีการถกเถียงเรื่องแนวทาง มีการเดินหน้าและถอยหลัง บ่อยครั้งท่ามกลางการถกเถียงเราอาจได้ยินคนเสนอว่า “วิธีการไม่สำคัญ ขอให้ได้ผลก็แล้วกัน” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “the end justifies the means” แต่ความคิดแบบนี้เป็นความคิดที่ผิดพลาดมหาศาล เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง วิธีที่เราใช้ในการต่อสู้มีสายใยผูกพันกับผลเสมอ ไม่แตกต่างจากการขึ้นรถไฟ ถ้าขึ้นรถไฟไปหาดใหญ่ เราไม่มีวันไปถึงเชียงใหม่ได้ มันคนละทาง ถ้าเราชาวเสื้อแดงต้องการประชาธิปไตยแท้ที่ไม่มีอำมาตย์ ไม่มีผู้ใหญ่ที่ใช้เส้นสาย ถ้าเราต้องการสังคมที่เคารพพลเมืองทุกคน และมองว่าพลเมืองจำนวนมากที่ยากจนต้องมีส่วนร่วม เพื่อกำจัดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เราไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกับอำมาตย์ในการต่อสู้ได้ เราต้องใช้วิธีประชาธิปไตย

วิธีประชาธิปไตย ไม่ได้แตกต่างจากวิธีของอำมาตย์ในเรื่องความรุนแรง ความดุเดือด ความเข้มข้น หรือความกล้าหาญแต่อย่างใด แต่จะแตกต่างในแง่ของวิธีการใช้สิ่งเหล่านั้น วิธีอำมาตย์งอกมาจากผลประโยชน์ของคนชั้นสูงซึ่งเป็นคนส่วนน้อย เขาเลยใช้ความรุนแรงของกองกำลังคนส่วนน้อยที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเขา (ทหารนั้นเอง) นอกจากนี้เขาใช้อำนาจเงินและอำนาจการเมืองเพื่อควบคุมสื่อและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทั้งหมดกระทำไปโดยไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่มีสิทธิเสรีภาพ และไม่มีส่วนร่วม เวลาเขาใช้ม็อบก็เป็นม็อบคนชั้นกลางหรือม็อบรับจ้าง แนวคิดของอำมาตย์ย่อมเป็นแนวที่กำหนดจากเบื้องบนและสั่งลงมา และมักเป็นเรื่องหลอกลวงเพราะอำมาตย์เป็นคนส่วนน้อยที่อยากจะหลอกคนส่วนใหญ่เนื่องจากผลประโยชน์เขาขัดกับคนส่วนใหญ่เสมอ นั้นคือวิธีการของอำมาตย์ ผลคือการครองอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของคนส่วนน้อยที่กดขี่ขูดรีดคนส่วนใหญ่

วิธีการประชาธิปไตย เน้นเสรีภาพ ความโปร่งใส การถกเถียงแลกเปลี่ยนด้วยปัญญา และที่สำคัญที่สุดคือมีการรวมตัวกันของมวลชนจำนวนมาก เป็นแสนเป็นล้าน ด้วยความสมัครใจ ในไทยมีการต่อสู้แบบประชาธิปไตยประชาชนในช่วง ๒๔๗๕, ๑๔ ตุลา และพฤษภา๓๕ ตรงนี้ชัดเจน เพราะมวลชนพลเมืองธรรมดาออกมาสู้อย่างที่เห็นได้ชัด และเป้าหมายก็ชัดคือ ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การต่อสู้ในช่วงพฤษภา ๓๕ ยังทำให้นักการเมืองไทยรักไทยเข้าใจอีกว่าเขาต้องมองคนจนในมิติใหม่ คือการเป็นผู้ร่วมพัฒนาประเทศ แม้แต่การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็เป็นวิธีการแบบประชาธิปไตยในหลายแง่มุม เพราะมีการให้ความสำคัญกับมวลชน และมีเป้าหมายเพื่อโค่นอำมาตย์และลดความเหลื่อมล้ำ

เวลาอำมาตย์ใช้กองกำลังและอาวุธ มันเป็นการกระทำของคนส่วนน้อย มันดูเหมือนมีระเบียบวินัย เพราะเป็นการกระทำของกองทัพภายใต้คำสั่งของผู้ใหญ่ รถถังออกมา ทหารออกมา และกราดยิงประชาชน สื่อก็ร่วมด่าประชาชน ฯลฯ แต่เวลาประชาชนใช้กองกำลังและอาวุธในวิธีประชาธิปไตย มันวุ่นวาย มันมีชีวิต มันมีความหลากหลายและเสรีภาพ ลองนึกภาพคนเสื้อแดงยึดรถถังเมื่อปีที่แล้ว ลองนึกภาพการบุกเข้าไปในการประชุมที่พัทยา ลองนึกภาพการไปด่าประท้วงอภิสิทธิ์หรือคนอื่นในจังหวัดต่างๆ เราจะเห็นความต่าง การปฏิวัติของประชาชนจะเป็นแบบนี้ แต่มันมีพลังมหาศาลเพราะมวลชนเรามากกว่าและเราครองใจคนส่วนใหญ่ได้ ในสถานการณ์แบบนี้พี่น้องทหารและตำรวจระดับล่างจะมีความมั่นใจและจะเปลี่ยนข้างมาอยู่ฝ่ายเรา แต่ที่สำคัญคือประชาชนจะนำทหาร ไม่ใช่ทหารนำประชาชน และจะมีการต่อสู้ภายใต้อุดมการณ์

วิธีการต่อสู้แบบประชาธิปไตย เป็นวิธีการที่กระทำภายใต้อุดมการณ์แห่งเสรีภาพและความเป็นธรรม มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจในสังคม ไม่ใช่เปลี่ยนจากอำมาตย์ “ก” ไปสู่อำมาตย์ “ข” และเพื่อรับประกันว่าจะเกิดประชาธิปไตยจริง มวลชนจำนวนมากต้องมีส่วนในการนำ ในการเคลื่อนไหว และในการเป็น “เจ้าของ” การต่อสู้ ไม่ใช่ปล่อยให้คนหยิบมือเดียวทำให้แทน นี่คือสาเหตุที่วิธี “ก่อการร้าย” เช่นการวางระเบิด การลอบยิง ฯลฯ เป็นวิธีการที่สวนทางกับวิธีประชาธิปไตย ยิ่งกว่านั้นการก่อการร้ายนำไปสู่การปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดโดยอำมาตย์ จุดจบคือขบวนการประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถูกทำลาย มันมีบทเรียนจากหลายๆ ประเทศเช่น ญี่ปุ่น อิตาลี่ ปาเลสไตน์ ฯลฯ

วิธีการ “ก่อการร้าย” เป็นหนึ่งในแนวทางของคนที่จะหาทางลัดท่ามกลางการต่อสู้ที่ยากลำบาก แต่ทางลัดนี้เปรียบเสมือนทางเข้าซอยเล็กๆ ในกรุงเทพฯ ที่จบลงด้วยทางตัน ในขณะนี้คนเสื้อแดงบางส่วนกำลังหาทางลัดแบบนี้ เพราะไม่มั่นใจในการนำของแกนนำเสื้อแดง และมองไม่ออกว่าจะชนะอย่างไร ผมเองและคนเสื้อแดงหลายกลุ่มหลายคน มองว่าเราต้องสู้เพื่อระบบประชาธิปไตยสาธารณรัฐ เราต้องตัดอำนาจกองทัพ และเราต้องใช้มวลชนในการกดดันต่อสู้และยึดอำนาจ แกนนำสามเกลออาจมองต่างมุมบ้าง แต่สามเกลอก็มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย เขามีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้มีการสร้างมวลชนเสื้อแดงแต่แรก และเวลาเขาเคลื่อนไหวเขาจะเน้นมวลชน

แต่ปัญหาคือในขบวนการเสื้อแดงมีคนที่หาทางลัดที่เป็นทางตัน เขาเชิดชูทหารอันธพาล อย่าง เสธ.แดง หรือ พัลลภ ปิ่นมณี ซึ่งเป็นคนที่ไม่เคยแสดงอุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่เคยเสนอว่าเราต้องมีสวัสดิการเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ไม่เคยพูดถึงการปฏิรูปสังคมอย่างจริงจัง ไม่เคยต่อต้านระบบกษัตริย์ และแถมมีประวัติในการเป็นอันธพาลหรือในการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการฆ่าประชาชน(ในกรณีพัลลภ ปิ่นมณี) คนเหล่านี้ โดยเฉพาะ เสธ.แดง ใช้วิธีการของกองกำลังลับๆ ที่มีส่วนคล้ายการก่อการร้าย พวกเราฟังเขาพูดแล้วอาจ “มัน” ฟังเสียงระเบิดแล้วอาจ “สะใจ” แต่หลังจากที่ควันระเบิดจางหายไป เราจะพบว่าเป้าหมายประชาธิปไตยแท้ไม่ได้มาถึงแต่อย่างใด เพียงแต่มีคนบาดเจ็บตาย ร้ายสุดก็กลายเป็นข้ออ้างในการปราบคนเสื้อแดง และดีที่สุดก็แค่มีการเปลี่ยนบุคลากรข้างบน โดยที่โครงสร้างสังคมไม่ได้เปลี่ยนเลย ที่เอ่ยถึงชื่อ เสธ. แดงในครั้งนี้ ไม่ได้แปลว่าผมเห็นด้วยกับการที่อำมาตย์จะกลั่นแกล้งเขาด้วยกฎหมายสองมาตรฐานแต่อย่างใด แต่เพื่อเสนอว่าเราไม่ควรเดินตามแนวของเขาต่างหาก เพราะมันเป็นทางตันที่จะจบด้วยโศกนาฏกรรม

คนเสื้อแดงบางส่วนเลือกทางลัดที่เป็นทางตันในรูปแบบนักการเมืองอันธพาลด้วย นักการเมืองพวกนี้ถูกเลือกมาเพราะบางคนคิดว่าหัวแข็ง ปากจัด ไม่กลัวใคร แต่นั้นเป็นคุณสมบัติเพียงพอจริงหรือ? การเลือกคุณสมัครมาเป็นหัวหน้าพรรค ทั้งๆ ที่คุณสมัครเคยรับใช้เผด็จการและมีส่วนในเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา มีปัญหา แย่กว่านั้นการทำงานร่วมกับนักการเมืองอันธพาลแบบ เฉลิม อยู่บำรุง ก็มีปัญหามาก มันไม่ช่วยให้ประชาธิปไตยเกิดเร็วขึ้นแต่อย่างใด

การหาทางลัดกับอันธพาลจะสร้างอุปสรรค์กับประชาธิปไตย และที่สำคัญมันเสี่ยงกับการทำให้ขบวนการเสื้อแดงมีลักษณะคล้ายๆ พันธมารฯ เราเคยวิจารณ์การ์ดพันธมารฯว่ามันเป็นโจร แล้วภาพของนักรบพระเจ้าตากจะเป็นอย่างไร? เรามีการเปิดโปงความชั่วของนักการเมืองฝ่ายอำมาตย์ แล้วนักการเมืองฝ่ายเราดีงามทุกคนหรือไม่? เราไม่ควรใช้วิธีการและสองมาตรฐานเหมือนอำมาตย์ใช้ ผมไม่ใช่พวก “สองไม่เอา” ที่หาความบริสุทธิ์โดยไม่เลือกข้างแล้วตั้งตัวขึ้นมาเป็นผู้พิพากษา ผมเลือกเป็นคนเสื้อแดง เพราะขบวนการคนเสื้อแดงไม่เหมือนพันธมารฯ และอำมาตย์

ทางลัดคือทางตัน เราต้องสู้เพื่ออุดมการณ์ด้วยวิธีอุดมการณ์

Thursday 21 January 2010

ทำไมนายวชิราลงกรณ์ไม่สมควรที่จะเป็นประมุข

ทำไมนายวชิราลงกรณ์ไม่สมควรที่จะเป็นประมุข
ใจ อึ๊งภากรณ์


ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงรัชกาล คนไทยจำนวนมากคงไม่สบายใจเป็นอย่างมากที่ดูเหมือนว่าเจ้าฟ้าชายจะขึ้นมาเป็นประมุขของประเทศ ถ้า นายวชิราลงกรณ์ ถือเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่มีบทบาทสาธารณะ เราคงจะไม่แสดงความเห็นหรือพิพากษาเขา นอกจากจะมีกรณีที่ก่ออาชญากรรมหรือละเมิดสิทธิของคนอื่น แต่การเป็นประมุข ถือว่าเป็นตำแหน่งสาธารณะ และเป็นตัวแทนของสังคมเราอีกด้วย เราต้องมีความเห็น ถ้าเราไม่ใช่ทาส
ประมุขมีไว้ทำไม? ถ้าศึกษาประมุขโดยทั่วไป ประมุขอาจมีอำนาจไม่มากก็น้อย อาจมีหน้าที่เชิงพิธีกรรมหรือสัญลักษณ์ หรืออาจถูกอ้างว่าเป็นศูนย์รวมของชาติบ้านเมือง ถ้าประมุขมีอำนาจการเมืองจริง เช่นประธานาธิบดี คนนั้นควรจะมาจากการเลือกตั้งตามระบบประชาธิปไตย เพราะอำนาจอธิปไตยควรอยู่ในมือของประชาชน ไม่ใช่ในมือของเผด็จการหรือคนที่บังเอิญเกิดมาในตระกูลหนึ่ง การมีฐานะพิเศษที่นำไปสู่อำนาจพิเศษในสังคมอันเนื่องมาจากการเป็นลูกใคร ต้องถือว่าเป็นการคอร์รับชั่นชนิดหนึ่ง ซึ่งเห็นในประเทศล้าหลังอย่างเกาหลีเหนือ หรือเผด็จการในประเทศด้อยพัฒนาทั่วไป ถ้านายวชิราลงกรณ์จะขอเป็นประมุขที่มีอำนาจ เขาควรจะลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยไม่มีสิทธิพิเศษ และจะต้องแข่งกับผู้อื่นที่เสนอตัวมาตามกติกาประชาธิปไตย
ถ้าประมุขมีบทบาทเชิงพิธีกรรม สัญลักษณ์ หรือเป็นจุดรวมของชาติบ้านเมืองเท่านั้น อย่างกษัตริย์ยุโรปหรือญี่ปุ่น ประมุขควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคมนั้นๆ เป็นสัญลักษณ์ของสังคมตามที่ประชาชนต้องการ ถ้าเราเข้าใจประเด็นเหล่านี้เราจะเข้าใจว่าทำไมนายวชิราลงกรณ์ไม่สมควรจะเป็นประมุข และควรจะมีการปรับสภาพเป็นพลเมืองธรรมดาแทน
นายวชิราลงกรณ์ เป็นคนที่เรียนไม่เก่ง หรืออาจไม่สนใจเรียนก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นพลเมืองธรรมดาก็ไม่ควรไปว่ากันตรงนั้น แต่ถ้าจะเป็นประมุขก็ควรสนใจบ้านเมืองและสนใจเรียนและศึกษาเรื่องปัญหาบ้านเมือง ควรสามารถพูดคุยกับคนที่มีตำแหน่งทางการเมือง ทั้งภายในและภายนอกประเทศได้ ด้วยสติปัญญา แต่นายวชิราลงกรณ์ทำไม่ได้ ไม่เชื่อก็ไปถามคนในวงการทูตก็ได้ นอกจากนี้ประมุขควรปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่ในเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ นายวชิราลงกรณ์ไปให้กำลังใจกับลูกเสือชาวบ้านที่ก่อความป่าเถื่อนในวันนั้น
ประมุขควรจะเป็นคนที่มีมารยาทระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในกิจกรรมทางการ แต่นายวชิราลงกรณ์เคยสร้างปัญหาทางการทูตกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเพราะไม่พอใจในเรื่องส่วนตัว นำเครื่องบินที่ตนเองขับไปปิดกั้นเครื่องบินของนายกญี่ปุ่นที่ดอนเมือง และในงานเลี้ยงครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งก็ปล่อยให้หมาของตนเองวิ่งไปมาบนโต๊ะอาหาร ปล่อยให้หมาดมและเลียอาหารในจานของแขกผู้รับเชิญที่มีเกียรติ์ ทั้งไทยและต่างประเทศ โดยที่ไม่มองว่าเป็นการกระทำที่ผิดแต่อย่างใด แสดงว่าไร้คุณสมบัติ ตรงนี้เราไม่พูดถึงข่าวลือต่างๆ นาๆ เรื่องการใช้ความรุนแรงและการเป็นเจ้าพ่อนักเลง ซึ่งควรจะนำมาตรวจสอบอย่างเปิดเผยและเป็นธรรมก่อนที่จะรับตำแหน่งสาธารณะใดๆ
ถ้านายวชิราลงกรณ์จะเป็นประมุขเชิงสัญลักษณ์ของไทย เขาจะเป็นตัวแทนของสตรีไทย 30 กว่าล้านคน ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของสังคม เราต้องพิจารณาภาพของนายวชิราลงกรณ์เกี่ยวกับทัศนะต่อสตรี ในสายตาคนไทยและคนต่างประเทศ
การที่นายวชิราลงกรณ์หลงรักหรือหลงใคร่ผู้หญิงหลายคน ไม่ควรเป็นเรื่องผิด และควรเป็นเรื่องส่วนตัว ถ้าเขาอยากถ่ายรูปแฟนเขาเปลือยกายเพื่อเก็บไว้ดูเอง ก็ไม่น่าจะผิดและน่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวอีก แต่ประเด็นที่เราควรพิจารณาคือ นายวชิราลงกรณ์ ในฐานะ “เตรียมประมุข” เป็นคนที่เคารพผู้หญิงหรือไม่ ตรงนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับตำแหน่งประมุขในเชิงสัญลักษณ์ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแล้ว มันควรเป็นเรื่องที่สาธารณะพิจารณา
นายวชิราลงกรณ์เคยนั่งดื่มไวน์และกินข้าวริมสระน้ำกับแฟนเขา ตรงนั้นไม่แปลก แต่ที่แปลกคือแฟนเขาแก้ผ้าหมด ในขณะที่เขาสวมเสื้อผ้า และที่ยิ่งแปลกและน่ากังวลคือคนรับใช้ผู้ชายแต่งชุดราชการ และมีคนอื่นถ่ายรูปทั้งวิดีโอและภาพนิ่ง แค่นั้นไม่พอ มีการให้แฟนตนเองเปลือยกายคลานกับพื้นเพื่อรับขนมจากมือนายวชิราลงกรณ์ เหมือนเอาอาหารให้หมากิน ภาพนี้ ซึ่งปวงชนชาวไทยจำนวนมากได้แลเห็นไปแล้ว เป็นภาพที่สะท้อนการไม่เคารพเพศสตรีของนายวชิราลงกรณ์ และประกอบกับการปล่อยภาพเปลือยกายของสตรีคนอื่นๆที่นายวชิราลงกรณ์คบ ต้องถือว่าเป็นการล่วงละเมิดทางเพศผ่านการมีเงินและอำนาจ ตรงนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่นายวชิราลงกรณ์ไม่ควรเป็นประมุข ไม่ควรมีอำนาจ และไม่ควรมีอิทธิพลเหนือผู้หญิงหรือประชาชนทั้งปวงในประเทศไทย
อย่าลืมว่าผู้เป็นแม่ เอ็นดูและยกโทษให้ลูกชายตนเองเสมอ ซึ่งไม่แปลก แต่ไม่สมควรในคนที่อยู่ในแวดวงประมุข อย่าลืมว่าแม่กับลูกใกล้ชิดกัน และอย่าลืมว่าแม่และลูกสาวเขา ได้ไปงานศพพันธมิตรฯที่ก่อความรุนแรงและทำลายประชาธิปไตย อย่าลืมอีกว่าผู้เป็นพ่อไม่ยอมออกมาตักเตือนลูกชายตนเอง ทั้งๆ ที่รู้ว่ามีการผลักดันลูกชายให้เป็นประมุขคนต่อไป
อย่าลืมอีกว่าในสังคมอำมาตย์ของไทย ประชาชนถูกบังคับให้ยืนเคารพประมุข ถูกบังคับให้หมอบคลาน ถูกบังคับให้ใช้ภาษาพิเศษ ถูกบังคับให้เสียภาษีเพื่อวิถีชีวิตอันร่ำรวยของประมุข ถูกบังคับให้เดือดร้อนเพราะมีการปิดถนนให้เขาเดินทางอย่างสะดวกสบาย และถูกบังคับให้ท่องในห้องเรียนว่าประมุขเป็นคนดีวิเศษ แต่นายวชิราลงกรณ์ไม่ใช่คนดีวิเศษ และไม่ใช่แบบอย่างสำหรับนักเรียนในโรงเรียน
ถ้าพิจารณาตรงนี้จะเห็นว่าการตั้งความหวังไว้กับรัชกาลต่อไป ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี โดยคุณทักษิณหรือคนอื่น น่าจะเป็นสิ่งผิดพลาด ยกเว้นว่าจะมีการมองว่านายวชิราลงกรณ์จะขอพัก ขอลาออก ขอไม่เป็นประมุข ขอเป็นบุคคลธรรมดาและอยู่อย่างเงียบๆ และในช่วงนั้นมีการปรับปรุงประชาธิปไตยให้เต็มใบ

สงสารและเห็นใจแฟนของนายวชิราลงกรณ์เถิด
เวลาท่านเห็นภาพริมสระน้ำ หรือภาพเปลือยกายของเหล่าแฟน หรือ “หม่อม” ของนายวชิราลงกรณ์ โปรดอย่าด่าผู้หญิง โปรดเข้าใจว่าใครมีอำนาจตรงนั้น โปรดให้อภัยสตรีน้อยๆ ผู้ตัดสินใจผิด โปรดอย่าไปว่าคนที่โชว์ร่างเปลือยอันงาม เพราะนั้นก็ไม่ใช่อาชญากรรม

ทำไมมีการปล่อยภาพแบบนี้ออกมา? ต้องตอบอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่มีข้อมูลหลักฐานพอที่จะตอบได้ ได้แต่เดาเอา ที่แน่นอนคือมันไม่ใช่อุบัติเหตุ เพราะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายปี ดังนั้นอาจเป็นวิธีควบคุมผู้หญิงให้หมดศักดิ์ศรีและพึ่งพานายวชิราลงกรณ์คนเดียว หรืออาจเป็นการที่นายวชิราลงกรณ์อยากจะอวดว่าได้ผู้หญิงสวยๆ มาหลายคนก็ได้ หรือเขาอาจมีทัศนะว่า “กูจะทำแล้วทำไม?” พยายามสร้างภาพว่าไม่มีใครแตะได้ แต่ทั้งหมดเป็นการเดาเท่านั้น และการเดาใจคนที่น่าจะผิดเพี้ยนเคารพคนอื่นไม่เป็นทำยาก ซึ่งน่าจะหมายความว่านายวชิราลงกรณ์ไม่สมควรเป็นประมุข

นายวชิราลงกรณ์ควรจะเป็นพลเมืองธรรมดา ควรจะหางานทำ ควรจะเสียภาษี และควรจะทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดี และหลังจากนั้นเขาจะมีพฤติกรรมอะไรในบ้านเขาก็น่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว