Monday 29 March 2010

ความเห็นต่อการเจรจารอบสองระหว่างรัฐบาลกับคนเสื้อแดง

ความเห็นต่อการเจรจารอบสองระหว่างรัฐบาลกับคนเสื้อแดง
ใจ อึ๊งภากรณ์

อภิสิทธิ์ปฏิเสธข้อเรียกร้องว่าต้องยุบสภาใน 15 วัน แถมยังเพิ่มเงื่อนไขมาว่าต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อนที่จะจัดการเลือกตั้งได้ นอกจากนี้มีการเสนอว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ และจัดประชามติก่อนที่จะยุบสภา พูดง่ายๆ มีการยืดเวลาออกไปอย่างน้อย 9 เดือนและอาจยืดไปถึงหนึ่งปีเก้าเดือน ครบวาระรัฐบาลเถื่อนพอดี พร้อมกันนั้นอภิสิทธิ์ก็โกหกตามเคยว่าไม่มี “สองมาตรฐาน” ในการใช้กฎหมายในเมืองไทย
วันนี้ฝ่ายเราดูเหมือนอ่อนแอกว่าวันก่อน เราไม่ได้อะไรเลยจากการเจรจา
อภิสิทธิ์ท้าโดยถามว่าเราควรจะให้มีประชามติว่าควรยุบสภาหรือไม่ จริงๆ แล้วฝ่ายเสื้อแดงควรรับคำท้านี้โดยเสนอให้มีประชามติทันทีให้เลือกระหว่างข้อเสนอของเสื้อแดงและของอภิสิทธิ์
ประเด็นที่เราต้องจับตาตรวจสอบต่อไปคือ ฝ่ายรัฐบาลเสนอให้คุยต่อในอนาคตในที่ลับ ถ้าแกนนำเสื้อแดงรับข้อเสนอนี้อาจจะเป็นการถอยหลังเพื่อหาทางยอมจำนน
ในสถานการณ์แบบนี้ คนเสื้อแดงจะต้องเพิ่มความเข้มข้นในการชุมนุม ไม่ว่าจะกลับบ้านไปพักผ่อนก่อนหรือไม่ การเพิ่มความเข้มข้นหมายความว่าเราต้องเพิ่มข้อเรียกร้องทางการเมือง โดยเฉพาะเรื่องปากท้องที่เป็นประโยชน์กับคนจน ต้องขยายฐานมวลชนสู่สหภาพแรงงานและนายทหารระดับล่าง และต้องเริ่มเผยตัวมากขึ้นว่าเราไม่จงรักภักดีต่อระบบอำมาตย์และพร้อมจะสู้ระยะยาวเพื่อล้มมัน
อย่างไรก็ตาม ผมไม่เห็นด้วยกับจุดยืน อ.สุรชัย ที่ใช้เรื่องส่วนตัวด่าแกนนำสามเกลอ โดยไม่เสนอทางออกเป็นรูปธรรมสำหรับคนเสื้อแดง และโดยไม่พยายามรักษาความสามัคคี การวิจารณ์แบบนั้นท่ามกลางการต่อสู้ของมวลชนเป็นเรื่องที่ผิดพลาดและทำให้แนวปฏิวัติของสยามแดงเสียการเมือง คนเสื้อแดงที่อยากโค่นล้มอำมาตย์ควรตัดความสัมพันธ์กับอ.สุรชัย

Sunday 28 March 2010

การเจรจาระหว่าง นปช. กับ อภิสิทธิ์

การเจรจาระหว่าง นปช. กับ อภิสิทธิ์
ใจ อึ๊งภากรณ์

การเจรจาระหว่าง นปช. กับอภิสิทธิ์ มีจุดเด่นตรงที่มันเป็นผลของการประท้วงครั้งยิ่งใหญ่ของเสื้อแดง และที่น่าทึ่งคือพลังเสื้อแดงสามารถบังคับให้อภิสิทธิ์เจรจาถ่ายทอดสดต่อหน้าประชาชน ทำให้เรานึกถึงภาพการเจรจาถ่ายทอดสดระหว่างรัฐบาลเผด็จการคอมมิสนิสต์โปแลนด์กับสหภาพแรงงาน Solidarity ในทศวรรษที่ 80 การเจรจาถ่ายทอดสดมีประโยชน์มาก เพราะเปิดโปงจุดยืนของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน ไม่สามารถมีการบิดเบือนโดยสื่อ และผู้แทนประชาชนไม่สามารถไปทำข้อตกลงลับหลังมวลชนได้ ดังนั้นเราต้องเรียกร้องให้การเจรจาเป็นแบบนี้ทุกครั้ง
อภิสิทธิ์ถูกเปิดโปงว่าสนับสนุนกระบวนการทุกอย่างที่มาจากรัฐประหาร ๑๙ กันยา และการแทรกแซงการเมืองโดยทหาร ทั้งๆ ที่พยายามโกหกว่าไม่สนับสนุนรัฐประหาร มีการโกหกอีกว่าเขาเป็นนายกประชาธิปไตย ไม่มีการขึ้นมาโดยทหารหนุนหลัง และเขาตอบไม่ได้ว่าประเทศไทยอยู่ภายใต้อำมาตย์หรือไม่ นี่คือธาตุแท้ของอภิสิทธิ์
อภิสิทธิ์พยายามซื้อเวลาในการเจรจา โดยการปฏิเสธการยุบสภา ข้ออ้างของเขาคือต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน และต้องสร้างความสงบสุขในสังคมก่อนที่จะมีการเลือกตั้งได้ ซึ่งแปลว่ารอไปอีกนาน
ฝ่ายแกนนำเสื้อแดงเสนอว่าการยุบสภาทันที เพื่อให้ประชาชนทั้งปวงมีสิทธิ์กำหนดว่าจะแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร และกำหนดว่ารัฐบาลควรใช้นโยบายการปกครองแบบไหน ตามกระบวนการประชาธิปไตย มีน้ำหนักมาก ฝ่ายรัฐบาลมีแต่ข้ออ้างว่าทำไมไม่ควรยุบสภา อภิสิทธิ์บอกว่าต้องไปถามพันธมิตรฯและคนอื่นก่อนที่จะตัดสินอะไร แต่ฝ่ายเสื้อแดงบอกว่าในเมื่อพันธมิตรฯมีพรรคการเมือง ก็ให้ทดสอบในการเลือกตั้งไปเลย ส่วน กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาฯนายกพูดว่าถ้ามีการเลือกตั้ง พรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดไม่ควรมีสิทธิ์แก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งแสดงว่ากอร์ปศักดิ์ไม่เคารพประชาชนและประชาธิปไตย นอกจากนี้กอร์ปศักดิ์ยังบิดเบือนประวัติศาสตร์โดยการบอกว่า “ทุกฝ่ายไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งในอดีต” จริงๆ แล้วมีแค่ฝ่ายพันธมิตรฯ ทหาร อำมาตย์ และประชาธิปัตย์ที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง
การเรียกร้องให้ยุบสภาเป็นข้อเรียกร้องที่ทุกคนควรจะยอมรับได้ แต่ภายในเสื้อแดงเองเราก็คงเถียงกันต่อว่ามันจะแก้ไขหรือล้มอำนาจอำมาตย์ได้หรือไม่ในระยะยาว ผมเชื่อว่าเราต้องสู้ไปไกลกว่านี้
ไม่ว่าจะมีการยุบสภาหรือไม่ พรรคเพื่อไทยต้องเสนอนโยบายใหม่ๆ ที่สามารถครองใจคนจนได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐสวัสดิการ การขึ้นค่าแรง การช่วยเกษตรกร การสร้างสันติภาพในภาคใต้ฯลฯ ไม่ใช่แค่ย่ำอยู่กับที่และอาศัยบารมีเก่าของทักษิณ ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่พร้อมจะทำตรงนี้ คนเสื้อแดงควรพิจารณาสร้างพรรคเสื้อแดงที่ก้าวหน้ากว่าพรรคเพื่อไทยโดยเน้นการปลุกระดมมวลชน การหันหลังให้มวลชนหรือไปแอบทำอะไรใต้ดินไม่ใช่คำตอบด้วย นอกจากนี้เราต้องชนกับลัทธิอำมาตย์อย่างชัดเจน ไม่ใช่ขอให้ประชาชนจงรักภักดีในขณะที่เสื้อแดงส่วนใหญ่เบื่อกับการจงรักภักดี คนอย่างหมอเหวงไม่ควรเสียเวลากับการนำเรื่องประมุขแบบอังกฤษมาพูดในการเจรจา เพื่อพิสูจน์ความจงรักภักดี และแกนนำคนอื่นควรเลิกจุดธูปบนเวทีไหว้เทวดาซึ่งไม่มีจริง
แกนนำ นปช. ตั้งคำถามกับอภิสิทธิ์ว่าเขาจะปกครองประเทศได้ไหมถ้าไม่ยุบสภา? ถ้ามันไม่ยุบ เราชาวเสื้อแดงต้องทำให้รัฐอำมาตย์ปกครองประเทศไม่ได้

สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ถือตัวเองสำคัญกว่าภาระการต่อสู้
คำพูดของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ใน นสพ. คมชัดลึก (28มีนาคม) ไม่ต่างจากคำพูดของอภิสิทธิ์ในการวิจารณ์แกนนำ นปช. และเป็นคำพูดที่ฝ่ายเสื้อเหลืองนำมาเชิดชูด้วยความดีใจ นี่คือสิ่งที่พิสูจน์ว่าสุรชัยให้ความสำคัญกับข้อขัดแย้งส่วนตัวที่ตนมีกับสามเกลอ แทนที่จะแยกแยะว่าศัตรูหลักคือใครและเสนอก้าวต่อไปอย่างสร้างสรรค์ ชาวเสื้อแดงสายปฏิวัติที่ต้องการล้มระบบอำมาตย์เพื่อได้มาประชาธิปไตยแท้ ควรจะร่วมกันประณามพฤติกรรมของสุรชัย และแยกตัวออกจากคนนี้อย่างชัดเจน

Wednesday 24 March 2010

สยามแดงเสี่ยงกับการเสียการเมืองแนวร่วม
ใจ อึ๊งภากรณ์ แดงสังคมนิยม

การทำแนวร่วมระหว่างนักปฏิรูป(ผู้ที่อยากประนีประนอม) กับนักปฏิวัติ(ผู้ที่อยากเปลี่ยนระบบแบบถอนรากถอนโคน) เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใช้ศีลปะทางการเมืองและต้องอาศัยการวิเคราะห์และการเรียนบทเรียนจากอดีต เรื่องนี้นักมาร์คซิสต์ศึกษามานาน

นักปฏิวัติต้องเข้าใจว่าทำไมมวลชนจำนวนมากเดินตามแนวปฏิรูป

นักมาร์คซิสต์มองว่าความคิดกระแสหลักในสังคม มักจะเป็นความคิดของชนชั้นปกครองที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เพราะมีการกล่อมเกลาทางสื่อ โรงเรียน หรือครอบครัว และมีการสั่งสอนตลอดว่าคนธรรมดาไร้ความสามารถและอ่อนแอ ดังนั้นเราถูกชักชวนให้มอบอำนาจทางความคิดให้กับชนชั้นปกครองอย่างต่อเนื่อง นี่คือสาเหตุที่คนส่วนใหญ่มองว่าระบบสังคมที่ดำรงอยู่เป็นสภาพ “ปกติ” และกลัวที่จะปฏิวัติ และเราไม่ควรหลงคิดว่าเขาคิดแบบนี้เพราะเขา “โง่” หรือ “ขาดความกล้าหาญ” และเราไม่ควรเสนออย่างกลไกตื้นเขินว่าแกนนำที่เสนอแนวปฏิรูป เช่นสามเกลอ เป็นแนวปฏิรูปเพราะ “ได้รับเงิน” หรือ “มีข้อตกลงลับเรื่องผลประโยชน์กับอำมาตย์” คำพูดผิดๆแบบนี้ ซึ่งมาจากคนอย่างอาจารย์ชูพงษ์ เป็นข้อกล่าวหาที่ไร้สาระ มันนำไปสู่ความแตกแยกโดยไม่จำเป็น
ในยามที่มีความขัดแย้งและการต่อสู้เกิดขึ้น คนจำนวนมากจะเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่ถูกเสนอมาจากชนชั้นปกครอง เพราะเห็นชัดว่าไม่ตรงกับความจริง และมันไม่เป็นธรรม การรวมตัวกันต่อสู้ในกลุ่มมวลชนขนาดใหญ่ทำให้คนในขบวนการ เช่นขบวนการเสื้อแดง มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และพร้อมที่จะคิดทวนกระแสหลัก
อย่างไรก็ตามนักมาร์คซิสต์หลายคน เช่น อันโตนิโอ กรัมชี่ อธิบายว่าในขั้นตอนแรก เมื่อคนลุกขึ้นสู้และพร้อมจะคิดทวนกระแส เพื่อสร้างประชาธิปไตยหรือความเป็นธรรม เขาย่อมคิดสู้ในกรอบกว้างๆ ของสังคมเก่าที่ดำรงอยู่ พูดง่ายๆ เขายังไม่ได้สลัดความคิดของชนชั้นปกครองออกหมด เขาเลยสู้เพื่อทำให้สังคมที่ดำรงอยู่ดีขึ้น เสรีมากขึ้น และเป็นธรรมมากขึ้น ปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเสมอ และเป็นความบริสุทธิ์ใจของมวลชน
นักมาร์คซิสต์อย่าง เลนิน หรือ ตรอทสกี เสนอว่ามวลชนที่ยึดแนวปฏิรูปจะหันไปสนับสนุนการปฏิวัติต่อเมื่อ
1. มีวิกฤตทางสังคม โดยที่ชนชั้นปกครองถืออำนาจต่อไปในรูปแบบเดิมยาก
2. มวลชนที่ถูกปกครองไม่พอใจที่จะถูกปกครองต่อไป
3. นักปฏิวัติที่จัดตั้งเป็นพรรคปฏิวัติสามารถเสนอทางออกเป็นรูปธรรมในการต่อสู้

นักปฏิวัติควรมีความสัมพันธ์กับนักปฏิรูปอย่างไร?

ถ้านักปฏิวัติจะเริ่มครองใจมวลชนให้เดินตามแนวปฏิวัติ เขาต้องมีความสัมพันธ์กับมวลชนที่มีความคิดปฏิรูป ซึ่งไม่เหมือนกับการมีความสัมพันธ์กับแกนนำสายปฏิรูป และแน่นอนนักปฏิวัติต้องไม่ใช้วิธีแบบปัจเจก เช่นการวางระเบิดหรือการตั้งกองกำลังติดอาวุธของคนไม่กี่คน
ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ มีตัวอย่างความผิดพลาดของการสร้างความสัมพันธ์หรือแนวร่วม โดยมีสองกรณีสุดขั้วที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้คือ
1. การแยกตัวออกโดยสิ้นเชิงจากมวลชน ไม่หาทางร่วมมือเลย และด่าแกนนำและวิธีต่อสู้ของเขาอย่างเดียว เพื่อพิสูจน์ “ความเป็นนักปฏิวัติที่กล้าหาญและบริสุทธิ์” ตัวอย่างที่ดีคือกรณีที่พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันภายใต้การนำของสตาลิน ไม่ยอมสามัคคีกับมวลชนพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเยอรมันในยุคค.ศ. 1930 ความแตกแยกระหว่างมวลชนที่เกิดขึ้น เป็นโอกาสทองที่เปิดประตูให้ฮิตเลอร์และพวกนาซียึดอำนาจได้ และนำไปสู่ความหายนะของภาคประชาชน ประชาธิปไตย และสงครามโลกครั้งที่สอง ในไทยการหันหลังให้กับนักศึกษาและกรรมาชีพในเมืองในปี ๒๕๑๙ เพื่อไปตั้งฐานรบในป่าของพรรคคอมมิวนิสต์ เปิดโอกาสให้อำมาตย์ก่อเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา โดยไม่มีการออกมาสู้ในเมือง
2. ขั้วตรงข้ามคือการทำแนวร่วมแบบ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ระหว่างแนวปฏิวัติกับแนวปฏิรูป ในรูปธรรมมันหมายความว่าแนวปฏิวัติไปเกาะอยู่กับแกนนำปฏิรูป โดยเชียร์อย่างเดียว ไม่วิจารณ์เลย ตัวอย่างเช่นคนที่เชียร์ทักษิณโดยไม่วิจารณ์ คนที่เน้นการทำแนวร่วมกับแกนนำมากกว่ามวลชน หรือคนที่ไม่ยอมเสนอมาตรการที่เป็นประโยชน์กับชนชั้นกรรมาชีพหรือเกษตรกรรายย่อย เพราะกลัวจะเสียแนวร่วมที่มีกับนักธุรกิจหรือชนชั้นกลาง เช่นไม่กล้าเสนอรัฐสวัสดิการ การขึ้นค่าแรง หรือการใช้รัฐช่วยการผลิตของเกษตรกรรายย่อย การกระทำแบบนี้จะตัดกำลังใจในการต่อสู้ของมวลชนชั้นล่าง และจะทำให้ขยายมวลชนในกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ขูดรีดไม่ได้ มันทำให้นักปฏิวัติถวายการนำให้แกนนำปฏิรูป และตั้งความหวังไว้กับผู้ใหญ่ เช่นพวกนายพลหรือพวก “ท่านผู้หญิง” หรือแม้แต่ญาติของอำมาตย์แก่ ตัวอย่างจากต่างประเทศก็เช่นท่าทีของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียกับประธานาธิบดีซุการ์โน ซึ่งนำไปสู่ความพ่ายแพ้ล้มตายของมวลชนเป็นล้านในปีค.ศ. 1965

นักปฏิวัติต้องร่วมเดินร่วมสู้กับมวลชนปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง ต้องให้กำลังใจและสามัคคี แต่ในขณะเดียวกันต้องใช้เวลาถกเถียงแลกเปลี่ยนถึงแนวทาง ซึ่งต้องอาศัยนักปฏิบัติการที่ไปคุยโดยตรง แจกใบปลิว และทำหนังสือพิมพ์ และในขณะที่นักปฏิวัติวิจารณ์แกนนำสายปฏิรูป เรามีภารกิจในการค่อยๆพิสูจน์ต่อมวลชนอย่างเป็นรูปธรรมว่าแนวปฏิวัติใช้งานได้ดีกว่าแนวปฏิรูป นักปฏิวัติควรร่วมสู้กับ นปช. พร้อมกับการเสนอแนวทางการต่อสู้เป็นรูปธรรม ไม่ควรแยกตัวออกไปอยู่ในที่ห่างไกลอย่างที่พวกสยามแดงกำลังจะทำ

ข้อเสนอของฝ่ายปฏิวัติ เพื่อขยายการต่อสู้ทางชนชั้น
1. ชนกับอำมาตย์ และท้าทายอำมาตย์ ในเรื่องนโยบายการเมืองที่เป็นรูปธรรม เสนอรัฐสวัสดิการ การขึ้นค่าแรงเป็นหนึ่งหมื่นบาทต่อเดือน การส่งเสริมระบบสหภาพแรงงาน การสร้างระบบเกษตรพันธสัญญากับองค์กรรัฐที่ควบคุมโดยชาวบ้าน การสร้างสันติภาพบนพื้นฐานความเคารพและความยุติธรรมในสามจังหวัดภาคใต้ การปฏิรูปกองทัพโดยการปลดนายพลออกและพัฒนาฐานะทหารระดับล่าง หรือการปฏิรูประบบศาลโดยการนำระบบลูกขุนมาใช้
2. ชนกับอำมาตย์ด้วยลัทธิความคิด คือชักชวนให้มวลชนเลิกจงรักภักดีกับอำมาตย์โดยสิ้นเชิง
3. ขยายฐานคนเสื้อแดงสู่สหภาพแรงงานและทหารเกณฑ์
4. สร้างหน่ออ่อนของอำนาจคู่ขนาน เพื่อแข่งกับรัฐอำมาตย์ในทุกพื้นที่ทุกชุมชน

Saturday 20 March 2010

การชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นประวัติศาสตร์อันน่าทึ่ง


การชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นประวัติศาสตร์อันน่าทึ่ง
ใจ อึ๊งภากรณ์
“เสื้อแดงสังคมนิยม” และสมาชิกคนเสื้อแดงอังกฤษ(แสดงทัศนะส่วนตัว)

การชุมนุมครั้งใหญ่ของคนเสื้อแดงในเสาร์อาทิตย์ 13/14 มีนาคม เป็นการสำแดงพลังอันยิ่งใหญ่ของขบวนการประชาธิปไตยไทย มันเป็นภาพที่แสดงให้เห็นว่าคนเสื้อแดงจะไม่หายไปไหน และเราไม่ใช่แค่ตัวแทนของคนส่วนน้อยในสังคมอีกด้วย การชุมนุมครั้งนี้ช่วยถล่มนิยายว่าคนกรุงเทพฯเป็นเสื้อเหลืองหรือไม่สนใจประชาธิปไตย เพราะเราเห็นภาพเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาล คนงานก่อสร้าง คนงานโรงงาน พระสงฆ์ และประชาชนโดยทั่วไปในกรุงเทพฯ ที่ออกมาร่วมการชุมนุม สื่อมวลชนต่างประเทศบางฉบับถึงกับเสนอว่าภาพการชุมนุมครั้งนี้เป็นภาพของขบวนการ “ปลดแอกประชาชนกรุงเทพฯ จากอำนาจเผด็จการ”
การชุมนุมครั้งนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะคนธรรมดานับแสน ร่วมกันทุ่มเทเงินทอง เวลา และพลังงานในการมาร่วม มีการเรี่ยรายเงินและทรัพยากรในชุมชนต่างๆ มีการแจกอาหารและเงินค่าน้ำมันโดยประชาชนธรรมดาในกรุงเทพฯ มันเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแท้และเพื่อหวังล้มอำมาตย์ และทั้งๆที่คนเสื้อแดงจำนวนมากรักทักษิณมากกว่าผู้นำชั้นสูงอื่นๆ ความรักนี้มีเหตุผล มันมาจากนโยบายรูปธรรมของพรรคไทยรักไทย มันไม่ได้มาจากความโง่เขลา และคนเสื้อแดงไม่ได้ถูกจูงถูกจ้างมาประท้วง เขาไม่ใช่เครื่องมือของทักษิณ และเขาสู้เพื่ออะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าทักษิณ
ขบวนการเสื้อแดงตอนนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นขบวนการที่คนยากคนจนทั่วประเทศร่วมสร้างขึ้นและมีส่วนร่วมสูงในสังคมเปิด ไม่ใช่การเคลื่อนไหวในป่าหรือในที่ลับ ขบวนการนี้มีตัวตนชัดเจนทั้งในเมืองและในชนบท ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต และมันมีลักษณะถาวรกว่าขบวนการประชาธิปไตยอื่นๆ เช่นขบวนการนักศึกษา

พฤติกรรม สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์
สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ แสดงท่าที่อ่อนหัตถ์ทางการเมืองและเน้นการต่อสู้แบบปัจเจก เพราะในขณะที่มีการประท้วงอันยิ่งใหญ่เป็นประวัติศาสตร์ของมวลชนเสื้อแดง อ.สุรชัยไม่เสริมสร้างกำลังใจให้มวลชนเลย ไม่มองว่าเขาคือพลังหลักในการเปลี่ยนสังคม ไม่มองว่าเขาเป็นมิตรที่ต้องถนอมรัก และไม่แนะนำทางต่อสู้ต่อไปในลักษณะสร้างสรรค์ มีแต่พูดในทำนองที่จะทำลายจิตใจคนเสื้อแดง และตัดความมั่นใจให้เสียขวัญ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อ.สุรชัย ไม่สนใจที่จะมีส่วนร่วมกับมวลชนนับแสนที่ออกมาสู้ แต่อยากจะหันหลังให้มวลชน เพื่อเดินตามแนว “วีรชนเอกชน” ของการ “จับอาวุธ” ต่อสู้กับอำมาตย์ที่เคยประกาศ มันเป็น “การปฏิวัติแบบเด็กเล่น” ซึ่งจะแค่จบลงด้วยความพ่ายแพ้และความตายเท่านั้น
ส่วนเสธ. แดง ก็เป็นอันธพาลสามัญ ที่อาจสร้างความเสียหายให้ขบวนการเสื้อแดงได้ โดยการสร้างภาพเพื่อเอามัน ซึ่งจะจบลงด้วยละครตะลกท่ามกลางความพ่ายแพ้เท่านั้น

ก้าวต่อไป?
เราไม่ควรลืมว่าแกนนำ โดยเฉพาะสามเกลอ เป็นผู้ที่จุดประกายไฟให้เกิดคนเสื้อแดงแต่แรก และมีส่วนสำคัญในการชักชวนให้คนเสื้อแดงออกมาเป็นแสนที่กรุงเทพฯ แต่ในการต่อสู้ทุกขั้นตอนต้องมีการทบทวนประเมิน ทั้งยุทธวิธีและแกนนำด้วย แกนนำที่จะนำมวลชนไปสู่ชัยชนะ อาจเป็นแกนนำเดิมตลอด หรือจะเป็นแกนนำใหม่ก็ได้ มันไม่ใช่เรื่องศักดิ์สิทธิ์ มันขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความสามารถในขั้นตอนต่างๆ สิ่งที่น่าทึ่งเกี่ยวกับคำพูดของแกนนำปัจจุบันในการเคลื่อนไหวที่พึ่งผ่านมา คือมีการพูดถึงประเด็น “ชนชั้น” มากขึ้นอย่างชัดเจน การต่อสู้กับอำมาตย์เพื่อสร้างประชาธิปไตยเป็นการต่อสู้ทางชนชั้น ระหว่างคนชั้นล่างที่เป็นกรรมาชีพและเกษตรกร กับชนชั้นปกครองที่เป็นอภิสิทธิ์ชน
แต่ประเด็นที่เราทุกคนต้องมาร่วมกันคิดอย่างรวดเร็วคือ ก้าวต่อไปควรจะเป็นอย่างไร? เพราะการชุมนุมสองสามวันยากที่จะล้มอำมาตย์และจัดการกับอำนาจกองทัพได้ และการยืดเยื้อเสี่ยงกับการที่คนจะทยอยกลับบ้านและหมดกำลังใจ แกนนำต้องไม่สร้างภาพนิยายของชัยชนะที่จะเกิดง่ายๆ ต้องไม่พามวลชนเดินไปในทางการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์มากเกินไป และต้องรู้จักถนอมกำลังกายและใจของมวลชน เพื่อให้เราสามารถสู้ในเกมส์ใหญ่ระยะยาวได้

รู้จักศัตรู
ศัตรูของประชาชนและศัตรูของประชาธิปไตยคืออำมาตย์ แต่อำมาตย์คืออะไร? มันเป็นระบบ มันประกอบไปด้วยหลายสถาบัน และมันมีลัทธิหรือชุดความคิดที่ใช้สร้างความชอบธรรมให้มัน ศัตรูไม่ใช่แค่พรรคประชาธิปัตย์หรือรัฐบาลอภิสิทธิ์ และไม่ใช่แค่องค์มนตรี การยุบสภาเป็นสิ่งที่เราอยากเห็น แต่มันจะไม่สะเทือนอำนาจอำมาตย์เลย เราได้บทเรียนจากรัฐบาลพรรคพลังประชาชนไปแล้ว อำนาจสำคัญของอำมาตย์คือกองทัพ ถ้าเราไม่เอาใจใส่ตรงนี้เราจะไม่ชนะ และอำนาจซ่อนเร้นสำคัญของฝ่ายเรา คืออำนาจในการนัดหยุดงาน ถ้าช่วง 13/14 มีนาคมที่ผ่านมา มีการหยุดเดินรถต่างๆ หยุดก่อสร้าง หยุดทำงานในโรงงานและสถานที่ทำงานต่างๆ เราจะเห็นพลังของคนเสื้อแดงในอีกมิติที่สำคัญ และถ้าทหารยิงประชาชนการหยุดแจกจ่ายไฟฟ้าหรือน้ำก็จะมีพลังด้วย

ยุทธ์วิธี 4 ข้อ สำหรับการต่อสู้ในปัจจุบัน
1. ชนกับอำมาตย์ในเรื่องนโยบายการเมืองที่เป็นรูปธรรม
2. ชนกับอำมาตย์ด้วยลัทธิความคิด
3. ขยายฐานคนเสื้อแดง
4. สร้างหน่ออ่อนของอำนาจคู่ขนาน เพื่อแข่งกับอำมาตย์

1. ชนกับอำมาตย์ในเรื่องนโยบายการเมืองที่เป็นรูปธรรม
การเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเรียกร้องต่อไป แต่เราต้องเพิ่มความเข้มข้นของนโยบายการเมืองที่จะใช้ชนกับอำมาตย์ เราจะต้องประกาศอย่างชักเจนว่าถ้าฝ่ายคนเสื้อแดงชนะ เราจะนำนโยบายใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่คนชั้นล่างมาใช้ และเราจะต้องท้าอำมาตย์ให้แสดงจุดยืนต่อนโยบายดังกล่าว เพราะเรารู้ดีว่าเขาไม่มีทางสนับสนุนสิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนชั้นล่าง
นโยบายสำคัญที่เราควรประกาศคือการสร้าง รัฐสวัสดิการ ในรูปแบบที่ให้สวัสดิการครบวงจร และถ้วนหน้าสำหรับประชาชนทุกคน ไม่ใช่แค่สวัสดิการให้ทานกับคนจน และเราต้องประกาศว่าเราจะใช้งบประมาณจากการเก็บภาษีอย่างดุเดือดกับเศรษฐีและคนรวย คนที่รวยที่สุดด้วย โดยไม่มีข้อยกเว้น ส่วนคนชั้นกลางและคนจนจะไม่มีการเก็บภาษีเพิ่ม
เราควรเสนอนโยบายเป็นรูปธรรมสำหรับเกษตรกรรายย่อย เช่นการตัดผลประโยชน์ของบริษัทซีพี(ของอำมาตย์) และเพิ่มประโยชน์ให้ชาวไร่ชาวนา ตัวอย่างเช่นการตั้งองค์กรของรัฐขึ้นมาเพื่อทำเกษตรพันธสัญญากับเกษตรกรรายย่อย คือองค์กรรัฐช่วยในการลงทุน ที่ดิน การพัฒนาเทคโนโลจี การรักษามาตรฐาน และการตลาด และเกษตรกรจะทำการผลิตส่งให้รัฐ แต่องค์กรรัฐนี้ต้องบริหารร่วมกันโดยผู้แทนเกษตรกร และผู้แทนของรัฐบาลประชาธิปไตย
เราควรเสนอนโยบายรูปธรรมสำหรับการสร้างสันติภาพในภาคใต้ โดยการถอนทหารตำรวจออกจากชุมชน และการเสนอเขตปกครองพิเศษพร้อมกับการใช้ภาษาท้องถิ่นในสถานที่ราชการ ชุมชนต้องมีอำนาจในการกำหนดระบบการศึกษา ต้องมีการลงโทษพวกทหารระดับสูงที่ทรมานและฆ่าประชาชนด้วย ในระดับชาติควรมีการส่งเสริมวันสำคัญของอิสลาม และชักชวนให้นักศึกษาเรียนรู้ภาษายะวีหรือภาษามาเลย์ ทั้งหมดนี้จะเป็นนโยบายก้าวหน้าที่ตัดฐานสนับสนุนของประชาธิปัตย์ในภาคใต้ได้
เราต้องเสนอให้มีการปฏิรูประบบศาลยุติธรรมแบบถอนรากถอนโคน ปลดศาลและผู้พิพากษาของอำมาตย์ที่รังแกประชาชนออกไป และนำคนรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์ความยุติธรรมเข้ามา พร้อมกันนั้นต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยมีระบบลูกขุน

2. ชนกับอำมาตย์ด้วยลัทธิความคิด
เราทราบดีจากรัฐประหาร ๑๙ กันยา และอาชญากรรมของพันธมิตรฯ ว่าอำมาตย์ใช้ลัทธิกษัตริย์ เพื่อให้ความชอบธรรมกับสิ่งชั่วร้ายที่ตนทำ โดยเฉพาะสิ่งที่พวกนายพลเขาทำ ดังนั้นเราต้องชักชวนประชาชนให้สิ้นศรัทธาในระบบกษัตริย์และทำอย่างเป็นระบบด้วย ไม่ใช่ออกมาสู้เพื่อล้มอำมาตย์ แล้วถอยหลังหนึ่งก้าวโดยการส่งเสริมให้คนเสื้อแดงเคารพลัทธิกษัตริย์ ซึ่งเท่ากับเป็นการมัดมือตัวเองเพื่อชกมวย

3. ขยายฐานคนเสื้อแดง
เราควรขยายอิทธิพลและเครือข่ายคนเสื้อแดงไปสู่ (1)ขบวนการสหภาพแรงงาน และ (2)ทหารเกณฑ์ระดับล่าง เพื่อให้เรามีพลังในรูปแบบใหม่ และเพื่อให้พวกนายพลเสื้อเหลืองใช้ทหารธรรมดาที่เป็นพี่น้องเราในการปราบปรามประชาชนไม่ได้ ตรงนี้ต้องอาศัยการลงพื้นที่เพื่อผูกมิตรส่วนตัว แต่ในระดับชาติเราควรประกาศนโยบายรูปธรรมที่เราจะใช้ถ้าคนเสื้อแดงชนะคือ
เราควรดึงคนงานมาเป็นพวกด้วยการเสนอให้เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในทุกสถานที่ ให้สูงขึ้นถึงหนึ่งหมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งมาตรการนี้ นอกจากจะลดความจนอย่างรวดเร็วและกระตุ้นตลาดภายในและการจ้างงานแล้ว จะเป็นแรงกดดันให้นายจ้างพัฒนากระบวนการผลิตและเทคโนโลจี ซึ่งรัฐช่วยตรงนี้ได้ ในประเทศสิงคโปร์เคยทำแบบนี้ และประเทศพัฒนาอย่างเกาหลีใต้ก็เพิ่มค่าจ้างได้โดยไม่ทำให้เศรษฐกิจพัง พร้อมๆ กับนโยบายค่าจ้างดังกล่าว เราต้องให้ความคุ้มกันจริงกับสหภาพแรงงาน และออกกฎหมายห้ามปรามการเลิกจ้างคนงานเพื่อเพิ่มกำไรของกลุ่มทุน
เราควรดึงทหารเกณฑ์มาเป็นพวกโดยประกาศปฏิรูปกองทัพแบบถอนรากถอนโคน พวกนายพลกาฝากที่แสวงหาอำนาจและความร่ำรวยผ่านการทำรัฐประหาร การคอร์รับชั่น และการยิงประชาชน เราต้องเอาออกให้หมด ต้องลดงบประมาณทหารด้วยการปลดนายพลและลดการซื้ออุปกรณ์ทางทหาร แต่ในขณะเดียวกันต้องเพิ่มเงินเดือนให้ทหารเกณฑ์ ต้องพัฒนาสภาพชีวิตของเขา ต้องมีโครงการฝึกฝีมือและพัฒนาทหารระดับล่างให้มีลักษณะมืออาชีพที่ใช้กู้ภัยในสังคมแทนการปราบประชาชน ในสำนักงานตำรวจก็ควรจะปฏิรูปแบบนี้ด้วย เพื่อให้ตำรวจรับใช้ประชาชนและไม่รีดไถคนจน

4. สร้างหน่ออ่อนของอำนาจคู่ขนาน เพื่อแข่งกับอำมาตย์
ในทุกพื้นที่ที่คนเสื้อแดงเป็นคนส่วนใหญ่ เราควรท้าทายอำนาจราชการในรูปแบบเล็กๆ น้อยๆ เช่นตั้งระบบยุติธรรมและความปลอดภัย หันหลังให้ศาลและการบัญชาการของรัฐส่วนกลาง ขยายสื่อมวลชนของเรา เข้าไปมีอำนาจบริหารโรงเรียนและศูนย์พยาบาล จัดตั้งระบบคมนาคมง่ายๆ ฯลฯ แล้วแต่ความสามารถและเหมาะสม เพื่อค่อยๆ ลดอำนาจศูนย์กลางของรัฐอำมาตย์ และเพื่อทำให้ง่ายขึ้นที่จะยึดอำนาจรัฐมาเป็นของประชาชนในอนาคต

ในสงครามทางการเมืองกับอำมาตย์ เราต้องก้าวไปข้างหน้า
แต่เราต้องเข้าใจว่าจะไม่แพ้ชนะกันง่ายๆ ในวันสองวัน
ที่สำคัญคือมวลชนคนเสื้อแดงเป็นแสนๆ และจุดยืนทางการเมืองจะเป็นเรื่องชี้ขาด

ทุกอย่างเป็นแผนจากวังจริงหรือ?
ใจ อึ๊งภากรณ์

คนที่เชื่อว่าทุกอย่างในการเมืองไทยเป็นแผนมาจากวัง (เช่น อ.ชูพงษ์ และกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ไม่เอาเจ้า) เป็นคนที่มองว่า
1. อำมาตย์ไทยปัจจุบันคือระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และนายภูมิพลมีอำนาจสูงสุด
2. ประชาชนชั้นล่าง เช่นมวลชนเสื้อแดง ไม่เคยมีบทบาทอะไรเลยในสังคมการเมือง การเมืองเป็นเกมของคนชั้นบนเท่านั้น
3. ทหารไม่มีอำนาจอิสระ เป็นแค่ลูกน้องของกษัตริย์

แต่ในความเป็นจริงนายภูมิพลอ่อนแอทางอำนาจ แต่มีบทสำคัญในทางลัทธิการเมือง เพราะเป็นสัญลักษณ์ของ “ลัทธิกษัตริย์” ที่ทหารและส่วนอื่นๆ ของอำมาตย์ใช้ในการให้ความชอบธรรมกับตนเอง
อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายที่ไม่เอาเจ้า ไม่ว่าจะเป็นสาย อ.ชูพงษ์ หรือคนที่คิดแบบผม มีจุดร่วมตรงที่เรากำลังสู้เพื่อถล่มความ “ศักดิ์สิทธิ์” ของสถาบันกษัตริย์
เราเถียงไม่ได้เลยว่า กษัตริย์ภูมิพลไม่ได้รักประชาชนและสร้างความสงบอยู่เย็นเป็นสุข เพราะกษัตริย์ภูมิพลผู้เป็นเศรษฐีอันดับหนึ่งของไทย คัดค้านสวัสดิการเพื่อประชาชน ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงที่ไม่เห็นด้วยกับการกระจายรายได้ สนับสนุนความรุนแรงในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และชมคนที่ทำรัฐประหาร ๑๙ กันยาและคนที่ทำลายประชาธิปไตย เสรีภาพ และมาตรฐานความยุติธรรมทางกฎหมาย ถ้าภูมิพลเป็นคนก้าวหน้าหรือเป็นคนดี เขาจะไม่ปล่อยให้มีการหยุดวิ่งรถตามถนนหนทาง เพื่อให้ตัวเขาและญาติๆ เดินทางด้วยความสะดวกในขณะที่รถพยาบาลฉุกเฉินไม่เคยได้รับการอำนวยความสะดวกแบบนี้เลย เขาจะไม่ปล่อยให้มีการหมอบคลานต่อตัวเองเหมือนกับว่าประชาชนเป็นสัตว์ และเขาจะออกมาแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการปกป้องประชาธิปไตยและการคัดค้านกฎหมายเผด็จการต่างๆ รวมถึงกฎหมายหมิ่นเจ้าด้วย

บทบาทคู่ขนาน ทหาร กับ กษัตริย์
ถ้าเราจะเข้าใจบทบาทของกษัตริย์ภูมิพลในสังคมไทย เราต้องเข้าใจบทบาทคู่ขนานของทหารกับกษัตริย์ เพราะในสังคมต่างๆ โดยทั่วไปทั่วโลก ชนชั้นปกครองจะดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้อำนาจข่มเหง และการสร้างความชอบธรรมสำหรับตนเองในสายตาประชาชนพร้อมๆ กัน และการใช้อันใดอันหนึ่งตามลำพังมีประสิทธิภาพต่ำเกินไปที่จะสร้างความมั่นคงให้กับชนชั้นปกครอง
ในไทยกษัตริย์ภูมิพลคือสัญลักษณ์ของลัทธิอนุรักษ์นิยมที่ให้ความชอบธรรมกับอำนาจของอำมาตย์ โดยเฉพาะอำนาจทหาร และทหารคือผู้ใช้อำนาจข่มเหงประชาชนและสังคมด้วยอาวุธ ดังนั้นกษัตริย์ภูมิพลไม่มีอำนาจเอง แต่มีหน้าที่สร้างความชอบธรรมให้กับอำมาตย์ หรืออาจพูดได้ว่าเป็นเครื่องมือของอำมาตย์ในการสร้างความชอบธรรม แต่เป็นเครื่องมือที่ยินดีทำตามหน้าที่ เพราะได้ประโยชน์ตรงนั้นด้วย อย่างไรก็ตามภาพลวงตาที่เราเห็น คือภาพละครอำนาจ ที่เสนอว่าภูมิพลเป็นใหญ่ เพราะทหารและอำมาตย์ส่วนอื่นๆ ปั้นภูมิพลขึ้นมาเป็นเจ้าเป็นเทวดา แล้วก็ไปกราบไหว้ เพื่อที่จะโกหกพวกเราว่าเขาคือตัวแทนหรือผู้รับใช้กษัตริย์
แต่ประเด็นสำคัญคือ การที่เขาต้องขยันในการสร้างลัทธิกษัตริย์เพื่อข่มขู่และครองใจประชาชน แสดงว่าเขากลัวประชาชน และทราบดีว่าถ้าเรารวมตัวกัน เราจะมีอำนาจล้มอำมาตย์ ทุกสังคมมีผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง และเราต้องมองทั้งสองส่วนพร้อมกัน

นายภูมิพลมีอำนาจสูงสุดจริงหรือ?
พวกอภิสิทธิ์ชนและอำมาตย์มักสร้างภาพลวงตาว่ากษัตริย์ภูมิพลเป็นทั้ง ศักดา(เก่าแก่) สมบูรณาญาสิทธิราชย์(อำนาจสูงสุด) และกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ(แบบประชาธิปไตย) พร้อมกันหมด เพื่อสร้างความชอบธรรมกับสิ่งที่อำมาตย์ โดยเฉพาะทหาร กระทำในสังคม แต่การมองลักษณะกษัตริย์แบบนี้ของอำมาตย์ เป็นการสร้างภาพที่ไม่ตรงกับประวัติศาสตร์ เพราะระบบศักดินาถูกปฏิวัติไปโดยรัชกาลที่ ๕ ผู้สร้างระบบรัฐชาติรวมศูนย์ภายใต้กษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ และระบบนี้ถูกปฏิวัติไปในปี ๒๔๗๕ โดยที่ไม่มีการสถาปนาใหม่ในภายหลังเลย มีแต่การนำกษัตริย์มารับใช้ระบบทุนนิยมภายใต้อำมาตย์ในรูปแบบใหม่ ในประเทศทุนนิยมที่มีกษัตริย์ทั่วโลก ฝ่ายนายทุนพยายามเชิดชูกษัตริย์ เพื่อย้ำว่า “บางคนเกิดมาสูง บางคนเกิดมาต่ำ และนั้นคือธรรมชาติ”
เวลาทหารจะก่อรัฐประหารหรือทำอะไรที่มีผลกระทบต่อสังคม มีการคลานเข้าไปหาภูมิพล เพื่อสร้างภาพว่าไป “รับคำสั่ง” แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการ “แจ้งให้ทราบ” ว่าตัดสินใจทำอะไรก่อนหน้านั้น มันเป็นละครครั้งใหญ่ที่ผู้คลานมีอำนาจเหนือผู้ถูกไหว้ ในกรณีแบบนี้กษัตริย์ภูมิพลจะถามความเห็นจากองค์มนตรีก่อนว่าควรมีจุดยืนอย่างไร ถ้าองค์มนตรีเห็นด้วยกับทหาร ภูมิพลจะอนุญาตให้ “เข้าเฝ้า” แต่ถ้าองค์มนตรีแนะว่าไม่เห็นด้วย ภูมิพลจะ “ไม่สะดวกที่จะให้เข้าเฝ้า” แต่อย่าเข้าใจผิดว่าสถานการณ์แบบนี้แสดงว่าองค์มนตรีมีอำนาจสูงสุด ไม่ใช่ องค์มนตรีมีไว้เป็นกลุ่มประสานงานระหว่างอำมาตย์ส่วนต่างๆ เช่นทหารชั้นผู้ใหญ่ นายทุนใหญ่ นักการเมืองอาวุโส หรือข้าราชการชั้นสูง และจะต้องสรุปความเห็นส่วนใหญ่ของอำมาตย์เพื่อแนะแนวให้กษัตริย์ นอกจากนี้ฝ่ายต่างๆ ของอำมาตย์ แม้แต่ในกองทัพเอง ก็ขัดแย้งกัน แข่งกัน แย่งกินกันอีกด้วย ไม่มีใครที่ผูกขาดอำนาจได้ มีแต่ความสามัคคีชั่วคราวเท่านั้น
การสร้างภาพว่ากษัตริย์ภูมิพลเป็นใหญ่ หรือภาพว่าทหาร “เป็นของกษัตริย์หรือราชินี” มีประโยชน์ต่ออำมาตย์ที่คอยบังคับให้เราจงรักภักดีต่อกษัตริย์และราชวงศ์ เพราะการจงรักภักดีดังกล่าวเป็นการจงรักภักดีต่อทหารและส่วนอื่นๆ ของอำมาตย์
ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์จะไม่พบช่วงไหนที่ภูมิพลมีอำนาจสั่งการอะไรได้ อาจแสดงความเห็นบ้าง แต่บ่อยครั้งก็ไม่มีใครฟัง เช่นกรณีสุจินดา กรณีรัฐบาลหลัง ๖ ตุลา ที่อยู่ได้แค่ปีเดียว หรือแม้แต่กรณีการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ภูมิพลพร้อมจะตามกระแส ไปด้วยกับผู้มีอำนาจทุกรูปแบบ เช่นสมัยรัฐบาลทักษิณก็มีการชมสงครามยาเสพติดที่ฆ่าคนบริสุทธิ์กว่าสามพันคน และมีการร่วมธุรกิจระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์กับบริษัท Shin Corp ของทักษิณอีกด้วย
บางครั้ง “ละครอำนาจ” ที่อำมาตย์เล่น ทำให้พวกราชวงศ์มีพื้นที่ที่จะทำอะไรตามใจชอบได้ กรณีพฤติกรรมของเจ้าฟ้าชายเป็นตัวอย่างที่ดี แต่ในเรื่องสำคัญๆ เช่นนโยบายต่อการปกครองบ้านเมือง หรือผลประโยชน์หลักของอำมาตย์ สมาชิกราชวงศ์ไม่สามารถทำอะไรได้
นักวิชาการที่เชื่อว่านายภูมิพลมีอำนาจมักใช้กรอบคิดร่วมกันสองกรอบคือ กรอบคิด “พรรคคอมมิวนิสต์” เรื่องขั้นตอนการปฏิวัติทุนนิยม และกรอบคิด “รัฐข้าราชการ” ที่เน้นแต่การกระทำของคนชั้นสูงเท่านั้น และมองว่าประชาชนรากหญ้าไม่สำคัญ
การมองสังคมไทยตามของ พคท เสนอว่าไทยเป็น “กึ่งศักดินา” ดังนั้นเขามักจะมองว่าความขัดแย้งที่นำไปสู่รัฐประหาร ๑๙ กันยาเป็นความขัดแย้งระหว่างนายทุนสมัยใหม่(ทักษิณ) กับระบบกึ่งศักดินาของกษัตริย์ โดยที่กษัตริย์เป็นผู้นำทางการเมืองที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม ทักษิณ ยืนยันอยู่ตลอดว่าเขารักและจงรักภักดีต่อภูมิพล และเจ้าฟ้าชาย และรัฐบาลของเขาก็มีส่วนสำคัญในการรณรงค์ให้คนใส่เสื้อเหลืองและรักเจ้า
แนวคิดแบบนี้มองข้ามลักษณะการเป็นนายทุนสมัยใหม่ของกษัตริย์ภูมิพล และเครือข่ายอำมาตย์ ที่ประกอบไปด้วยทหาร ข้าราชการ และนายทุนธนาคาร และที่สำคัญ ไม่สามารถทำความเข้าใจได้ว่าทำไมนายทุนสมัยใหม่อย่างทักษิณ หรือนายธนาคาร จะส่งเสริมสถาบันกษัตริย์เพื่อประโยชน์ของนายทุนเอง

บทบาทของกษัตริย์ไทยในการเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิอนุรักษ์นิยม
บทบาททางการเมืองของภูมิพลเริ่มชัดเจนขึ้นในสมัยเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ยุคนี้เป็นยุคสงครามเย็น และยุคสงครามอินโดจีน รัฐบาลเผด็จการของสฤษดิ์ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา เพราะสหรัฐเชื่อว่าสฤษดิ์เป็นแนวร่วมที่ดีในการสู้กับคอมมิวนิสต์ สฤษดิ์ต้องชูกษัตริย์ เพื่อให้ฝ่ายรักเจ้าอนุรักษ์นิยมในไทย และฝ่ายสหรัฐอเมริกาสนับสนุนเผด็จการของเขา
ในบริบทของสงครามเย็น สหรัฐอเมริกา และชนชั้นปกครองอนุรักษ์นิยมไทย รวมถึงเผด็จการทหาร มองว่าสถาบันกษัตริย์เป็นสัญลักษณ์สำคัญของลัทธิที่จะใช้ต้านคอมมิวนิสต์ได้ หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐมีบทบาทสำคัญในการแจกรูปถ่ายภูมิพลและภรรยาไปตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อวัตถุประสงค์นี้ ดังนั้นการเชิดชูกษัตริย์ภูมิพลผูกพันกับการปกป้องผลประโยชน์ของอำมาตย์จากการที่จะถูกท้าทายโดยกระแสคอมมิวนิสต์
กระแสคอมมิวนิสต์เป็นสิ่งที่อำมาตย์ไทยกลัวมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศรอบข้างกำลังเปลี่ยนไปปกครองโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ แต่หลังจากที่คอมมิวนิสต์ล่มสลาย ภัยจากประชาชนที่มีต่อผลประโยชน์อำมาตย์ ไม่ได้หายไป เพราะมีการเคลื่อนไหวของขบวนการทางสังคม สหภาพแรงงาน และในที่สุดก็เกิดคนเสื้อแดง ดังนั้นอำมาตย์ไม่เคยเลิกในความพยายามที่จะครองใจประชาชนด้วยลัทธิกษัตริย์
พวกอำมาตย์ ไม่ใช่ซากเก่าของระบบศักดินา แต่เป็นชนชั้นปกครองอนุรักษ์นิยมสมัยใหม่ที่ใช้เผด็จการและความป่าเถื่อน ยิ่งกว่านั้นภูมิพลไม่ใช่หัวหน้าของแก๊งโจรเหล่านี้ แต่แก๊งโจรใช้เขาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมต่างหาก โดยที่ภูมิพลยินดีถูกใช้ตราบใดที่สามารถกอบโกยความร่ำรวยและมีคนมากราบไหว้ต่อไปเรื่อยๆ
การสร้างความชอบธรรมจากกษัตริย์มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทหารไทย เพราะทุกวันนี้กระแสประชาธิปไตยขยายไปทั่วโลกในจิตใจประชาชน เวลาทหารทำรัฐประหารก็อาจพยายามอ้างว่าทำ “เพื่อประชาธิปไตย” แต่ไม่ค่อยมีใครเชื่อ เพราะบทบาททหารในการเมืองกับระบบประชาธิปไตยมันไปด้วยกันไม่ได้ นอกจากนี้กองทัพไทยไม่มีประวัติอะไรเลยในการปลดแอกประเทศอย่างในกรณีอินโดนีเซียหรือเวียดนาม ดังนั้นทหารต้องอ้างความชอบธรรมจากที่อื่น เวลาทหารอ้างว่า “ทำเพื่อกษัตริย์” จะได้ดูเหมือนว่าไม่ได้ยึดอำนาจมาเพื่อตนเอง จะเห็นได้ว่าการสร้างภาพว่ากษัตริย์มีอำนาจสูงสุด เป็นประโยชน์ในการปิดบังความจริงเกี่ยวกับการใช้อำนาจของทหาร ที่ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ตนเองเสมอ และทุกกลุ่มทุกรุ่นที่แย่งชิงผลประโยชน์กันเองในกองทัพ ก็จะพยายามโกหกเสมอว่า “ทำเพื่อในหลวง”
การใช้กษัตริย์เพื่อเป็นลัทธิที่ให้ความชอบธรรมกับอำมาตย์ ต่างจากยุโรปตะวันตกตรงที่อำมาตย์ไทยยังไม่ถูกบังคับโดยประชาชนให้ยอมรับประชาธิปไตย ดังนั้นลัทธิกษัตริย์ในไทย ใช้ในลักษณะเผด็จการพร้อมกับกฎหมายหมิ่นฯ หรือกฎหมายเผด็จการอื่นๆ และมีการสร้างภาพว่ากษัตริย์เป็นเทวดาเหนือมนุษย์ด้วยการหมอบคลานและการใช้ราชาศัพท์ ถ้าไทยจะมีระบบกษัตริย์เหมือนยุโรปตะวันตก ก็จะต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯ การหมอบคลาน และการใช้ราชาศัพท์ และต้องยินยอมให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์อย่างเสรีพร้อมกับการมีเสรีภาพในการเสนอระบบสาธารณรัฐอีกด้วย และที่สำคัญต้องมีการทำลายอำนาจทหารลงไป ในสถานการณ์แบบนั้น เราไม่จำเป็นต้องมาปกป้องหรือรื้อฟื้นกษัตริย์ในรูปแบบใหม่เลย ยกเลิกไปจะดีกว่า และจะมีประโยชน์กว่า เพราะจะประหยัดงบประมาณ และในอนาคตจะไม่มีใครสามารถอ้างกษัตริย์ในการทำลายประชาธิปไตยได้อีก

Monday 8 March 2010

ผู้ก่อตั้งลูกเสือโลก Baden Powell เป็นนาซี


ผู้ก่อตั้งลูกเสือโลก Baden Powell เป็นนาซี ข่าวล่าสุดจากเอกสารองค์กรสืบราชการลับอังกฤษ
และราชวงศ์ไทยก็ชื่นชมขบวนการลูกเสือและนาซีด้วย



Sunday 7 March 2010

ยุทธวิธีปฏิวัติในเมือง



ยุทธวิธีปฏิวัติในเมือง
บทเรียนจากทั่วโลก
บทเรียนสำคัญในไทยดูได้จาก ๑๔ ตุลา และพฤษภา ๓๕

ใจ อึ๊งภากรณ์

1. อาศัยมวลชนจำนวนมากเป็นแสน อาศัยการเมืองนำการทหาร ไม่ใช่ใช้กองโจร,กองกำลังพิเศษ หรือหน่วยกล้าตาย และฝ่ายเราไม่เริ่มความรุนรุนแรงก่อน แต่ประชาชนไม่ควรโง่ ไม่ซื่อ ไม่หลงคิดว่าฝ่ายเขาจะไม่ป่าเถื่อนไม่ฆ่าเรา ไม่ว่าเราจะถือธงหรือร้องเพลงอะไร

กฎเหล็กคือ ยิ่งมีมวลชนมากเท่าไร การนองเลือดจะน้อยลง เพราะฝ่ายตรงข้ามจะกลัว

2. การปฏิวัติ เป็นขั้นตอนเด็ดขาด ไม่ใช่เรื่องที่ทำเล่นๆถ้าไม่พร้อม พอเริ่มแล้วถอยไม่ได้ ถ้าถอยจะตาย เราต้องเดินหน้าโค่นอำมาตย์ ดึงรูปปั้นมันลงมาด้วย

3. มวลชนต้องคุยกับทหารชั้นล่างอย่างต่อเนื่อง ทำความเข้าใจและปลุกจิตสำนึกทางการเมือง เพื่อให้ทหารชั้นล่างเปลี่ยนข้างเมื่อถึงจุดสุดท้าย จะได้ลดการนองเลือด

4. ต้องมีการยึดอาวุธ ยึดรถถัง ต้องกั้นถนน ยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์ ยึดสถานที่ราชการ


ในอดีตทั่วโลกมีการใช้วิธีต่างๆ เพื่อปิดกั้นทหาร และสู้กับรถถังถ้าเขาใช้กำลังฆ่าฝ่ายประชาชน


และที่สำคัญ: ต้องขยันสร้างฐานมวลชนในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในสหภาพแรงงาน เพื่อให้มีการนัดหยุดงานหนุนช่วย เราจะได้คุมเศรษฐกิจได้

Wednesday 3 March 2010

วิจารณ์บทสัมภาษณ์ เกษียร เตชะพีระ “วิกฤตหลัง 26 กุมภาฯ”

วิจารณ์บทสัมภาษณ์ เกษียร เตชะพีระ “วิกฤตหลัง 26 กุมภาฯ”
มติชน 1 มีนาคม 2553


ใจ อึ๊งภากรณ์

บทสัมภาษณ์อาจารย์เกษียรใน มติชน มีข้อดีหลายประการคือ อธิบายว่าคำตัดสินของศาลในคดีทักษิณเป็นเรื่องที่แยกออกไม่ได้จากการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา คือเป็นการให้ความชอบธรรมกับรัฐประหารดังกล่าว อ.เกษียรพูดว่า “ถ้าไม่ยึดเลย เท่ากับทำลายความชอบธรรม ว่าที่ทำมาตลอด 4-5 ปีมันขี้หมาทั้งหมด หลอกทั้งเพ” ชัดเจนมาก และมีการอธิบายต่อไปว่าการทำรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาคอร์รับชั่นไม่ใช่แนวทางที่ถูก และเสี่ยงกับการนำไปสู่การทำลายความชอบธรรมทั้งปวงของระบบศาล อย่างที่เราเห็นในเรื่องสองมาตรฐานเกี่ยวกับการยึดสนามบินของฝ่ายพันธมิตรฯ ฯลฯ
ที่จริงแล้วถ้าจะว่าการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา “เสี่ยง” กับการทำลายความชอบธรรมของศาล ผมว่ามันทำลายไปนานแล้ว และศาลไทยไม่เคยมีความชอบธรรมในสายตาพลเมืองที่เป็นกรรมาชีพและคนจนเลย เพียงแต่ว่าคนไทย รวมถึง อ.เกษียรเอง ไม่มีเสรีภาพที่จะวิจารณ์ศาลอย่างที่เขาทำได้ในประเทศประชาธิปไตย เพราะศาลมีกฎหมายหมิ่นฯไว้บังคับความจงรักภักดี เหมือนกฎหมายหมิ่นกษัตริย์
อ. เกษียรพูดถูกเมื่อเสนอว่าเรา “ไม่สามารถพูดได้เต็ม 100% เกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของรัฐบาลคุณทักษิณ” ใช่เลยและผมก็เป็นหนึ่งในหลายคนที่วิจารณ์นโยบายละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้และสงครามยาเสพติดสมัยนั้น และเราปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาล ไทยรักไทย เคยพยายามครอบงำสื่อ
แต่ในขณะเดียวกัน การเสนอโดย อ.เกษียร ว่ารัฐบาลทักษิณ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งและเสียงข้างมากของประชาชน เป็น “ทรราชย์” ไม่สมเหตุสมผล การที่ไม่สมเหตุสมผลไม่ใช่เพราะรัฐบาลนั้นไม่ได้โหดร้ายทารุณ เพราะมีความโหดร้ายทารุณในกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่มันไม่สมเหตุสมผลเพราะรัฐบาลเอาออกได้ ผ่านการเลือกตั้งในกระบวนการประชาธิปไตย และเราเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลได้อีกด้วย เพราะไม่ได้มีการห้ามการประท้วง เซ็นเซอร์สื่อ หรือใช้กองกำลังปราบปรามพร้อมกฎหมายเผด็จการหลายชุด อย่างที่เราเห็นในกรณีรัฐบาล คมช. หรือรัฐบาลอภิสิทธิ์ปัจจุบัน

ปัญหาของการวิเคราะห์ของ อ.เกษียรมาจากกรอบมุมมองประเภท “ชนชั้นนำ” และกรอบมุมมองแบบ “พคท.” (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ที่เสนอว่าการปฏิวัติทุนนิยมในไทยยังไม่สมบูรณ์

แนวคิดแบบชนชั้นนำ เป็นกระแสหลักในวิชาการไทยมานาน ตั้งแต่สมัยที่มีการเสนอเรื่อง “รัฐข้าราชการ” ที่เน้นแต่บทบาททางสังคมของคนชั้นสูง โดยไม่พิจารณาบทบาทของคนส่วนใหญ่ในสังคมเลย สำนักคิดนี้ในไทยเติบโตมาจากงานของ Fred Riggs ในยุคเผด็จการสฤษดิ์ ที่เสนอว่าไทยเป็นรัฐข้าราชการ และคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่สนใจและไม่มีบทบาททางการเมือง งาน “สองนคราประชาธิปไตยไทย” ของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ก็คล้อยตามแนวนี้พอสมควร เพราะมองว่าคนจนในชนบทคิดเองไม่เป็น
อ.เกษียร เป็นส่วนหนึ่งของปัญญาชนไทยที่มีจุดยืนทำนอง “ผมไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารโดยหลักการ แต่ ไม่รู้จะจัดการกับ ‘ทรราชย์ทักษิณ’ อย่างไรนอกจากการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา” มันเป็นการสนับสนุนรัฐประหารในรูปธรรมเพราะมองไม่ออกว่ามีทางเลือกอื่น และ อ.เกษียรก็ไม่เสนอทางเลือกอื่นเลย แต่ในขณะเดียวกันมันเป็นการฟอกตัวให้ดูขาวสะอาด
การเชื่อว่า “ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากรัฐประหาร ๑๙ กันยา” มาจากความเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือก ไทยรักไทย “เข้าไม่ถึงข้อมูล” (โง่) “ถูกครอบงำจนต้องพึ่งพาทักษิณ” (ไม่มีวุฒิภาวะ) และ “ไม่ได้เลือก ไทยรักไทย อย่างเสรี” (คิดเองไม่เป็น) แต่ความจริงมันตรงข้าม มีการพิสูจน์แล้วพิสูจน์อีกในการเลือกตั้งหลายรอบ และพิสูจน์ต่อในลักษณะการจัดตั้งและเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวเองเพื่อประชาธิปไตย โดยไม่ได้อาศัยการจ้างมาโดยเงินทักษิณ แต่พวกเสื้อเหลืองก็พูดเหมือนนกแก้วว่าคนเสื้อแดงเป็นแค่เครื่องมือของทักษิณ และนักวิชาการจำนวนมากมองว่าตนเองมีวุฒิภาวะมากกว่าประชาชน
การที่คนอย่าง อ.เกษียรไม่เชื่อว่าเราสามารถเอารัฐบาลทักษิณออกด้วยวิธีประชาธิปไตย ก็เพราะหมดความศรัทธาในการสร้างพรรคการเมืองของประชาชนชั้นล่างหลังการล่มสลายของ พคท. ซึ่งความคิดแบบนี้เป็นกระแสเดียวกับการเปลี่ยนจากการเชื่อมั่นในมวลชนคนชั้นล่าง และหันไปตั้งความหวังใน “ผู้ใหญ่” ซึ่งเกิดขึ้นในขบวนการ เอ็นจีโอ และทั้งๆ ที่ อ.เกษียรไม่สบายใจกับการตั้งความหวังกับผู้ใหญ่และมองว่ามันมีปัญหา แต่เขาไม่มีข้อเสนอว่าจะแก้ไขสถานการณ์แบบนี้อย่างไรเป็นรูปธรรม นอกจากการโทษคนไทยด้วยกัน ถ้าเราจะแก้ปัญหานี้เราต้องทำงานจัดตั้งและทำงานเคลื่อนไหวพร้อมๆกับการเป็นนักวิชาการ ซึ่งไม่ง่านและอาจเห็นผลช้า แต่เป็นเรื่องจำเป็น
การที่คนเสื้อแดงจำนวนมาก “รักทักษิณ” หรือ “สู้เพื่อปกป้องทักษิณ” เพราะเห็นชอบกับนโยบาย ไทยรักไทย ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็น “ลูกน้องทักษิณ” และ “สู้ตามคำสั่งและเงินของทักษิณ” แต่อย่างใด และมันไม่ได้หมายความว่าเขา “แค่สู้เพื่อทักษิณ” เพราะเราจะเห็นว่าคนเสื้อแดงสู้เพื่อ “ประชาธิปไตยแท้” และ “ต้านอำมาตย์” ด้วย เป็นเรื่องดีที่ อ.เกษียรไม่ได้มองแบบตื้นเขินและกลไกเหมือนพวกเสื้อเหลือง เพราะเขาเสนอว่า “ถึงที่สุด ผมไม่เชื่อว่า ทักษิณคุมเสื้อแดง” แต่ในขณะเดียวกัน อ.เกษียรยังให้ความสำคัญไม่พอกับ “ลักษณะการเป็นประชาสังคมเพื่อประชาธิปไตย” ของคนเสื้อแดง เขาไม่พูดถึงข้อแตกต่างที่เสื้อแดงมีกับพันธมิตรฯ ซึ่งในกรณีพันธมิตรอาจนำตนเองบ้างแต่ประเด็นสำคัญคือสู้เพื่อเผด็จการและระบบอำมาตย์ เสื้อแดงกับเสื้อเหลืองไม่ใช่พลังประชาชนที่แค่อยู่ฝ่ายตรงข้าม เพราะฝ่ายหนึ่งสู้เพื่อประชาธิปไตยและอีกฝ่ายสู้เพื่ออำมาตย์ ทั้งๆที่เสื้อแดงก็ไม่ใช่เทวดา เป็นแต่ประชาชนธรรมดาที่อาจผิดพลาดกันได้

การวิเคราะห์ของนักวิชาการที่อาศัยกรอบแนว “สตาลิน-เหมา” ของ พคท. เสนอว่าไทยเป็น “กึ่งศักดินา” เพราะการปฏิวัตินายทุนยังไม่สมบูรณ์ อ.เกษียรและคนอื่นมองว่าความขัดแย้งที่นำไปสู่รัฐประหาร ๑๙ กันยาว่าเป็นความขัดแย้งระหว่าง “นายทุนโลกาภิวัตน์สมัยใหม่”(ทักษิณ) กับ “ทุนเก่าจากระบบกึ่งศักดินาของอำมาตย์” มันเป็นมุมมองที่เสนอการปฏิวัตินายทุนและขั้นตอนของประวัติศาสตร์ในลักษณะกลไก เป็นการสวมประวัติศาสตร์ศตวรรษที่ 18 ในยุโรปทับสถานการณ์บ้านเมืองในไทยปัจจุบัน มีการพยายามแสวงหาการปฏิวัติในไทยที่มีรูปแบบเหมือนการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 และเมื่อหาไม่เจอ ก็สรุปว่ายังไม่ได้เกิดขึ้นหรือยังไม่สำเร็จโดยสมบูรณ์ ยิ่งกว่านั้นมันเสี่ยงกับการสร้างนิยายว่านายทุนบริสุทธิ์สมัยใหม่หรือแนวเสรีนิยมส่งเสริมประชาธิปไตย
หลังค.ศ. 1848 ชนชั้นนายทุนในยุโรปได้ประนีประนอมกับอำนาจขุนนางเก่า ซึ่งอ่อนแอลงเนื่องจากการขยายตัวของทุนนิยม ดังนั้นชนชั้นนายทุนสามารถครองอำนาจได้โดยไม่ต้องปฏิวัติแบบเก่าอีก และที่สำคัญคือการปฏิวัติแบบ 1789 ในฝรั่งเศสเสี่ยงต่อการที่ชนชั้นล่าง โดยเฉพาะกรรมาชีพในเมือง จะตื่นตัวร่วมปฏิวัติและจะเดินหน้าโค่นล้มนายทุนไปด้วย อย่างที่เกิดในรัสเซียในปี 1917 นี่คือสาเหตุที่ คาร์ล มาร์คซ์ มองว่านายทุนหลัง 1848 เป็นชนชั้นที่ขี้ขลาดไม่กล้านำการปฏิวัติ ในประเทศด้อยพัฒนา(ในยุคนั้น)อย่าง เยอรมัน ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ไทย ชนชั้นปกครองเก่าทำการปฏิวัติเอง เพื่อเปิดทางให้ทุนนิยมพัฒนาเต็มที่ และแปลงตัวเป็นนายทุน สิ่งนี้เกิดในไทยในช่วงรัชกาลที่ ๕ และศักดินาก็หมดไป
สำนักคิด สตาลิน-เหมา ที่ พคท. ใช้ในการวิเคราะห์สังคมไทย เป็นแนวคิดที่มองว่าประเทศด้อยพัฒนายังเป็น “กึ่งศักดินา-กึ่งเมืองขึ้น” อยู่ ทั้งนี้เพื่อเสนอว่าการต่อสู้ขั้นตอนต่อไปในประเทศเหล่านี้ต้องเป็นขั้นตอน “ประชาชาติประชาธิปไตย” หรือขั้นตอน “สถาปนาทุนนิยม” นั้นเอง มันเป็นทฤษฏีที่สร้างความชอบธรรมกับการทำแนวร่วมระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับชนชั้นนายทุนรักชาติ ซึ่งในภายหลังมีการตีความต่อไปว่าควรทำแนวร่วมกับทักษิณ “เพื่อต่อต้านศักดินา”
อย่างไรก็ตาม ทักษิณ ยืนยันอยู่ตลอดว่าเขารักและจงรักภักดีต่อกษัตริย์ เหมือนกับที่กลุ่มทุนใหญ่ในยุโรปก็อ้างความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ของเขา ไม่ว่าจะอังกฤษหรือฮอลแลนด์ ฯลฯ ประเด็นคือสถาบันกษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของ “ความชอบธรรม” ในการอนุรักษ์ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่ “มอบลงมาจากพระเจ้า” หรือ “เป็นลักษณะดั้งเดิมของไทย” ที่ฝ่าฝืนไม่ได้
อ.เกษียร พูดว่า “หัวใจของทุนนิยมคือกรรมสิทธิ์ แต่คำตัดสินวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ได้พาดเข้าไปกลางหัวใจทุนนิยม กล่าวคือ เมื่อถึงจุดหนึ่ง รัฐสามารถเข้าไปยึดทรัพย์สินของเอกชนได้ เหมือนเชือดไก่ให้ลิงดู” แต่อำมาตย์เป็นนายทุนเหมือนทักษิณ และไม่มีวันต้องการทำลายระบบทุนนิยมและกรรมสิทธิ์ปัจเจก
แนวคิดแบบนี้มองข้ามลักษณะการเป็นนายทุนสมัยใหม่ของเครือข่ายอำมาตย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพฯ บริษัทซีพี ฯลฯ ซึ่งอยู่ในเครือข่ายอำมาตย์ เป็นทุนโลกาภิวัตน์สมัยใหม่ และเป็นทุนไทยข้ามชาติมาก่อนที่ทุนทักษิณจะเจริญเติบโตอีกด้วย แนวเศรษฐศาสตร์การเมืองของอำมาตย์ โดยเฉพาะของรัฐบาลทหารตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ปัจจุบัน คือแนวเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้ว เขาปล่อยวางไม่ยอมใช้รัฐพัฒนาสังคมอย่างเป็นระบบ ไทยจึงเหลื่อมล้ำสูงและกรุงเทพฯจึงมีปัญหาจราจรที่ไม่ยอมแก้ พรรคประชาธิปัตย์และนักวิชาการเสื้อเหลืองโจมตีการใช้งบประมาณของรัฐสมัยทักษิณ เพราะ “ขัดกับวินัยทางการคลัง” และ “สร้างระบบอุปถัมภ์” ศัพท์เสรีนิยมทั้งสิ้น รัฐธรรมนูญปี ๕๐ ของ คมช. เพิ่มการเน้นนโยบายกลไกตลาดเสรี และพิสูจน์ให้เห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียง ไปได้สวยกับทิศทางกลไกตลาดเสรี ในขณะเดียวกัน รัฐบาลทักษิณใช้ทั้งเสรีนิยมกลไกตลาด และรัฐพัฒนาเศรษฐกิจ (แนวเคนส์รากหญ้า) ซึ่งเรียกกันว่าแนวเศรษฐกิจ “คู่ขนาน”
แนวความคิดเรื่อง “ทุนใหม่” กับ “ทุนเก่า” ที่สืบรากมาจากการวิเคราะห์ของ พคท. แต่ถูกใช้โดยคนที่ปฏิเสธ พคท. นั้นไม่ตรงกับข้อมูลในโลกจริง เป็นมุมมองของคนที่ขี้เกียจมองออกไปข้างนอก
ความขัดแย้งหลักระหว่างอำมาตย์กับทักษิณจึงไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่าง “ทุนเก่า” ในลักษณะกึ่งศักดินา กับ “ทุนใหม่” ในลักษณะทุนสมบูรณ์แบบโลกาภิวัตน์สมัยใหม่ แต่ความขัดแย้งเกิดจากแนวร่วมระหว่างนักการเมืองทุนนิยมในรูปแบบทักษิณ กับ พลเมืองจำนวนมากที่ยากจน
ปัญหาคือ อ.เกษียร มองว่าแนวร่วมนี้มีลักษณะ “ทักษิณจูงคนจน” มากกว่าการเป็นแนวร่วมระหว่างกลุ่มพลังสองกลุ่ม ถ้ามันเป็นแค่ทักษิณจูงคนจนมันจะไม่เป็นแนวร่วมเลย แต่ อ.เกษียรพูดว่า “นโยบายเอื้ออาทรก็อุ้มคนเหล่านี้” เหมือนอุ้มเด็กทารกที่สู้เองไม่ได้
ข้อขัดแย้งกับอำมาตย์คือแนวร่วมนี้มีพลังจากทักษิณและรากหญ้าพร้อมกัน คู่แข่งที่เป็นกลุ่มอำนาจเก่าหรือคนที่เคยครองอำนาจการเมืองมานาน ไม่สามารถแข่งกับอำนาจทางการเมืองแบบนี้ได้ เพราะทักษิณสามารถปลุกใจพลเมืองไทยรากหญ้าให้กล้ามีสิทธิ์มีเสียง ในขณะที่กลุ่มอำนาจเก่าเคยชินกับการปกครองสั่งลงมาอย่างเดียว และสาเหตุที่ทักษิณสมารถนำการต่อสู้ของคนชั้นล่างในรูปแบบผิดเพี้ยนแบบนี้ได้ ก็เพราะความอ่อนแอของฝ่ายซ้ายตั้งแต่การล่มสลายของ พคท. ถ้าคุณไม่วิเคราะห์แบบชนชั้นและไม่ให้ความสำคัญกับมวลชนรากหญ้าเพียงพอ คุณจะมองไม่เห็นภาพนี้ และคุณจะอัมพาตทางการเมือง เลือกข้างประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตยไม่ได้