Tuesday 29 June 2010


อภิสิทธิ์กับอำมาตย์มือเปื้อนเลือด
ห้ามเพื่อไทยหาเสียงหรือวิจารณ์รัฐบาลในการเลือกตั้งซ่อม

7 ขั้นตอนในการสร้าง “ประชาธิปไตยพอเพียง”
ใจ อึ๊งภากรณ์

1. “รัฐประหารเพื่อประชาธิปไตย” ๑๙ กันยา ทหารทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อยับยั้งการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนจน เพราะ “คนจนโง่เกินไปที่จะมีสิทธิ์มีเสียงได้”
2. รัฐธรรมนูญทหาร ย้อนยุคแต่งตั้ง ส.ว. โดยทหาร และให้ความชอบธรรมกับรัฐประหาร ฟอกตัวคนทำผิด แถมเน้นนโยบาย “เศรษฐกิจพอเพียง” คนรวยมีทรัพย์สมบัติพันล้าน คนจนไม่มีอะไร แต่ต้องพอเพียงและนิ่งเฉย
3. “ประชาธิปไตยไร้พ่อครัว” การทำรายการอาหารในโทรทัศน์ผิดหลักประชาธิปไตยพอเพียง
4. “ประชาธิปัตย์ไร้ประชาธิปไตย” ทหารแต่งตั้งอภิสิทธิ์และประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง มีการเซ็นเซอร์สื่ออย่างหนัก และใช้กฎหมายหมิ่นฯไล่จับฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อไม่ให้มีประชาธิปไตย “มากเกินไป”
5. “ประชาธิปไตยไร้สิทธิมนุษยชน” รัฐบาลและทหารฆ่าประชาชนมือเปล่าที่เรียกร้องประชาธิปไตย 90 ศพ เพื่อหลีกเลี่ยง “ประชาธิปไตยมากเกินไป” และการเลือกตั้ง
6. “ปฏิรูปการเมืองไร้ประชาธิปไตย” รัฐบาลมือเปื้อนเลือดเริ่มกระบวนการ “ปฏิรูป” โดยไม่มีประชาธิปไตย ยังมี พรก. ฉุกเฉิน ฯลฯ มีการเชิญหน้าเก่าจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมมาเป็นหัวหอก ในขณะเดียวกันประเทศไทยมีนักโทษการเมืองเกิน 400 คน และมีการไล่ฆ่าคนเสื้อแดงในต่างจังหวัด
7. “ห้ามวิจารณ์รัฐบาลในการเลือกตั้ง” รัฐบาลประกาศห้ามหาเสียง ห้ามวิจารณ์รัฐบาล ในการเลือกตั้งซ่อมที่กรุงเทพฯเขต ๖ เพราะฝ่ายค้านนำ ก่อแก้ว (เบอร์๔) มาลงสมัคร

Wednesday 23 June 2010

อะไรคือผลของการปฏิวัติ ๒๔๗๕?



อะไรคือผลของการปฏิวัติ ๒๔๗๕?

ใจ อึ๊งภากรณ์



ในคำประกาศฉบับที่หนึ่งของคณะราษฎร์ ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ มีท่อนหนึ่งที่เขียนไว้ว่า....

“ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎรไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้กู้ให้ประเทศมีอิสรภาพพ้นมาจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบ และกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั่นเอง”

ในตอนท้ายมีการเสนอนโยบายว่า...
1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชของประเทศ (ซึ่งแสดงว่ารัฐบาลกษัตริย์ไม่ได้ปกป้องเอกราชอย่างที่เรามักจะถูกสอน)
2. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3. ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดรัฐสวัสดิการ
4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ
6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ถ้ามองตรงนี้อย่างผิวเผิน เราอาจสรุปว่าอำมาตย์สามารถหมุนนาฬิกากลับและทำลายผลของการปฏิวัติไปทั้งปวง แต่ความจริงซับซ้อนกว่านั้น

ในด้านหนึ่ง แน่นอน ความฝันของแกนนำคณะราษฎร์อย่างอาจารย์ปรีดี ที่จะเห็นนโยบายแปดข้อข้างบนกลายเป็นความจริง โดยเฉพาะเรื่องรัฐสวัสดิการ หรือเรื่องอิสรภาพและความเท่าเทียมของทุกคน ยังไม่บรรลุผลสำเร็จเลย และอาจารย์ปรีดีก็โดนฝ่ายนิยมเจ้ากับทหารไล่ออกจากประเทศไทย ต้องไปเสียชีวิตนอกประเทศ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง นาฬิกาไม่ได้ถูกหมุนกลับไปสู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่รัชกาลที่ห้าตั้งขึ้นหลังปฏิวัติระบบศักดินา เพราะอำนาจการปกครองถูกกระจายไปสู่ทหาร ข้าราชการ และนายทุน ซึ่งเราสามารถเรียกโดยรวมว่าพวก “อำมาตย์” เพราะเขาไม่สนใจสนับสนุนประชาธิปไตยแท้ พร้อมจะขัดขวางสิทธิเสรีภาพเสมอ และทนกับประชาธิปไตยรัฐสภาก็ต่อเมื่อกลุ่มของตนครองอำนาจอยู่ได้เท่านั้น

ในช่วงแรกหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ กลุ่มทหาร กับกลุ่มนิยมเจ้า เป็นศัตรูกัน จอมพล ป.พิบูลสงครามและพรรคพวกเป็นผู้ล้มเจ้า และพวกนิยมเจ้าต้องการกลับมา แต่หลังความพ่ายแพ้ของกบฏบวรเดช และหลังรัฐประหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พวกนิยมเจ้ากับพวกทหารเผด็จการก็กลายเป็นพวกเดียวกัน โดยที่กษัตริย์มีหน้าที่ในการเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิกษัตริย์ที่ให้ความชอบธรรมกับการกระทำและอำนาจของทหาร และทหารเชิดชู อุดหนุนทางการเงิน และสงเสริมกษัตริย์เป็นการตอบแทน มันเป็นลักษณะการร่วมมือกัน ฝ่ายทหารมีอำนาจ และฝ่ายกษัตริย์มีบารมีทางความคิด ที่ใช้กล่อมเกลาประชาชนให้เชื่อฟังชนชั้นปกครอง ซึ่งมันเป็นลักษณะที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ สิ่งที่เสริมให้ความสัมพันธ์นี้มั่นคงมากขึ้นคือ กฎหมายหมิ่นฯ เพื่อให้กษัตริย์ถูกวิจารณ์ไม่ได้ และการใช้อาวุธสงครามของทหาร เพื่อเข่นฆ่าประชาชนที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ

แต่เราต้องเข้าใจเพิ่มว่าเมื่อทหารกับพวกนิยมเจ้าเข้าทำแนวร่วมด้วยกัน เขาพยายามสร้างภาพหลอกลวงประชาชนว่ามีการหมุนนาฬิกากลับไปสู่ระบบเก่าในลักษณะ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบประชาธิปไตย” ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะกษัตริย์ไร้อำนาจ และไม่ใช่ประชาธิปไตยด้วย ผมจำได้ดีว่าในยุค สฤษดิ์ ถนอม ประภาส ผมและเพื่อนๆในห้องเรียนจะถูกสอนว่าประเทศไทยเป็น “ประชาธิปไตย” ในเพลงชาติก็มีเนื้อแบบนั้นด้วย ทั้งๆ ที่มันเป็นเผด็จการชัดๆ และใครที่ค้านเผด็จการ ก็จะถูกกล่าวหาว่าล้มเจ้า ในปัจจุบันก็เป็นอย่างนั้น

ข้อดีของการสร้างภาพนี้สำหรับอำมาตย์ คือเขาสามารถทำให้เราเกรงกลัว “อำนาจกษัตริย์” ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นอำนาจกองทัพ การที่เราถูกสอนให้รักและกลัวนายภูมิพลเหมือนกับว่าเขาเป็นทั้งพ่อและเทวดา เป็นวิธีที่จะกล่อมเกลาให้ประชาชนจงรักภักดีต่อทหารและชนชั้นปกครองทั้งหมดโดยรวม

การที่ความฝันของอาจารย์ปรีดีไม่บรรลุผลสำเร็จ ไม่ใช่เพราะการปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” อย่างที่เราทุกคนถูกฝ่ายนิยมเจ้าสอนมานาน แต่เป็นเพราะอาจารย์ปรีดีพึ่งพาทหารมากเกินไปในการทำการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และที่สำคัญไม่สามารถสร้างพรรคราษฎรขึ้นมาเป็นพรรคมวลชน เพื่อสู้กับทหารและฝ่ายนิยมเจ้า ซึ่งเป็นสองปฏิปักษ์ของประชาธิปไตยในไทยมานาน และยังเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชนเสื้อแดงที่รักประชาธิปไตยอยู่ทุกวันนี้

บทสรุปสำคัญคือ อย่าไปพึ่ง“ทหารแตงโม” ต้องมองกองทัพว่าเป็นปฏิปักษ์ อย่าไปหาทางลัดเพื่อสร้างประชาธิปไตย เราต้องพัฒนาขบวนการมวลชนและสร้างพรรคมวลชนของคนเสื้อแดงที่จะเสนอรัฐสวัสดิการและความเท่าเทียมเสมอภาค “ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่”

Tuesday 8 June 2010

แนวรบ 8 ข้อ ของเสื้อแดงหลังราชประสงค์


ยุทธศาสตร์สำคัญ
แนวรบ 8 ข้อ ของเสื้อแดงหลังราชประสงค์

ข้อเสนอจาก ใจ อึ๊งภากรณ์




การฆ่าประชาชนมือเปล่าอย่างเลือดเย็นโดยอำมาตย์ และการล่าจับแกนนำเสื้อแดง เป็นสิ่งที่ท้าทายเราอย่างถึงที่สุด ห้าครั้งแล้วในรอบสี่สิบปีที่อำมาตย์ฆ่าประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย เราไม่สามารถยอมจำนนอีกต่อไปได้ ถ้าไม่สู้ก็เป็นทาส ถ้าไม่สู้เราไม่มีวันสร้างรัฐไทยใหม่ที่ประชาชนเป็นใหญ่ เราไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมทางสังคม เราไม่สามารถสร้างความเป็นพลเมืองแทนการเป็นไพร่ และสังคมไทยจะจมอยู่ในยุคมืดและความด้อยพัฒนาต่อไป
เราต้องสู้... แต่เราต้องสู้ด้วยปัญญา ไม่ใช่หลงใหลในนิยายของการจับอาวุธ การจับอาวุธจะเป็นแค่ยุงกัดสำหรับอำมาตย์ สิ่งที่อำมาตย์กลัวคือมวลชน เราควรหลงใหลคิดว่าจะมีพระเอกที่ไหนมาปลดแอกเราหรือทำแทนเราอีกด้วย เราต้องพัฒนาการต่อสู้ของมวลชน และพัฒนาระดับการเมืองของฝ่ายเรา

1. รื้อฟื้นองค์กรและเครือข่ายเสื้อแดง จากระกับรากหญ้า ระดับชุมชน พวกเราเริ่มอยู่แล้ว แต่เราต้องทำอย่างเป็นระบบทั่วประเทศ ทุกโอกาส ไม่ว่าจะเป็นงานศพ การทำบุญ การร่วมกันกินข้าว การดื่มกาแฟ การแข่งกีฬา ฯลฯ ต้องกลายเป็นกิจกรรมทางการเมืองของฝ่ายเรา ต้องเป็นโอกาสที่จะคุยกัน และที่จะเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างจังหวัดต่างๆ อย่าไปคิดว่าแกนนำระดับชาติจะทำให้ เขาทำไม่ได้เพราะแกนนำสำคัญติดคุกอยู่ ในกรณีที่ไม่ติดคุกก็ทำไม่ได้เพราะทำไม่เป็น พวกเราในระดับรากหญ้าทำได้ และเราเริ่มทำกันแล้ว ถ้าไพร่จะกบฏจริง ไพร่ต้องเลิกประเมินตัวเองต่ำเกินไป เราต้องก้าวเข้ามาเป็นแกนนำรุ่นใหม่ที่ผูกพันอย่างใกล้ชิดกับเสื้อแดงรากหญ้า แกนนำใหม่นี้ต้องเน้นการปรึกษาหารือกับมวลชนตลอด ไม่มีพระเอก ไม่มีผู้ใหญ่ มีแต่ไพร่นักสู้มืออาชีพที่จะปลดแอกตนเอง รายละเอียดของการปฏิบัติการต้องประเมินเองตามความเหมาะสมและความสามารถ เงินทุนในการเคลื่อนไหวต้องร่วมกันลงขัน เงินทุกบาทที่เราลงขัน เป็นการแก้แค้นเอาคืนจากสิ่งชั่วร้ายที่อำมาตย์กระทำกับเรา เป็นการทำบุญให้วีรชนที่เสียชีวิต การทำงานของเราจะปิดลับแค่ไหนขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่อย่าลืมว่าการปิดลับเป็นอุปสรรค์ต่อการสร้างประชาธิปไตยภายในของขบวนการ

2. ถ้าเราจะสู้เราต้องมีระบบข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือ ไม่ต้องพึ่งสื่อรัฐ ASTV หรือข่าวลือ เราทำตรงนี้ได้ผ่านเอกสาร ซีดี วิทยุชุมชน อินเตอร์เน็ท การคุยกันทางโทรศัพท์ และการพบกันเป็นประจำ

3. เราต้องรวบรวมรายชื่อผู้ติดคุก เพื่อรณรงค์ช่วยเหลือนักต่อสู้และผู้นำของเรา ขบวนการไหนไม่สามารถปกป้องคนของตนเองหรือไม่สามารถรณรงค์ให้ปล่อยนักโทษการเมือง จะไม่มีวันชนะ เราต้องทำเอง ไม่มีใครจะมาทำให้เรา ไพร่ต้องพึ่งตนเอง แต่ไพร่คือคนส่วนใหญ่ของสังคม

4. เราต้องเรี่ยรายเงินเพื่อช่วยเหลือคนบาดเจ็บและครอบครัวของผู้เสียชีวิต หลายแห่งเริ่มทำแล้วกิจกรรมแบบนี้ และกิจกรรมการรณรงค์สนับสนุนคนติดคุก จะเป็นการ “ออกกำลังกายฝึกฝน” ที่สำคัญและมีประโยชน์สำหรับการพัฒนาเครือข่ายเสื้อแดงทั่วประเทศ

5. เมื่อเราพร้อม เราควรจะเปลี่ยนจากการสู้เพื่อปกป้องช่วยเหลือพวกเรา ไปเป็นการรุกสู้กับอำมาตย์ คราวนี้ต้องหาทาง “ปิดเมือง” เช่นนัดอยู่บ้านไม่ไปทำงาน ปิดร้านค้า ปิดธุรกิจ และนัดหยุดงานในโรงงานและสถานที่ทำงานต่างๆ อย่างที่เขาทำกันในประเทศอื่นๆ ของเอเชียหรือที่อัฟริกาใต้และลาตินอเมริกา มันแปลว่าเราต้องมีการพูดคุย วางแผน และขยายเครือข่ายเข้าสู่ขบวนการสหภาพแรงงาน และชุมชนต่างๆ พื้นที่เหล่านี้ต้องเป็นของเราให้ได้ เราจะต้องหาทางไม่ร่วมมือกับรัฐอำมาตย์ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แล้วค่อยๆ ขยายเป็นเรื่องใหญ่อีกด้วย

6. พัฒนาความคิดทางการเมืองแบบ “ตาสว่าง” การที่เราจะ “ตาสว่าง” ไม่ได้แปลว่าเราจะมองว่าใครคนใดคนหนึ่ง เช่นนายภูมิพล นางสิริกิติ์ หรือนายเปรม เป็นผู้บงการทุกอย่าง พวกนั้นมันเลวจริง แต่เราต้องเข้าใจว่าทหาร ข้าราชการ นักการเมือง และนายทุนใหญ่ของอำมาตย์ ร่วมกันใช้ “ลัทธิกษัตริย์” (ชาติ ศาสนา กษัตริย์) ในการสร้างความชอบธรรมกับการกดขี่ขูดรีดที่พวกมันทั้งแก๊งทำกับเรา อำมาตย์มันเป็นคณะ มันใช้ลัทธิกษัตริย์ปิดหูปิดตาเราและในการสร้างความกลัวตั้งแต่เราเข้าโรงเรียน เราจึงต้องสลัดมันทิ้งไป เลิกจงรักภักดี เริ่มหันมาเคารพประชาชนแทน เราต้องเกลียดกองทัพฆาตกรพอๆกับที่เราเกลียดอำมาตย์อื่นๆ เราต้องศึกษาประวัติศาสตร์ตั้งแต่ ๒๔๗๕ ผ่านเหตุการณ์เดือนตุลา ไปสู่ปัจจุบัน และต้องศึกษาประวัติศาสตร์ประเทศอื่นๆ อีกด้วย

7. พัฒนาข้อเรียกร้องทางการเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องยุบสภา ไม่ใช่แค่ประชาธิปไตย แต่ต้องให้ประชาชนเป็นใหญ่จริงๆแล้วมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีงานทำ มีฐานะเศรษฐกิจดี มีรัฐสวัสดิการ มีการเก็บภาษีสูงๆจากอภิสิทธิ์ชนของอำมาตย์ มีการปฏิรูประบบศาลอย่างถอนรากถอนโคน มีการล้มกองทัพและสร้างกองกำลังใหม่เพื่อความปกป้องปลอดภัยของประชาชนแทนการฆ่าประชาชน ต้องมีการสร้างแนวร่วมกับพี่น้องชาวมุสลิมมาเลย์ในภาคใต้ที่ถูกอำมาตย์และกองทัพเข่นฆ่ากดขี่มานานเหมือนเรา ต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นกษัตริย์ และต้องมีเวทีปฏิรูปเพื่อให้ประชาชนร่วมกันพิจารณาว่าจะทำยังไงกับสถาบันกษัตริย์และรัฐไทย จะยกเลิกไป หรือปฏิรูป ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เราต้องคุยกันให้ชัดเจน

8. จะทำอย่างไรกับพรรคเพื่อไทย? ตลอดเวลาที่เสื้อแดงต่อสู้บนท้องถนน ส.ส.พรรคเพื่อไทยจำนวนมาก ไม่ทำอะไรเลย พอเราถูกปราบเขาก็ไม่ทำอะไร ที่พูดอย่างนี้ผมไม่นับคนที่เป็นแกนนำบนเวทีราชประสงค์อย่างจตุพร ซึ่งทำหน้าที่อย่างดีที่สุด แต่เราคงต้องยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยมีปัญหามากมาย เราสามารแก้ปัญหานี้ด้วยสองวิธีคือ
ใช้ขบวนการคนเสื้อแดงกดดันพรรค เพื่อให้พรรคเปลี่ยนแปลง ปฏิวัติพรรคจากภายในให้เริ่มเสนอนโยบายใหม่ๆ และมีส่วนในการนำการต่อสู้ โดยการเปลี่ยน ส.ส. แกนนำ และความคิดในพรรค
หรือ เราอาจตัดสินใจสร้างพรรคเสื้อแดงขึ้นมาเป็นพรรคใหม่แทนพรรคเพื่อไทย เพื่อให้เป็นพรรคตัวแทนของเราจริงๆ เป็นพรรคตัวแทนของคนที่พร้อมจะสู้ พร้อมจะเห็นรัฐไทยใหม่
การเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่ง ต้องอาศัยการพูดคุยแลกเปลี่ยนภายในวงกว้างของคนเสื้อแดงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เราต้องรักษาขบวนการเสื้อแดงที่เข้มแข็งและอิสระ เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมนอกรัฐสภา เพื่อให้เป็นเจ้านายของพรรคเพื่อไทย ไม่ให้พรรคใช้เสื้อแดงเป็นฐานเสียงโดยไม่ให้อะไรกับเรา

8 มิ.ย. 2553