Tuesday 13 October 2009

บทเรียนจากการล้มทหารในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

บทเรียนจากการล้มทหารในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ท่ามกลางการต่อสู้ของนักศึกษา กรรมกร ชาวนา และประชาชนทั่วไป เผด็จการทหารของ ถนอม กิตติขจร ประภาส จารุเสถียร และณรงค์ กิตติขจร ถูกโค่นล้มไป สามทรราชนี้ต้องหนีออกนอกประเทศ เพราะมีส่วนในการสั่งฆ่าประชาชนผู้ไร้อาวุธท่ามกลางกรุงเทพฯ ไม่ต่างอะไรจาก “อภิสิทธิ์มือเปื้อนเลือด” ในยุคนี้

รัฐบาลเผด็จการทหารของ ถนอม-ประภาส-ณรงค์ เป็นรัฐบาลอำมาตย์ที่รับมรดกอำนาจจากจอมเผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เราคงจำได้ว่า สฤษดิ์ เป็นนายทหารที่มีบทบาทสำคัญในการรื้อฟื้นอำนาจและบารมีของกษัตริย์ภูมิพล หลังจากที่ความนิยมเจ้าในไทยตกต่ำตั้งแต่ช่วง ๒๔๗๕ นอกจากถนอม-ประภาส-ณรงค์ จะรับมรดกอำนาจจาก สฤษดิ์ แล้ว ยังรับมรดกวิธีโกงกินชาติบ้านเมืองจากครูใหญ่อีกด้วย เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ทหารเข้ามากินบ้านกินเมืองยกใหญ่

เวลานักศึกษานำขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย ออกจากธรรมศาสตร์ สู่ถนนราชดำเนิน มีนักศึกษาถือรูปกษัตริย์และราชินีนำหน้า ซึ่งแสดงว่านักศึกษาพวกนี้ยังต้องการพิสูจน์ความจงรักภักดีอยู่ แต่นั้นก็ไม่สามารถป้องกันเขาจากกระสุนของอำมาตย์ได้ ในช่วงท้ายของการเดินขบวนมีการอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากกษัตริย์ที่วังสวนจิตรลดาอีกด้วย ตอนนั้นฝ่าย ถนอม-ประภาส-ณรงค์ พยายามป้ายสีนักศึกษาว่าบุกเข้าไปเพื่อโค่นกษัตริย์ แต่การป้ายสีไม่สำเร็จเพราะเผด็จการทหารหมดอำนาจและความชอบธรรมไปแล้ว

ในการวิเคราะห์สถานการณ์ ในช่วง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เราควรปฏิเสธนิยาย 3 ข้อเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ

1. นิยายที่เสนอว่าประชาชน “ถูกหลอกมาเดินขบวน” เพื่อรับใช้ผู้ใหญ่ที่ขัดแย้งกัน ซึ่งนอกจากจะดูถูกวุฒิภาวะของนักศึกษาและประชาชนแล้ว ยังเป็นนิยายที่เหมือนกับคำพูดของเสื้อเหลืองที่มองว่าคนเสื้อแดงโง่และถูกทักษิณหลอก ความคิดแบบนี้ชวนให้เราเลิกสู้และอยู่บ้าน เป็นนิยายที่หวังทำลายขบวนการประชาชน

2. นิยายที่เสนอว่าเผด็จการทหารถูกล้มเพราะนายทหารชั้นสูงขัดกันเอง ซึ่งพยายามมองแต่ผู้ใหญ่และตาบอดถึงบทบาทหลักของประชาชนหรือมวลชนในการเปลี่ยนสังคม มันเป็นมุมมองที่เชียร์อภิสิทธิ์ชน และไม่มองภาพรวม

3. นิยายที่เสนอว่ากษัตริย์ภูมิพลออกมากู้ชาติ สร้างความสามัคคีและประชาธิปไตยในวันที่ ๑๔ ตุลาคม อย่าลืมว่ากษัตริย์ภูมิพลร่วมกินและได้ผลประโยชน์จากเผด็จการทหารตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ และไม่เคยออกมาวิจารณ์เผด็จการเลย ไม่เคยออกมาห้ามการยิงประชาชนด้วย สิ่งที่กษัตริย์ภูมิพลทำในวันที่ ๑๔ ตุลา คือทำตามหน้าที่เดียวที่กษัตริย์ในระบอบรัฐสภาต้องทำ คือใช้ภาพเท็จของความเป็นกลาง เพื่อก้าวเข้ามาแทรกแซงการเมืองในยามวิกฤต โดยมีเป้าหมายเดียวคือ กู้สถานการณ์และปกป้องอำมาตย์ นี่คือหน้าที่ของกษัตริย์สมัยใหม่ทั่วโลก

ขณะที่เผด็จการทหารถูกล้มโดยประชาชนในวันที่ ๑๔ ตุลาคม โดยที่นักศึกษาสร้างความชอบธรรมให้กษัตริย์ ผ่านการถือรูปและเข้าไปที่สวนจิตรลดา กษัตริย์ได้โอกาส จึงรีบก้าวออกมาเพื่อประสานงานการตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” และสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อปกป้องการดำรงอยู่ของอำมาตย์ต่อไป และต้อนสังคมเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยรัฐสภาและการเลือกตั้งภายใต้ผลประโยชน์อำมาตย์ อย่างไรก็ตาม เขาไม่สามารถคุมการเคลื่อนไหวของนักศึกษา กรรมกร และชาวนาได้ จึงมีการวางแผนระยะยาวเพื่อก่อเหตุนองเลือดในสามปีข้างหน้า

ข้อผิดพลาดของฝ่ายขบวนการนักศึกษาและประชาชนในวันที่ ๑๔ ตุลา เป็นความผิดพลาดที่เราควรยกโทษให้ เพราะขบวนการนี้กำลังเรียนรู้ท่ามกลางการต่อสู้ อย่างไรก็ตาม เราสามารถมองย้อนกลับไปสรุปได้ว่าขบวนการประชาชนในยุคนั้นควรจะเตรียมตัวยึดอำนาจรัฐเอง หลังจากที่โค่นเผด็จการ ไม่ใช่นิ่งเฉยท่ามกลางความสับสน หรือไปมอบอำนาจหรือความชอบธรรมให้กษัตริย์ วิธีหนึ่งที่ขบวนการประชาชนจะเตรียมตัวยึดอำนาจรัฐ คือการสร้างพรรคมวลชน

ในยุคนั้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยพยายามสร้างพรรคมวลชน เพื่อยึดอำนาจรัฐผ่านการสร้างกองกำลังติดอาวุธ ตามแบบของ เหมา เจ๋อ ตุง ในจีน พ.ค.ท. เชื่อว่าจะต้องยึดชนบทก่อนแล้วค่อยล้อมเมือง ดังนั้นพรรคไม่ได้เข้าไปจัดตั้งและให้ความสนใจกับการต่อสู้ในกรุงเทพฯ ที่ได้รับชัยชนะในวันที่ ๑๔ ตุลาเลย

เราจะเห็นว่าพลังมวลชนเป็นสิ่งที่ชี้ขาดว่าเราจะล้มเผด็จการได้หรือไม่ แต่ถ้าเราไม่มีการจัดตั้งเป็นพรรค พลังมวลชนจะกระจายหายไป และอำมาตย์สามารถฟื้นตัวเพื่ออยู่ต่อในรูปแบบใหม่ได้เสมอ แต่การมีพรรคก็ไม่ใช่หลักประกันอะไร ถ้าพรรคเสนอแนวทางที่ผิดพลาด และไม่เปิดโอกาสให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยน

ทั้งๆ ที่ พ.ค.ท. เข้ามามีอิทธิพลมากมายในขบวนการนักศึกษาและประชาชนหลัง ๑๔ ตุลา แต่ก็ไม่ได้สนใจที่จะสู้กับอำมาตย์ในเมือง ปล่อยให้ขบวนการถูกปราบไปในวันที่ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ และเมื่อนักศึกษาและประชาชนเข้าป่าไปร่วมกับพรรค ก็ไม่มีการสนับสนุนให้นำตนเอง ใช้วิธีเผด็จการของพรรคปิดกั้นไม่ให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับแนวทาง และไม่มีการสนับสนุนการศึกษาทางการเมืองนอกจากการท่องหนังสือของ เหมา เจ๋อ ตุง ซึ่งทำให้สมาชิกพรรคหดหู่ไม่เข้าใจเมื่อรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์หันมาจับมือกับอำมาตย์ไทย นอกจากนี้ไม่มีการวางแผนเพื่อสู้ในเมืองเลย ซึ่งทั้งหมดนี้เปิดโอกาสให้อำมาตย์ไทย ภายใต้แนวคิดของ เปรม ติณสูลานนท์ สามารถใช้การเมืองนำทหารดึงนักศึกษาออกจากป่าได้ จนพรรคคอมมิวนิสต์ล่มสลาย ประเด็นเหล่านี้ คนอย่าง คุณสุรชัย แซ่ด่าน (อดีต พ.ค.ท.) จะต้องอธิบายและตอบข้อสงสัยกับคนเสื้อแดง เมื่อเสนอแนวทางจับอาวุธหรือตั้งกองกำลังในยุคนี้

เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม เกือบจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะในช่วงแรกฝ่ายเผด็จการพยายามประนีประนอม มีการปล่อยตัวคนที่ถูกจับเพราะแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และมีการ “สัญญา” ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญในอนาคต ถ้านักศึกษายอมถอยตอนนั้น ถนอม-ประภาส-ณรงค์ก็คงอยู่ต่อได้ เหมือนกับที่ทหารพม่าอยู่ต่อหลังจากการลุกฮือ 8-8-88 ได้เนื่องจากขบวนการพม่ายอมประนีประนอม คนที่เสนอว่าคนเสื้อแดงยุคนี้ต้องประนีประนอมกับอำมาตย์ จะต้องอธิบายให้เราฟังได้ว่า เราจะได้ประชาธิปไตยแท้หรือไม่ หรืออำมาตย์จะอยู่ต่อหลังการประนีประนอมดังกล่าว

คนที่เสนอให้คนไทยสามัคคี เลิกความแตกแยก จะต้องพิสูจน์ว่าคุณมีวิธีใดที่จะสร้างประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และมีวิธีใดที่จะห้ามไม่ให้เกิดรัฐประหารหรือการแทรกแซงการเมืองโดยทหารโดยวิธีทางอ้อม เช่นการใช้ศาลเป็นต้น คนที่อ้างว่าเรายังต้องจงรักภักดีต่อกษัตริย์ จะต้องอธิบายว่าการกระทำแบบนั้นจะไม่เปิดช่องให้อำมาตย์ฟื้นฟูอีกได้อย่างไร เพราะเรามีข้อสรุปที่ชัดเจนจาก ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖แล้ว

พิษภัยของ “รัฐบาลห่งชาติ”

ในช่วงที่กษัตริย์ภูมิพลมีชีวิต เขาทำหน้าที่ปกป้องความมั่นคงและผลประโยชน์ของอำมาตย์ ผ่านการสร้างภาพลวงตาเรื่องความสามัคคีหรือความเป็นกลาง ในยุคนี้ประชาชนจำนวนมากมองออกว่าเป็นแค่ภาพลวงตา แต่สิ่งที่เราจะต้องระมัดระวังอย่างมากคือ เมื่อภูมิพลตาย ฝ่ายอำมาตย์อาจจะพยายามเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” เพื่อ “สามัคคีในยามเศร้า” และผู้นำเสื้อแดงบางคนอาจถูกชักชวนให้ไปประนีประนอม

“รัฐบาลแห่งชาติ” ภายใต้อำนาจและเงื่อนไขของอำมาตย์ จะไม่มีวันนำไปสู่ประชาธิปไตยแท้ และความเป็นธรรมทางสังคมได้ และเราไม่ควรหลงเชื่อว่าอำมาตย์เสนอความสามัคคี “เพราะอ่อนแอหลังกษัตริย์ตาย” เนื่องจากอำนาจทหาร ศาล และข้าราชการจะยังอยู่เหมือนเดิม ชาวเสื้อแดงที่รักประชาธิปไตยแท้และความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ จะต้องไม่หลงสามัคคีกับเสื้อเหลืองและอำมาตย์ เราจะต้องสู้ต่อไปเพื่อโค่นระบบเผด็จการอันเลวทรามนี้ให้ได้ วีรชน ๑๔ ตุลา และ ๖ ตุลา เขาเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยแท้ คนเสื้อแดงจะต้องรับภาระนี้ต่อไป เพื่อให้เราได้รับชัยชนะสักที