Saturday 24 October 2009

ความปัญญาอ่อนของ NGO กรณี องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน

ความปัญญาอ่อนของ NGO กรณี องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน

ใจ อึ๊งภากรณ์

อาเซียน (ASEAN) ประกอบไปด้วย ประเทศไทย เวียดนาม ลาว เขมร พม่า และสิงค์โปร์ ซึ่งล้วนแต่เป็นเผด็จการ นอกจากนี้มีประเทศกึ่งเผด็จการแบบมาเลยเซีย และมีฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประชาธิปไตย จะมีใครบ้างในโลกที่ฝันว่ารัฐบาลของประเทศเหล่านี้จะสร้างองค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง? คำตอบคือ พวก NGO

แต่ไม่ว่า NGO จะฝันไปถึงไหน เขาก็โดนตบหน้าจากผู้นำอาเซียน นอกจากรัฐบาลต่างๆจะสงวนสิทธิในการแต่งตั้งคนของตนเองเข้ามาเป็นกรรมการองค์กรสิทธิมนุษยชนแล้ว ผู้นำรัฐบาลอาเซียนยังปฏิเสธครึ่งหนึ่งของคณะ NGO ที่ต้องการเข้าพบและอนุญาติให้คนคนเดียวมิสิทธิ์พูด คือ อาจารย์สุริชัย หวันแก้ว จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุริชัย คนนี้คือใคร? เขาเป็นผู้ที่สนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยา และเป็นผู้ที่ คมช. แต่งตั้งเข้าสู่สภาของเผด็จการ นอกจากนี้ทีมงาน NGO ไทย ประกอบไปด้วยคนที่สนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยา อีกหลายคน

ในพิธีเปิดองค์กรสิทธิมนุษชนของอาเซียน นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ เป็นคนปราศัย คนนี้เป็นนายกรัฐมนตรีเผด็จการ ที่ถือตำแหน่งจากการจัดการของทหาร ที่เซ็นเซอร์สื่อ ที่จับคนบริสุทธิเข้าคุก ที่สั่งให้ทหารฆ่าประชาชน และที่มีส่วนในการก่อตั้งอันธพาลเสื้อสีน้ำเงิน อภิสิทธิ์ได้โกหกและบิดเบือนความจริงตามเคย โดยอ้างว่าสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนสำคัญของสังคมที่พวกเขาต้องการสร้าง นอกจากนี้ก็พูดเชิงกล่อมเด็กว่าองค์กรประชาสังคมควรจะมั่นใจได้ว่ารัฐบาลของอาเซียน เป็นเพื่อนที่ดีของเขา

ทำไม NGO หลายส่วนถึงเดินตามแนวปัญญาอ่อนแบบนี้? เขาโง่? เขาเป็นผู้ฉวยโอกาส? หรือเขาตาบอดเพราะวิเคราะห์อะไรไม่เป็น?

พวก NGO นักล็อบบี้” ชอบอ้างว่าตัวเองเป็นตัวแทนของ “ประชาสังคม” ทั้งๆที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งจากใคร องค์กร NGO หลายองค์กร ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งและการยกมือลงคะแนนเสียงอีกด้วย พวกนี้ลืมว่า “ประชาสังคม” สามารถขยายพื้นที่ประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพต่อเมื่อมีการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีมวลชนจำนวนมาก ขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าวจะต้องต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ และอภิสิทธิของคนชั้นสูงอีกด้วย

แทนที่จะเสียเวลาคุยกับผู้นำรัฐบาลต่างๆ NGO ควรจะใช้เวลาและทรัพยากรในการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวหรือการสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่มีอยู่แล้ว เช่น คนเสื้อแดงในไทย หรือ ขบวนการต้านรัฐบาลในประเทศอื่นๆ

องค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิได้จริงจะต้องเป็นองค์กรที่ตัดขาดและอิสระจากรัฐบาล และองค์กรเหล่านี้จะต้องกล้าวิพากษ์วิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกรูปแบบอีกด้วย ตัวอย่างที่ดีคือองค์กรสิทธิมนุษยชนเอเชียที่ฮ่องกง

หลัง “การล่มสลายของคอมมิวนิสต์” ขบวนการ NGO หันหลังให้กับ การเมือง การสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และพรรคการเมือง เขาหันไปเน้นเรื่องการล็อบบี้ผู้หลักผู้ใหญ่แทน และชื่นชมแนวความคิดชุมชนนิยมแบบอนาธิปไตย และทั้งๆ ที่สองแนวทางนี้ดูเหมือนขัดแย้งกันเพราะคลานไปกอดอำนาจรัฐและปฏิเสธอำนาจรัฐพร้อมๆกัน แต่จุดร่วมคือการปล่อยรัฐไว้และปฏิเสธการวิเคราะห์ภาพรวมทางการเมือง นี่คือสาเหตุที่ NGO สามารถหลับหูหลับตาถึงเผด็จการในอาเซียนได้

แทนที่จะสร้างขบวนการเคลื่อนไหวหรือพรรค NGO เน้นการเคลื่อนไหวประเด็นเดียว เขาดีใจเมื่อได้รับคำเชิญชวนเข้าไปในห้องประชุมกับผู้มีอำนาจ แทนที่จะหาทางทำลายอำนาจดังกล่าวของฝ่ายเผด็จการ การทำงานแบบนี้สอดคล้องกับการรับทุนจากองค์กรระหว่างประเทศ และนำไปสู่การทำงานที่ไร้การเมือง

ในประเด็นเรื่องโลกร้อน NGO ในไทย มองข้ามการที่รัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และคิดว่าเผด็จการจะฟังประชาชน มีการใช้แนวชาตินิยมเพื่อเอาใจผู้มีอำนาจ ซึ่งทำให้มีการปัดความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาโลกร้อนไปสู่ประเทศตะวันตกโดยที่รัฐบาลในเอเชียไม่ต้องทำอะไร มันทำให้สร้างแนวร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวในตะวันตกยากขึ้น เพราะขบวนการในตะวันตกเข้าใจดีว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องรับผิดชอบมากที่สุดในการแก้ปัญหาโลกร้อน ประเด็นที่สำคัญคือเราจะจัดการกับกลไกตลาดที่แสวงหากำไร ทำลายโลก และสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างไร

ในไทยและประเทศเอเซียอื่นๆ รัฐบาลจะต้องเก็บภาษีจากคนรวยและตัดงบประมาณทหารเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน เราต้องการเทคโนโลยี่สมัยใหม่เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าแสงแดด กังหันลม ระบบคมนาคมขนส่งมวลชนที่ใช้ไฟฟ้า และบ้านที่อยู่อาศัยที่ใช้พลังงานด้วยประสิทธิภาพสูง เรื่องเหล่านี้ NGO ในไทย เงียบเฉยโดยที่พยายามหมุนกงล้อประวัติศาสตร์กลับไปสู่ยุคก่อนอุตสาหกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

ยุคของ NGO ที่จะเป็นพลังก้าวหน้าในสังคมหมดสิ้นไปนานแล้ว สำหรับนักเคลื่อนไหวที่ต้องการสร้างสังคมที่ดีขึ้น จะต้องมีการทบทวนประวัติศาสตร์การต่อสู้ เพื่อหาทางใหม่ แต่สำหรับผู้ที่สนใจแต่จะกินเงินเดือนก็ควรจะอยู่ต่อไปในองค์กร NGO โดยไม่ทำอะไรใหม่ และหวังว่าแหล่งเงินทุนจะไม่หายไป