Wednesday 23 June 2010

อะไรคือผลของการปฏิวัติ ๒๔๗๕?



อะไรคือผลของการปฏิวัติ ๒๔๗๕?

ใจ อึ๊งภากรณ์



ในคำประกาศฉบับที่หนึ่งของคณะราษฎร์ ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ มีท่อนหนึ่งที่เขียนไว้ว่า....

“ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎรไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้กู้ให้ประเทศมีอิสรภาพพ้นมาจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบ และกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั่นเอง”

ในตอนท้ายมีการเสนอนโยบายว่า...
1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชของประเทศ (ซึ่งแสดงว่ารัฐบาลกษัตริย์ไม่ได้ปกป้องเอกราชอย่างที่เรามักจะถูกสอน)
2. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3. ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดรัฐสวัสดิการ
4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ
6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ถ้ามองตรงนี้อย่างผิวเผิน เราอาจสรุปว่าอำมาตย์สามารถหมุนนาฬิกากลับและทำลายผลของการปฏิวัติไปทั้งปวง แต่ความจริงซับซ้อนกว่านั้น

ในด้านหนึ่ง แน่นอน ความฝันของแกนนำคณะราษฎร์อย่างอาจารย์ปรีดี ที่จะเห็นนโยบายแปดข้อข้างบนกลายเป็นความจริง โดยเฉพาะเรื่องรัฐสวัสดิการ หรือเรื่องอิสรภาพและความเท่าเทียมของทุกคน ยังไม่บรรลุผลสำเร็จเลย และอาจารย์ปรีดีก็โดนฝ่ายนิยมเจ้ากับทหารไล่ออกจากประเทศไทย ต้องไปเสียชีวิตนอกประเทศ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง นาฬิกาไม่ได้ถูกหมุนกลับไปสู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่รัชกาลที่ห้าตั้งขึ้นหลังปฏิวัติระบบศักดินา เพราะอำนาจการปกครองถูกกระจายไปสู่ทหาร ข้าราชการ และนายทุน ซึ่งเราสามารถเรียกโดยรวมว่าพวก “อำมาตย์” เพราะเขาไม่สนใจสนับสนุนประชาธิปไตยแท้ พร้อมจะขัดขวางสิทธิเสรีภาพเสมอ และทนกับประชาธิปไตยรัฐสภาก็ต่อเมื่อกลุ่มของตนครองอำนาจอยู่ได้เท่านั้น

ในช่วงแรกหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ กลุ่มทหาร กับกลุ่มนิยมเจ้า เป็นศัตรูกัน จอมพล ป.พิบูลสงครามและพรรคพวกเป็นผู้ล้มเจ้า และพวกนิยมเจ้าต้องการกลับมา แต่หลังความพ่ายแพ้ของกบฏบวรเดช และหลังรัฐประหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พวกนิยมเจ้ากับพวกทหารเผด็จการก็กลายเป็นพวกเดียวกัน โดยที่กษัตริย์มีหน้าที่ในการเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิกษัตริย์ที่ให้ความชอบธรรมกับการกระทำและอำนาจของทหาร และทหารเชิดชู อุดหนุนทางการเงิน และสงเสริมกษัตริย์เป็นการตอบแทน มันเป็นลักษณะการร่วมมือกัน ฝ่ายทหารมีอำนาจ และฝ่ายกษัตริย์มีบารมีทางความคิด ที่ใช้กล่อมเกลาประชาชนให้เชื่อฟังชนชั้นปกครอง ซึ่งมันเป็นลักษณะที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ สิ่งที่เสริมให้ความสัมพันธ์นี้มั่นคงมากขึ้นคือ กฎหมายหมิ่นฯ เพื่อให้กษัตริย์ถูกวิจารณ์ไม่ได้ และการใช้อาวุธสงครามของทหาร เพื่อเข่นฆ่าประชาชนที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ

แต่เราต้องเข้าใจเพิ่มว่าเมื่อทหารกับพวกนิยมเจ้าเข้าทำแนวร่วมด้วยกัน เขาพยายามสร้างภาพหลอกลวงประชาชนว่ามีการหมุนนาฬิกากลับไปสู่ระบบเก่าในลักษณะ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบประชาธิปไตย” ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะกษัตริย์ไร้อำนาจ และไม่ใช่ประชาธิปไตยด้วย ผมจำได้ดีว่าในยุค สฤษดิ์ ถนอม ประภาส ผมและเพื่อนๆในห้องเรียนจะถูกสอนว่าประเทศไทยเป็น “ประชาธิปไตย” ในเพลงชาติก็มีเนื้อแบบนั้นด้วย ทั้งๆ ที่มันเป็นเผด็จการชัดๆ และใครที่ค้านเผด็จการ ก็จะถูกกล่าวหาว่าล้มเจ้า ในปัจจุบันก็เป็นอย่างนั้น

ข้อดีของการสร้างภาพนี้สำหรับอำมาตย์ คือเขาสามารถทำให้เราเกรงกลัว “อำนาจกษัตริย์” ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นอำนาจกองทัพ การที่เราถูกสอนให้รักและกลัวนายภูมิพลเหมือนกับว่าเขาเป็นทั้งพ่อและเทวดา เป็นวิธีที่จะกล่อมเกลาให้ประชาชนจงรักภักดีต่อทหารและชนชั้นปกครองทั้งหมดโดยรวม

การที่ความฝันของอาจารย์ปรีดีไม่บรรลุผลสำเร็จ ไม่ใช่เพราะการปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” อย่างที่เราทุกคนถูกฝ่ายนิยมเจ้าสอนมานาน แต่เป็นเพราะอาจารย์ปรีดีพึ่งพาทหารมากเกินไปในการทำการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และที่สำคัญไม่สามารถสร้างพรรคราษฎรขึ้นมาเป็นพรรคมวลชน เพื่อสู้กับทหารและฝ่ายนิยมเจ้า ซึ่งเป็นสองปฏิปักษ์ของประชาธิปไตยในไทยมานาน และยังเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชนเสื้อแดงที่รักประชาธิปไตยอยู่ทุกวันนี้

บทสรุปสำคัญคือ อย่าไปพึ่ง“ทหารแตงโม” ต้องมองกองทัพว่าเป็นปฏิปักษ์ อย่าไปหาทางลัดเพื่อสร้างประชาธิปไตย เราต้องพัฒนาขบวนการมวลชนและสร้างพรรคมวลชนของคนเสื้อแดงที่จะเสนอรัฐสวัสดิการและความเท่าเทียมเสมอภาค “ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่”