Saturday 30 January 2010

เสื้อแดงคนไทยยูเคเปิดโปง นักวิชาการเหลืองที่ลอนดอน



เสื้อแดงคนไทยยูเคเปิดโปง นักวิชาการเหลืองที่ลอนดอน


เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2553 สถานทูตไทยในอังกฤษได้จัดงาน “แก้ตัวแทนอำมาตย์สร้างภาพความบริสุทธิ์” เพื่อหลอกลวงนักศึกษาไทยและนักวิชาการต่างประเทศ โดยเชิญ สุจิต บุญบงการ และ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาเป่าหูประชาชน ที่ SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน โดยที่ก่อนเข้าห้องสัมมนาสถานทูตมีการแจกโฆษณาชวนเชื่อเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” และบทความของ บวรศักดิ์ ที่สร้างความชอบธรรมให้กับกฎหมายหมิ่นเดชานุภาพ
อย่างไรก็ตามชาวไทยที่รักประชาธิปไตยในอังกฤษได้รวมตัวกันเพื่อเปิดโปงสองโฆษกของอำมาตย์ มีการแจกใบปลิว และมีการตั้งคำถามคมๆจากผู้เข้าฟังหลายคน (แต่ขอไม่แจ้งนามเพื่อปกป้องความปลอดภัย) ในช่วงแรกเจ้าหน้าที่สถานทูตพยายามใช้ยามของมหาวิทยาลัยเพื่อห้ามไม่ให้มีการแจกใบปลิวและเพื่อสกัดกั้นไม่ให้ ใจ อึ๊งภากรณ์ เข้าไปในที่ประชุมแต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ทูตไทยประจำอังกฤษเปิดการประชุมโดยสร้างภาพลวงตาว่าขบวนการเสื้อแดง ไม่ได้เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ และพูดต่อไปว่ากษัตริย์ไทยอยู่เหนือการเมืองมาตลอด
สุจิต บุญบงการ นำการอภิปรายโดยอ้างเช่นเดียวกับทูตว่าคนเสื้อแดงเป็นตัวแทนของคนส่วนน้อยในสังคม ในขณะที่คนส่วนใหญ่เป็น “พลังเงียบ” การวาดภาพสังคมการเมืองไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันของ สุจิต มีลักษณะ “ประหยัดในความจริง” เพราะไม่กล่าวถึงรายละเอียดการยุบพรรค การมีสองมาตรฐานทางกฎหมาย หรือ บรรยากาศการเซ็นเซอร์สื่อ นอกจากนี้ สุจิต ดูเหมือนความจำเสื่อมเพราะเสนอว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่เคยมีในสังคมไทยก่อนหน้านี้ เขาคงลืม ๒๔๗๕ หรือ ยุค ๒๕๑๖-๒๕๒๓
เมื่อถูกตั้งคำถามว่าเห็นด้วยกับกฎหมายหมิ่นฯและกระบวนการของศาลหรือไม่? สุจิต ตอบว่า กระบวนการยุติธรรมในกรณีกฎหมายหมิ่นฯ ดีอยู่แล้ว “เป็นธรรมและจำเป็นต้องปิดศาลในการพิจารณาคดี” (ซึ่งเรามองว่าเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานความโปร่งใสสากล) มีการพูดถึงคณะกรรมการใหม่ที่อภิสิทธิ์ตั้งขึ้นเพื่อทบทวนการใช้กฎหมายหมิ่นฯ เหมือนกับว่าจะสร้างความยุติธรรม แต่นักสิทธิมนุษยชนหลายคนสงสัยว่าวัตถุประสงค์จริงคือการทำให้กฎหมายหมิ่นฯ มีประสิทธิภาพสูงขึ้นต่างหาก สุจิต พูดอีกว่าคนที่ถูกลงโทษในคดีหมิ่นฯสามารถร้องเรียนไปถึงกษัตริย์ได้แต่ลืมบอกว่าในกรณี สุวิชา ท่าค้อ ยังไม่มีคำตอบมาทั้งๆที่ติดคุกมาหนึ่งปีแล้ว และในกรณีที่ผู้ถูกคุมขังยืนยันว่าไม่ได้ทำอะไรผิดจะไปขอขมาทำไม สุจิต จบลงด้วยการเสนอว่าในประเทศไทยเรามีเสรีภาพในการแสดงออกไม่ได้ เพราะเรามีวัฒนธรรมในการรักกษัตริย์ อย่างไรก็ตามคนไทยผู้รักประชาธิปไตยขอมองต่างมุม วัฒนธรรมไทยมีหลายประเภท วัฒนธรรมไทยของสุจิต คือวัฒนธรรมทาสแต่วัฒนธรรมไทยของเราคือวัฒนธรรมของเสรีชน
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ผู้เปลี่ยนเจ้านายตามกระแสลมเพื่อเอาตัวรอดอย่างสม่ำเสมอ พยายามอ้างว่าปัญหาของสังคมมาจากความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนซึ่งต้องเร่งแก้ไข แต่เมื่อถูกถามว่าเขาจะคัดค้านเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ เพราะเป็นลัทธิที่ไม่เห็นด้วยกับการกระจายรายได้ และเป็นลัทธิของคนที่รวยที่สุดในประเทศไทย บวรศักดิ์ ไม่มีคำตอบ ได้แต่โกหกว่าตนเองสนับสนุนให้ไทยเป็นรัฐสวัสดิการ แต่ในประโยคเดียวกันเจ้าพ่อแห่งความเจ้าเล่ห์คนนี้ ได้โจมตีนโยบายสวัสดิการที่เป็นประโยชน์สำหรับคนจนของไทยรักไทย ว่าเป็นการสร้าง “ประเพณีการพึ่งพาในระบบอุปถัมภ์” ในประเด็นระบบอุปถัมภ์นี้มีนักวิชาการชาวอังกฤษคนหนึ่งเถียงว่านโยบายของไทยรักไทยไม่ถือว่าสร้างระบบอุปถัมภ์ เมื่อ บวรศักดิ์ ถูกตั้งคำถามว่าทำไมในประเทศไทยถึงมีการใช้สองมาตรฐานทางกฎหมาย เขาตอบว่า “ไม่จริง” และถ้ามีปัญหานี้ก็เป็นเพราะตำรวจไม่ทำตามหน้าที่ บวรศักดิ์ ชื่นชมระบบผู้พิพากษาและศาลจนน้ำลายหยด
เมื่อ บวรศักดิ์ ถูกตั้งคำถามในเรื่องคดีหมิ่นฯ และเสรีภาพในการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับกองทัพ โดยที ใจ อึ๊งภากรณ์ เสนอความเห็นส่วนตัวว่ากษัตริย์ ภูมิพล อ่อนแอ ไม่มีคุณสมบัติที่จะนำการทำรัฐประหารได้ ในขณะที่ไม่เคยปกป้องประชาธิปไตยเลย แต่ถูกทหารอ้างถึงเพื่ออาศัยความชอบธรรมจากกษัตริย์ในการทำรัฐประหาร บวรศักดิ์ เริ่มแสดงออกอาการฉุนเฉียวพร้อมกล่าวหาเท็จว่า ใจ อึ๊งภากรณ์ เขียนและพูดว่ากษัตริย์เป็นผู้สั่งให้มีรัฐประหาร อย่างไรก็ตามเมื่อมีการพิสูจน์ว่าคำพูดของ บวรศักดิ์ เป็นคำพูดเท็จ และมีการตั้งข้อสงสัยในเรื่องความสามารถทางภาษาของเขา เขาฟิวส์ขาดในทันทีและท้าให้ ใจ มาดีเบทกับเขาเป็นภาษาไทย ใจ อึ๊งภากรณ์ ยินดีรับคำท้านี้ และคนไทยรักประชาธิปไตยในอังกฤษพร้อมจะจัดเวที ให้มีการถกเถียงดังกล่าวกับ บวรศักดิ์ ขอให้เขาเพียงแต่แจ้งมาว่าเขาพร้อมจะร่วมเวทีนี้ที่อังกฤษเมื่อไหร่
ในหนังสือ “ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ของบวรศักดิ์ ที่แจกให้คนเข้าฟัง บวรศักดิ์ พยายามสร้างภาพเท็จว่าประเทศอื่นมีกฎหมายคล้ายๆกัน แต่ผู้แทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนของนักเขียน (PEN) ชี้แจงก่อนหน้านี้ว่ากฎหมายนี้ถูกยกเลิกไปแล้วในอังกฤษโดยที่ ราชินีอังกฤษเซ็นยกเลิกเอง บวรศักดิ์ พยายามอ้างว่าประเทศไทยมี “วัฒนธรรมพิเศษ” ที่ทำให้ไทยเป็นทาสและหมอบคลานต่อ “พระพุทธเจ้าหลวง” หรือ “พ่อที่ปกครองลูก” และยังมีการพูดถึงธรรมราชาซึ่งหมายถึงกษัตริย์ที่ปกครองด้วยธรรมะ (การปกครองด้วยธรรมะ คงหมายถึงการเซ็นรับรองการทำรัฐประหาร?)
ในงานเสวนาครั้งนี้ มีวิทยากรที่เป็นนักวิชาการอังกฤษสองคนมาร่วมเสนอ และทั้งสองคนมองว่ากฎหมายหมิ่นฯ มีปัญหา คนที่น่าสนใจที่สุดคือ Duncan McCargo ซึ่งอธิบายว่าปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ เป็นปัญหาของการรวมศูนย์การปกครองโดยไม่คำนึงถึงวัฒนธรรมและประเพณีที่หลากหลาย ประเด็นที่น่าคิดคือหลายๆฝ่ายในประเทศไทยรวมทั้งทหารและนักการเมือง ยอมรับว่านี่คือปัญหาจริง แต่ไม่มีใครกล้าเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นรูปธรรม และDuncan ยังพูดถึงบรรยากาศโดยทั่วไปในไทยว่าประชาชนตกอยู่ในความกลัวและไม่มีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น
ในใบปลิว ของ ใจ อึ๊งภากรณ์ ที่แจกไปในงานเสวนาครั้งนี้ มีการเรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษการเมืองในประเทศไทย และอธิบายว่า ปัจจุบันนี้การเรียกร้องประชาธิปไตยและการพูดความจริงกลายเป็นอาชญากรรม มีการใช้กฎหมายหมิ่นฯกระจายไปทั่วและการพยายามเซ็นเซอร์สื่ออย่างเบ็ดเสร็จ นอกจากนี้มีการพูดถึงระบบสองมาตรฐานในศาลที่ยุบพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด มีการร่างรัฐธรรมนูญของทหารที่ให้ความชอบธรรมกับรัฐประหารและระบุว่าจะต้องมีการเพิ่มงบประมาณทหารในการขณะที่ต้องจำกัดงบประมาณทางสังคม ใบปลิวนี้เสนอว่าพวกที่สนับสนุนรัฐประหาร ๑๙ กันยา ดูถูกปัญญาของคนจนและต้องการหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคอดีตที่มีแต่การซื้อขายเสียงของพรรคการเมือง โดยไม่สนใจประชาชน ทางออกที่จะแก้ปัญหาสำหรับสังคมไทยคือ เราต้องเอาประชาธิปไตยกลับมา เราต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯและกฎหมายคอมพิวเตอร์ ต้องตัดกำลังกองทัพ และนำผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาลงโทษ ประเทศไทยควรจะเป็นรัฐสวัสดิการและสาธารณรัฐประชาธิปไตย