Saturday 20 March 2010


ทุกอย่างเป็นแผนจากวังจริงหรือ?
ใจ อึ๊งภากรณ์

คนที่เชื่อว่าทุกอย่างในการเมืองไทยเป็นแผนมาจากวัง (เช่น อ.ชูพงษ์ และกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ไม่เอาเจ้า) เป็นคนที่มองว่า
1. อำมาตย์ไทยปัจจุบันคือระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และนายภูมิพลมีอำนาจสูงสุด
2. ประชาชนชั้นล่าง เช่นมวลชนเสื้อแดง ไม่เคยมีบทบาทอะไรเลยในสังคมการเมือง การเมืองเป็นเกมของคนชั้นบนเท่านั้น
3. ทหารไม่มีอำนาจอิสระ เป็นแค่ลูกน้องของกษัตริย์

แต่ในความเป็นจริงนายภูมิพลอ่อนแอทางอำนาจ แต่มีบทสำคัญในทางลัทธิการเมือง เพราะเป็นสัญลักษณ์ของ “ลัทธิกษัตริย์” ที่ทหารและส่วนอื่นๆ ของอำมาตย์ใช้ในการให้ความชอบธรรมกับตนเอง
อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายที่ไม่เอาเจ้า ไม่ว่าจะเป็นสาย อ.ชูพงษ์ หรือคนที่คิดแบบผม มีจุดร่วมตรงที่เรากำลังสู้เพื่อถล่มความ “ศักดิ์สิทธิ์” ของสถาบันกษัตริย์
เราเถียงไม่ได้เลยว่า กษัตริย์ภูมิพลไม่ได้รักประชาชนและสร้างความสงบอยู่เย็นเป็นสุข เพราะกษัตริย์ภูมิพลผู้เป็นเศรษฐีอันดับหนึ่งของไทย คัดค้านสวัสดิการเพื่อประชาชน ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงที่ไม่เห็นด้วยกับการกระจายรายได้ สนับสนุนความรุนแรงในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และชมคนที่ทำรัฐประหาร ๑๙ กันยาและคนที่ทำลายประชาธิปไตย เสรีภาพ และมาตรฐานความยุติธรรมทางกฎหมาย ถ้าภูมิพลเป็นคนก้าวหน้าหรือเป็นคนดี เขาจะไม่ปล่อยให้มีการหยุดวิ่งรถตามถนนหนทาง เพื่อให้ตัวเขาและญาติๆ เดินทางด้วยความสะดวกในขณะที่รถพยาบาลฉุกเฉินไม่เคยได้รับการอำนวยความสะดวกแบบนี้เลย เขาจะไม่ปล่อยให้มีการหมอบคลานต่อตัวเองเหมือนกับว่าประชาชนเป็นสัตว์ และเขาจะออกมาแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการปกป้องประชาธิปไตยและการคัดค้านกฎหมายเผด็จการต่างๆ รวมถึงกฎหมายหมิ่นเจ้าด้วย

บทบาทคู่ขนาน ทหาร กับ กษัตริย์
ถ้าเราจะเข้าใจบทบาทของกษัตริย์ภูมิพลในสังคมไทย เราต้องเข้าใจบทบาทคู่ขนานของทหารกับกษัตริย์ เพราะในสังคมต่างๆ โดยทั่วไปทั่วโลก ชนชั้นปกครองจะดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้อำนาจข่มเหง และการสร้างความชอบธรรมสำหรับตนเองในสายตาประชาชนพร้อมๆ กัน และการใช้อันใดอันหนึ่งตามลำพังมีประสิทธิภาพต่ำเกินไปที่จะสร้างความมั่นคงให้กับชนชั้นปกครอง
ในไทยกษัตริย์ภูมิพลคือสัญลักษณ์ของลัทธิอนุรักษ์นิยมที่ให้ความชอบธรรมกับอำนาจของอำมาตย์ โดยเฉพาะอำนาจทหาร และทหารคือผู้ใช้อำนาจข่มเหงประชาชนและสังคมด้วยอาวุธ ดังนั้นกษัตริย์ภูมิพลไม่มีอำนาจเอง แต่มีหน้าที่สร้างความชอบธรรมให้กับอำมาตย์ หรืออาจพูดได้ว่าเป็นเครื่องมือของอำมาตย์ในการสร้างความชอบธรรม แต่เป็นเครื่องมือที่ยินดีทำตามหน้าที่ เพราะได้ประโยชน์ตรงนั้นด้วย อย่างไรก็ตามภาพลวงตาที่เราเห็น คือภาพละครอำนาจ ที่เสนอว่าภูมิพลเป็นใหญ่ เพราะทหารและอำมาตย์ส่วนอื่นๆ ปั้นภูมิพลขึ้นมาเป็นเจ้าเป็นเทวดา แล้วก็ไปกราบไหว้ เพื่อที่จะโกหกพวกเราว่าเขาคือตัวแทนหรือผู้รับใช้กษัตริย์
แต่ประเด็นสำคัญคือ การที่เขาต้องขยันในการสร้างลัทธิกษัตริย์เพื่อข่มขู่และครองใจประชาชน แสดงว่าเขากลัวประชาชน และทราบดีว่าถ้าเรารวมตัวกัน เราจะมีอำนาจล้มอำมาตย์ ทุกสังคมมีผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง และเราต้องมองทั้งสองส่วนพร้อมกัน

นายภูมิพลมีอำนาจสูงสุดจริงหรือ?
พวกอภิสิทธิ์ชนและอำมาตย์มักสร้างภาพลวงตาว่ากษัตริย์ภูมิพลเป็นทั้ง ศักดา(เก่าแก่) สมบูรณาญาสิทธิราชย์(อำนาจสูงสุด) และกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ(แบบประชาธิปไตย) พร้อมกันหมด เพื่อสร้างความชอบธรรมกับสิ่งที่อำมาตย์ โดยเฉพาะทหาร กระทำในสังคม แต่การมองลักษณะกษัตริย์แบบนี้ของอำมาตย์ เป็นการสร้างภาพที่ไม่ตรงกับประวัติศาสตร์ เพราะระบบศักดินาถูกปฏิวัติไปโดยรัชกาลที่ ๕ ผู้สร้างระบบรัฐชาติรวมศูนย์ภายใต้กษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ และระบบนี้ถูกปฏิวัติไปในปี ๒๔๗๕ โดยที่ไม่มีการสถาปนาใหม่ในภายหลังเลย มีแต่การนำกษัตริย์มารับใช้ระบบทุนนิยมภายใต้อำมาตย์ในรูปแบบใหม่ ในประเทศทุนนิยมที่มีกษัตริย์ทั่วโลก ฝ่ายนายทุนพยายามเชิดชูกษัตริย์ เพื่อย้ำว่า “บางคนเกิดมาสูง บางคนเกิดมาต่ำ และนั้นคือธรรมชาติ”
เวลาทหารจะก่อรัฐประหารหรือทำอะไรที่มีผลกระทบต่อสังคม มีการคลานเข้าไปหาภูมิพล เพื่อสร้างภาพว่าไป “รับคำสั่ง” แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการ “แจ้งให้ทราบ” ว่าตัดสินใจทำอะไรก่อนหน้านั้น มันเป็นละครครั้งใหญ่ที่ผู้คลานมีอำนาจเหนือผู้ถูกไหว้ ในกรณีแบบนี้กษัตริย์ภูมิพลจะถามความเห็นจากองค์มนตรีก่อนว่าควรมีจุดยืนอย่างไร ถ้าองค์มนตรีเห็นด้วยกับทหาร ภูมิพลจะอนุญาตให้ “เข้าเฝ้า” แต่ถ้าองค์มนตรีแนะว่าไม่เห็นด้วย ภูมิพลจะ “ไม่สะดวกที่จะให้เข้าเฝ้า” แต่อย่าเข้าใจผิดว่าสถานการณ์แบบนี้แสดงว่าองค์มนตรีมีอำนาจสูงสุด ไม่ใช่ องค์มนตรีมีไว้เป็นกลุ่มประสานงานระหว่างอำมาตย์ส่วนต่างๆ เช่นทหารชั้นผู้ใหญ่ นายทุนใหญ่ นักการเมืองอาวุโส หรือข้าราชการชั้นสูง และจะต้องสรุปความเห็นส่วนใหญ่ของอำมาตย์เพื่อแนะแนวให้กษัตริย์ นอกจากนี้ฝ่ายต่างๆ ของอำมาตย์ แม้แต่ในกองทัพเอง ก็ขัดแย้งกัน แข่งกัน แย่งกินกันอีกด้วย ไม่มีใครที่ผูกขาดอำนาจได้ มีแต่ความสามัคคีชั่วคราวเท่านั้น
การสร้างภาพว่ากษัตริย์ภูมิพลเป็นใหญ่ หรือภาพว่าทหาร “เป็นของกษัตริย์หรือราชินี” มีประโยชน์ต่ออำมาตย์ที่คอยบังคับให้เราจงรักภักดีต่อกษัตริย์และราชวงศ์ เพราะการจงรักภักดีดังกล่าวเป็นการจงรักภักดีต่อทหารและส่วนอื่นๆ ของอำมาตย์
ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์จะไม่พบช่วงไหนที่ภูมิพลมีอำนาจสั่งการอะไรได้ อาจแสดงความเห็นบ้าง แต่บ่อยครั้งก็ไม่มีใครฟัง เช่นกรณีสุจินดา กรณีรัฐบาลหลัง ๖ ตุลา ที่อยู่ได้แค่ปีเดียว หรือแม้แต่กรณีการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ภูมิพลพร้อมจะตามกระแส ไปด้วยกับผู้มีอำนาจทุกรูปแบบ เช่นสมัยรัฐบาลทักษิณก็มีการชมสงครามยาเสพติดที่ฆ่าคนบริสุทธิ์กว่าสามพันคน และมีการร่วมธุรกิจระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์กับบริษัท Shin Corp ของทักษิณอีกด้วย
บางครั้ง “ละครอำนาจ” ที่อำมาตย์เล่น ทำให้พวกราชวงศ์มีพื้นที่ที่จะทำอะไรตามใจชอบได้ กรณีพฤติกรรมของเจ้าฟ้าชายเป็นตัวอย่างที่ดี แต่ในเรื่องสำคัญๆ เช่นนโยบายต่อการปกครองบ้านเมือง หรือผลประโยชน์หลักของอำมาตย์ สมาชิกราชวงศ์ไม่สามารถทำอะไรได้
นักวิชาการที่เชื่อว่านายภูมิพลมีอำนาจมักใช้กรอบคิดร่วมกันสองกรอบคือ กรอบคิด “พรรคคอมมิวนิสต์” เรื่องขั้นตอนการปฏิวัติทุนนิยม และกรอบคิด “รัฐข้าราชการ” ที่เน้นแต่การกระทำของคนชั้นสูงเท่านั้น และมองว่าประชาชนรากหญ้าไม่สำคัญ
การมองสังคมไทยตามของ พคท เสนอว่าไทยเป็น “กึ่งศักดินา” ดังนั้นเขามักจะมองว่าความขัดแย้งที่นำไปสู่รัฐประหาร ๑๙ กันยาเป็นความขัดแย้งระหว่างนายทุนสมัยใหม่(ทักษิณ) กับระบบกึ่งศักดินาของกษัตริย์ โดยที่กษัตริย์เป็นผู้นำทางการเมืองที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม ทักษิณ ยืนยันอยู่ตลอดว่าเขารักและจงรักภักดีต่อภูมิพล และเจ้าฟ้าชาย และรัฐบาลของเขาก็มีส่วนสำคัญในการรณรงค์ให้คนใส่เสื้อเหลืองและรักเจ้า
แนวคิดแบบนี้มองข้ามลักษณะการเป็นนายทุนสมัยใหม่ของกษัตริย์ภูมิพล และเครือข่ายอำมาตย์ ที่ประกอบไปด้วยทหาร ข้าราชการ และนายทุนธนาคาร และที่สำคัญ ไม่สามารถทำความเข้าใจได้ว่าทำไมนายทุนสมัยใหม่อย่างทักษิณ หรือนายธนาคาร จะส่งเสริมสถาบันกษัตริย์เพื่อประโยชน์ของนายทุนเอง

บทบาทของกษัตริย์ไทยในการเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิอนุรักษ์นิยม
บทบาททางการเมืองของภูมิพลเริ่มชัดเจนขึ้นในสมัยเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ยุคนี้เป็นยุคสงครามเย็น และยุคสงครามอินโดจีน รัฐบาลเผด็จการของสฤษดิ์ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา เพราะสหรัฐเชื่อว่าสฤษดิ์เป็นแนวร่วมที่ดีในการสู้กับคอมมิวนิสต์ สฤษดิ์ต้องชูกษัตริย์ เพื่อให้ฝ่ายรักเจ้าอนุรักษ์นิยมในไทย และฝ่ายสหรัฐอเมริกาสนับสนุนเผด็จการของเขา
ในบริบทของสงครามเย็น สหรัฐอเมริกา และชนชั้นปกครองอนุรักษ์นิยมไทย รวมถึงเผด็จการทหาร มองว่าสถาบันกษัตริย์เป็นสัญลักษณ์สำคัญของลัทธิที่จะใช้ต้านคอมมิวนิสต์ได้ หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐมีบทบาทสำคัญในการแจกรูปถ่ายภูมิพลและภรรยาไปตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อวัตถุประสงค์นี้ ดังนั้นการเชิดชูกษัตริย์ภูมิพลผูกพันกับการปกป้องผลประโยชน์ของอำมาตย์จากการที่จะถูกท้าทายโดยกระแสคอมมิวนิสต์
กระแสคอมมิวนิสต์เป็นสิ่งที่อำมาตย์ไทยกลัวมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศรอบข้างกำลังเปลี่ยนไปปกครองโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ แต่หลังจากที่คอมมิวนิสต์ล่มสลาย ภัยจากประชาชนที่มีต่อผลประโยชน์อำมาตย์ ไม่ได้หายไป เพราะมีการเคลื่อนไหวของขบวนการทางสังคม สหภาพแรงงาน และในที่สุดก็เกิดคนเสื้อแดง ดังนั้นอำมาตย์ไม่เคยเลิกในความพยายามที่จะครองใจประชาชนด้วยลัทธิกษัตริย์
พวกอำมาตย์ ไม่ใช่ซากเก่าของระบบศักดินา แต่เป็นชนชั้นปกครองอนุรักษ์นิยมสมัยใหม่ที่ใช้เผด็จการและความป่าเถื่อน ยิ่งกว่านั้นภูมิพลไม่ใช่หัวหน้าของแก๊งโจรเหล่านี้ แต่แก๊งโจรใช้เขาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมต่างหาก โดยที่ภูมิพลยินดีถูกใช้ตราบใดที่สามารถกอบโกยความร่ำรวยและมีคนมากราบไหว้ต่อไปเรื่อยๆ
การสร้างความชอบธรรมจากกษัตริย์มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทหารไทย เพราะทุกวันนี้กระแสประชาธิปไตยขยายไปทั่วโลกในจิตใจประชาชน เวลาทหารทำรัฐประหารก็อาจพยายามอ้างว่าทำ “เพื่อประชาธิปไตย” แต่ไม่ค่อยมีใครเชื่อ เพราะบทบาททหารในการเมืองกับระบบประชาธิปไตยมันไปด้วยกันไม่ได้ นอกจากนี้กองทัพไทยไม่มีประวัติอะไรเลยในการปลดแอกประเทศอย่างในกรณีอินโดนีเซียหรือเวียดนาม ดังนั้นทหารต้องอ้างความชอบธรรมจากที่อื่น เวลาทหารอ้างว่า “ทำเพื่อกษัตริย์” จะได้ดูเหมือนว่าไม่ได้ยึดอำนาจมาเพื่อตนเอง จะเห็นได้ว่าการสร้างภาพว่ากษัตริย์มีอำนาจสูงสุด เป็นประโยชน์ในการปิดบังความจริงเกี่ยวกับการใช้อำนาจของทหาร ที่ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ตนเองเสมอ และทุกกลุ่มทุกรุ่นที่แย่งชิงผลประโยชน์กันเองในกองทัพ ก็จะพยายามโกหกเสมอว่า “ทำเพื่อในหลวง”
การใช้กษัตริย์เพื่อเป็นลัทธิที่ให้ความชอบธรรมกับอำมาตย์ ต่างจากยุโรปตะวันตกตรงที่อำมาตย์ไทยยังไม่ถูกบังคับโดยประชาชนให้ยอมรับประชาธิปไตย ดังนั้นลัทธิกษัตริย์ในไทย ใช้ในลักษณะเผด็จการพร้อมกับกฎหมายหมิ่นฯ หรือกฎหมายเผด็จการอื่นๆ และมีการสร้างภาพว่ากษัตริย์เป็นเทวดาเหนือมนุษย์ด้วยการหมอบคลานและการใช้ราชาศัพท์ ถ้าไทยจะมีระบบกษัตริย์เหมือนยุโรปตะวันตก ก็จะต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯ การหมอบคลาน และการใช้ราชาศัพท์ และต้องยินยอมให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์อย่างเสรีพร้อมกับการมีเสรีภาพในการเสนอระบบสาธารณรัฐอีกด้วย และที่สำคัญต้องมีการทำลายอำนาจทหารลงไป ในสถานการณ์แบบนั้น เราไม่จำเป็นต้องมาปกป้องหรือรื้อฟื้นกษัตริย์ในรูปแบบใหม่เลย ยกเลิกไปจะดีกว่า และจะมีประโยชน์กว่า เพราะจะประหยัดงบประมาณ และในอนาคตจะไม่มีใครสามารถอ้างกษัตริย์ในการทำลายประชาธิปไตยได้อีก