Saturday 20 March 2010

การชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นประวัติศาสตร์อันน่าทึ่ง


การชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นประวัติศาสตร์อันน่าทึ่ง
ใจ อึ๊งภากรณ์
“เสื้อแดงสังคมนิยม” และสมาชิกคนเสื้อแดงอังกฤษ(แสดงทัศนะส่วนตัว)

การชุมนุมครั้งใหญ่ของคนเสื้อแดงในเสาร์อาทิตย์ 13/14 มีนาคม เป็นการสำแดงพลังอันยิ่งใหญ่ของขบวนการประชาธิปไตยไทย มันเป็นภาพที่แสดงให้เห็นว่าคนเสื้อแดงจะไม่หายไปไหน และเราไม่ใช่แค่ตัวแทนของคนส่วนน้อยในสังคมอีกด้วย การชุมนุมครั้งนี้ช่วยถล่มนิยายว่าคนกรุงเทพฯเป็นเสื้อเหลืองหรือไม่สนใจประชาธิปไตย เพราะเราเห็นภาพเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาล คนงานก่อสร้าง คนงานโรงงาน พระสงฆ์ และประชาชนโดยทั่วไปในกรุงเทพฯ ที่ออกมาร่วมการชุมนุม สื่อมวลชนต่างประเทศบางฉบับถึงกับเสนอว่าภาพการชุมนุมครั้งนี้เป็นภาพของขบวนการ “ปลดแอกประชาชนกรุงเทพฯ จากอำนาจเผด็จการ”
การชุมนุมครั้งนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะคนธรรมดานับแสน ร่วมกันทุ่มเทเงินทอง เวลา และพลังงานในการมาร่วม มีการเรี่ยรายเงินและทรัพยากรในชุมชนต่างๆ มีการแจกอาหารและเงินค่าน้ำมันโดยประชาชนธรรมดาในกรุงเทพฯ มันเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแท้และเพื่อหวังล้มอำมาตย์ และทั้งๆที่คนเสื้อแดงจำนวนมากรักทักษิณมากกว่าผู้นำชั้นสูงอื่นๆ ความรักนี้มีเหตุผล มันมาจากนโยบายรูปธรรมของพรรคไทยรักไทย มันไม่ได้มาจากความโง่เขลา และคนเสื้อแดงไม่ได้ถูกจูงถูกจ้างมาประท้วง เขาไม่ใช่เครื่องมือของทักษิณ และเขาสู้เพื่ออะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าทักษิณ
ขบวนการเสื้อแดงตอนนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นขบวนการที่คนยากคนจนทั่วประเทศร่วมสร้างขึ้นและมีส่วนร่วมสูงในสังคมเปิด ไม่ใช่การเคลื่อนไหวในป่าหรือในที่ลับ ขบวนการนี้มีตัวตนชัดเจนทั้งในเมืองและในชนบท ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต และมันมีลักษณะถาวรกว่าขบวนการประชาธิปไตยอื่นๆ เช่นขบวนการนักศึกษา

พฤติกรรม สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์
สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ แสดงท่าที่อ่อนหัตถ์ทางการเมืองและเน้นการต่อสู้แบบปัจเจก เพราะในขณะที่มีการประท้วงอันยิ่งใหญ่เป็นประวัติศาสตร์ของมวลชนเสื้อแดง อ.สุรชัยไม่เสริมสร้างกำลังใจให้มวลชนเลย ไม่มองว่าเขาคือพลังหลักในการเปลี่ยนสังคม ไม่มองว่าเขาเป็นมิตรที่ต้องถนอมรัก และไม่แนะนำทางต่อสู้ต่อไปในลักษณะสร้างสรรค์ มีแต่พูดในทำนองที่จะทำลายจิตใจคนเสื้อแดง และตัดความมั่นใจให้เสียขวัญ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อ.สุรชัย ไม่สนใจที่จะมีส่วนร่วมกับมวลชนนับแสนที่ออกมาสู้ แต่อยากจะหันหลังให้มวลชน เพื่อเดินตามแนว “วีรชนเอกชน” ของการ “จับอาวุธ” ต่อสู้กับอำมาตย์ที่เคยประกาศ มันเป็น “การปฏิวัติแบบเด็กเล่น” ซึ่งจะแค่จบลงด้วยความพ่ายแพ้และความตายเท่านั้น
ส่วนเสธ. แดง ก็เป็นอันธพาลสามัญ ที่อาจสร้างความเสียหายให้ขบวนการเสื้อแดงได้ โดยการสร้างภาพเพื่อเอามัน ซึ่งจะจบลงด้วยละครตะลกท่ามกลางความพ่ายแพ้เท่านั้น

ก้าวต่อไป?
เราไม่ควรลืมว่าแกนนำ โดยเฉพาะสามเกลอ เป็นผู้ที่จุดประกายไฟให้เกิดคนเสื้อแดงแต่แรก และมีส่วนสำคัญในการชักชวนให้คนเสื้อแดงออกมาเป็นแสนที่กรุงเทพฯ แต่ในการต่อสู้ทุกขั้นตอนต้องมีการทบทวนประเมิน ทั้งยุทธวิธีและแกนนำด้วย แกนนำที่จะนำมวลชนไปสู่ชัยชนะ อาจเป็นแกนนำเดิมตลอด หรือจะเป็นแกนนำใหม่ก็ได้ มันไม่ใช่เรื่องศักดิ์สิทธิ์ มันขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความสามารถในขั้นตอนต่างๆ สิ่งที่น่าทึ่งเกี่ยวกับคำพูดของแกนนำปัจจุบันในการเคลื่อนไหวที่พึ่งผ่านมา คือมีการพูดถึงประเด็น “ชนชั้น” มากขึ้นอย่างชัดเจน การต่อสู้กับอำมาตย์เพื่อสร้างประชาธิปไตยเป็นการต่อสู้ทางชนชั้น ระหว่างคนชั้นล่างที่เป็นกรรมาชีพและเกษตรกร กับชนชั้นปกครองที่เป็นอภิสิทธิ์ชน
แต่ประเด็นที่เราทุกคนต้องมาร่วมกันคิดอย่างรวดเร็วคือ ก้าวต่อไปควรจะเป็นอย่างไร? เพราะการชุมนุมสองสามวันยากที่จะล้มอำมาตย์และจัดการกับอำนาจกองทัพได้ และการยืดเยื้อเสี่ยงกับการที่คนจะทยอยกลับบ้านและหมดกำลังใจ แกนนำต้องไม่สร้างภาพนิยายของชัยชนะที่จะเกิดง่ายๆ ต้องไม่พามวลชนเดินไปในทางการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์มากเกินไป และต้องรู้จักถนอมกำลังกายและใจของมวลชน เพื่อให้เราสามารถสู้ในเกมส์ใหญ่ระยะยาวได้

รู้จักศัตรู
ศัตรูของประชาชนและศัตรูของประชาธิปไตยคืออำมาตย์ แต่อำมาตย์คืออะไร? มันเป็นระบบ มันประกอบไปด้วยหลายสถาบัน และมันมีลัทธิหรือชุดความคิดที่ใช้สร้างความชอบธรรมให้มัน ศัตรูไม่ใช่แค่พรรคประชาธิปัตย์หรือรัฐบาลอภิสิทธิ์ และไม่ใช่แค่องค์มนตรี การยุบสภาเป็นสิ่งที่เราอยากเห็น แต่มันจะไม่สะเทือนอำนาจอำมาตย์เลย เราได้บทเรียนจากรัฐบาลพรรคพลังประชาชนไปแล้ว อำนาจสำคัญของอำมาตย์คือกองทัพ ถ้าเราไม่เอาใจใส่ตรงนี้เราจะไม่ชนะ และอำนาจซ่อนเร้นสำคัญของฝ่ายเรา คืออำนาจในการนัดหยุดงาน ถ้าช่วง 13/14 มีนาคมที่ผ่านมา มีการหยุดเดินรถต่างๆ หยุดก่อสร้าง หยุดทำงานในโรงงานและสถานที่ทำงานต่างๆ เราจะเห็นพลังของคนเสื้อแดงในอีกมิติที่สำคัญ และถ้าทหารยิงประชาชนการหยุดแจกจ่ายไฟฟ้าหรือน้ำก็จะมีพลังด้วย

ยุทธ์วิธี 4 ข้อ สำหรับการต่อสู้ในปัจจุบัน
1. ชนกับอำมาตย์ในเรื่องนโยบายการเมืองที่เป็นรูปธรรม
2. ชนกับอำมาตย์ด้วยลัทธิความคิด
3. ขยายฐานคนเสื้อแดง
4. สร้างหน่ออ่อนของอำนาจคู่ขนาน เพื่อแข่งกับอำมาตย์

1. ชนกับอำมาตย์ในเรื่องนโยบายการเมืองที่เป็นรูปธรรม
การเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเรียกร้องต่อไป แต่เราต้องเพิ่มความเข้มข้นของนโยบายการเมืองที่จะใช้ชนกับอำมาตย์ เราจะต้องประกาศอย่างชักเจนว่าถ้าฝ่ายคนเสื้อแดงชนะ เราจะนำนโยบายใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่คนชั้นล่างมาใช้ และเราจะต้องท้าอำมาตย์ให้แสดงจุดยืนต่อนโยบายดังกล่าว เพราะเรารู้ดีว่าเขาไม่มีทางสนับสนุนสิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนชั้นล่าง
นโยบายสำคัญที่เราควรประกาศคือการสร้าง รัฐสวัสดิการ ในรูปแบบที่ให้สวัสดิการครบวงจร และถ้วนหน้าสำหรับประชาชนทุกคน ไม่ใช่แค่สวัสดิการให้ทานกับคนจน และเราต้องประกาศว่าเราจะใช้งบประมาณจากการเก็บภาษีอย่างดุเดือดกับเศรษฐีและคนรวย คนที่รวยที่สุดด้วย โดยไม่มีข้อยกเว้น ส่วนคนชั้นกลางและคนจนจะไม่มีการเก็บภาษีเพิ่ม
เราควรเสนอนโยบายเป็นรูปธรรมสำหรับเกษตรกรรายย่อย เช่นการตัดผลประโยชน์ของบริษัทซีพี(ของอำมาตย์) และเพิ่มประโยชน์ให้ชาวไร่ชาวนา ตัวอย่างเช่นการตั้งองค์กรของรัฐขึ้นมาเพื่อทำเกษตรพันธสัญญากับเกษตรกรรายย่อย คือองค์กรรัฐช่วยในการลงทุน ที่ดิน การพัฒนาเทคโนโลจี การรักษามาตรฐาน และการตลาด และเกษตรกรจะทำการผลิตส่งให้รัฐ แต่องค์กรรัฐนี้ต้องบริหารร่วมกันโดยผู้แทนเกษตรกร และผู้แทนของรัฐบาลประชาธิปไตย
เราควรเสนอนโยบายรูปธรรมสำหรับการสร้างสันติภาพในภาคใต้ โดยการถอนทหารตำรวจออกจากชุมชน และการเสนอเขตปกครองพิเศษพร้อมกับการใช้ภาษาท้องถิ่นในสถานที่ราชการ ชุมชนต้องมีอำนาจในการกำหนดระบบการศึกษา ต้องมีการลงโทษพวกทหารระดับสูงที่ทรมานและฆ่าประชาชนด้วย ในระดับชาติควรมีการส่งเสริมวันสำคัญของอิสลาม และชักชวนให้นักศึกษาเรียนรู้ภาษายะวีหรือภาษามาเลย์ ทั้งหมดนี้จะเป็นนโยบายก้าวหน้าที่ตัดฐานสนับสนุนของประชาธิปัตย์ในภาคใต้ได้
เราต้องเสนอให้มีการปฏิรูประบบศาลยุติธรรมแบบถอนรากถอนโคน ปลดศาลและผู้พิพากษาของอำมาตย์ที่รังแกประชาชนออกไป และนำคนรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์ความยุติธรรมเข้ามา พร้อมกันนั้นต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยมีระบบลูกขุน

2. ชนกับอำมาตย์ด้วยลัทธิความคิด
เราทราบดีจากรัฐประหาร ๑๙ กันยา และอาชญากรรมของพันธมิตรฯ ว่าอำมาตย์ใช้ลัทธิกษัตริย์ เพื่อให้ความชอบธรรมกับสิ่งชั่วร้ายที่ตนทำ โดยเฉพาะสิ่งที่พวกนายพลเขาทำ ดังนั้นเราต้องชักชวนประชาชนให้สิ้นศรัทธาในระบบกษัตริย์และทำอย่างเป็นระบบด้วย ไม่ใช่ออกมาสู้เพื่อล้มอำมาตย์ แล้วถอยหลังหนึ่งก้าวโดยการส่งเสริมให้คนเสื้อแดงเคารพลัทธิกษัตริย์ ซึ่งเท่ากับเป็นการมัดมือตัวเองเพื่อชกมวย

3. ขยายฐานคนเสื้อแดง
เราควรขยายอิทธิพลและเครือข่ายคนเสื้อแดงไปสู่ (1)ขบวนการสหภาพแรงงาน และ (2)ทหารเกณฑ์ระดับล่าง เพื่อให้เรามีพลังในรูปแบบใหม่ และเพื่อให้พวกนายพลเสื้อเหลืองใช้ทหารธรรมดาที่เป็นพี่น้องเราในการปราบปรามประชาชนไม่ได้ ตรงนี้ต้องอาศัยการลงพื้นที่เพื่อผูกมิตรส่วนตัว แต่ในระดับชาติเราควรประกาศนโยบายรูปธรรมที่เราจะใช้ถ้าคนเสื้อแดงชนะคือ
เราควรดึงคนงานมาเป็นพวกด้วยการเสนอให้เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในทุกสถานที่ ให้สูงขึ้นถึงหนึ่งหมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งมาตรการนี้ นอกจากจะลดความจนอย่างรวดเร็วและกระตุ้นตลาดภายในและการจ้างงานแล้ว จะเป็นแรงกดดันให้นายจ้างพัฒนากระบวนการผลิตและเทคโนโลจี ซึ่งรัฐช่วยตรงนี้ได้ ในประเทศสิงคโปร์เคยทำแบบนี้ และประเทศพัฒนาอย่างเกาหลีใต้ก็เพิ่มค่าจ้างได้โดยไม่ทำให้เศรษฐกิจพัง พร้อมๆ กับนโยบายค่าจ้างดังกล่าว เราต้องให้ความคุ้มกันจริงกับสหภาพแรงงาน และออกกฎหมายห้ามปรามการเลิกจ้างคนงานเพื่อเพิ่มกำไรของกลุ่มทุน
เราควรดึงทหารเกณฑ์มาเป็นพวกโดยประกาศปฏิรูปกองทัพแบบถอนรากถอนโคน พวกนายพลกาฝากที่แสวงหาอำนาจและความร่ำรวยผ่านการทำรัฐประหาร การคอร์รับชั่น และการยิงประชาชน เราต้องเอาออกให้หมด ต้องลดงบประมาณทหารด้วยการปลดนายพลและลดการซื้ออุปกรณ์ทางทหาร แต่ในขณะเดียวกันต้องเพิ่มเงินเดือนให้ทหารเกณฑ์ ต้องพัฒนาสภาพชีวิตของเขา ต้องมีโครงการฝึกฝีมือและพัฒนาทหารระดับล่างให้มีลักษณะมืออาชีพที่ใช้กู้ภัยในสังคมแทนการปราบประชาชน ในสำนักงานตำรวจก็ควรจะปฏิรูปแบบนี้ด้วย เพื่อให้ตำรวจรับใช้ประชาชนและไม่รีดไถคนจน

4. สร้างหน่ออ่อนของอำนาจคู่ขนาน เพื่อแข่งกับอำมาตย์
ในทุกพื้นที่ที่คนเสื้อแดงเป็นคนส่วนใหญ่ เราควรท้าทายอำนาจราชการในรูปแบบเล็กๆ น้อยๆ เช่นตั้งระบบยุติธรรมและความปลอดภัย หันหลังให้ศาลและการบัญชาการของรัฐส่วนกลาง ขยายสื่อมวลชนของเรา เข้าไปมีอำนาจบริหารโรงเรียนและศูนย์พยาบาล จัดตั้งระบบคมนาคมง่ายๆ ฯลฯ แล้วแต่ความสามารถและเหมาะสม เพื่อค่อยๆ ลดอำนาจศูนย์กลางของรัฐอำมาตย์ และเพื่อทำให้ง่ายขึ้นที่จะยึดอำนาจรัฐมาเป็นของประชาชนในอนาคต

ในสงครามทางการเมืองกับอำมาตย์ เราต้องก้าวไปข้างหน้า
แต่เราต้องเข้าใจว่าจะไม่แพ้ชนะกันง่ายๆ ในวันสองวัน
ที่สำคัญคือมวลชนคนเสื้อแดงเป็นแสนๆ และจุดยืนทางการเมืองจะเป็นเรื่องชี้ขาด