Friday, 18 September 2009

ความอับจนของเศรษฐกิจพอเพียง

ความอับจนของ “ลัทธิเศรษฐกิจพอเพียง”
ใจ อึ๊งภากรณ์

ทุกวันนี้คนไทยถูกเป่าหูด้วยเศรษฐกิจพอเพียงทุกวัน เหมือนกับว่าเป็นทางออกสำหรับประเทศไทย มันคืออะไร? นำมาใช้อย่างไร? ต่างจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณอย่างไร? ทำไมทหารเผด็จการ คมช. นำมาบรรจุในรัฐธรรมนูญปี ๕๐? ทำไมรัฐบาลไทยอ้างว่าเป็นแนวคิดใหม่ที่จะนำไปสอนชาวโลกได้??? แล้วทำไมมีคนโจมตีแนวคิดนี้อย่างรุนแรงในวารสารเศรษฐศาสตร์ต่างประเทศ?
ผมขออ้างอิงคำพูดของคนขับรถแทคซี่คนหนึ่งในกรุงเทพฯ เพราะคนขับคนนี้สะท้อนความคิดของคนส่วนใหญ่ เขาบอกผมว่า "สำหรับคนข้างบนเขาพูดง่าย เรื่องพอเพียง ไปไหนก็มีคนโยนเงินให้เป็นกระสอบ แต่พวกเราต้องเลี้ยงครอบครัว จ่ายค่าเทอม เราไม่เคยพอ” ในแง่นี้จะเห็นว่าคนจนไม่น้อยมองว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นคำพูดของคนชั้นบน เพื่อให้เรารู้จัก “พอ” (ไม่ขอเพิ่ม) ท่ามกลางความยากจน และเป็นคำพูดของคนที่ไม่เคยพอเพียงแบบคนจนเลยอีกด้วย ... บทความของอาจารย์ พอพันธ์ อุยยานนท์ (๒๕๔๙ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบทบาทการลงทุนทางธุรกิจ ใน ผาสุก พงษ์ไพจิตร (บรรณาธิการ) “การต่อสู้ของทุนไทย” สำนักพิมพ์มติชน) แสดงให้เห็นว่าธุรกิจสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีการลงทุนกว่า 45 พันล้านบาท ไม่น่าจะเรียบง่ายอะไร ...แล้วพอเรามาดูค่าใช้จ่ายของวังต่างๆ ยิ่งเห็นชัด
ดังนั้น เศรษฐกิจพอเพียง เป็นลัทธิล้าหลังของคนชั้นสูงเพื่อสกัดกั้นการกระจายรายได้และสกัดกั้นการสร้างความเป็นธรรมในสังคม เป็นลัทธิเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนที่รวยที่สุด และที่น่าปลื้มคือคนจนทั่วประเทศเข้าใจประเด็นนี้ ในขณะที่นักวิชาการและคนชั้นกลางยังหลงใหลกับลัทธิพอเพียงอยู่
สำหรับพระราชวัง ความพอเพียงหมายถึงการมีหลายๆ วัง และบริษัททุนนิยมขนาดใหญ่เช่นธนาคารไทยพาณิชย์ สำหรับทหารเผด็จการความพอเพียงหมายถึงเงินเดือนสูงจากหลายแหล่ง และสำหรับเกษตรกรยากจนหมายถึงการเลี้ยงชีพด้วยความยากลำบากโดยไม่มีการลงทุนในระบบเกษตรสมัยใหม่
ขบวนการเอ็นจีโอ โดยเฉพาะสาย “ชุมชน” (ดูงาน อ.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา) จะคิดกันว่าแนว “พอเพียง” สอดคล้องกับสิ่งที่เขาเสนอมานานเรื่องการปกป้องรักษาชุมชนให้อยู่รอดได้ท่ามกลางพายุของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ แนวคิดชุมชนแบบนี้มองว่าเราควรหันหลังให้รัฐ ไม่สนใจตลาดทุนนิยมมากเกินไป พยายามสร้างความมั่นคงของชุมชนผ่านการพึ่งตนเอง ผ่านการแลกเปลี่ยนแบบมีน้ำใจและความเป็นธรรม หรือปฏิเสธบริโภคนิยม มันเพ้อฝัน หมดยุค(ถ้าเคยมียุค) แต่เขาหวังดี ไม่เหมือนพวกที่เสนอลัทธิพอเพียง
หลังรัฐประหาร 19 กันยา มีการนำ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระราชวัง มาเป็นนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล มรว. ปรีดิยาธร เทวกุล รัฐมนตรีคลังคนแรกของ คมช. ในวันที่ 2 พ.ย. 49 อธิบายว่า... “เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงอย่าขยายเกินกำลังทุนที่มี.... ให้พอดี... ไม่เกินตัว... เป็นแนวเศรษฐศาสตร์พุทธ.... ต้องมีการออม... การลดหนี้ครอบครัว..เป็นแนวสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน” แต่พอเราอ่านรายละเอียดแล้วพยายามสรุป มันมีสาระเพียงว่า “อย่าทำให้พัง ล้มละลาย” แค่นั้น หรือ “ใครรวยจ่ายมากได้ ใครจนต้องจ่ายน้อย” เด็กอายุ4 ขวบคงคิดแบบนี้ได้ ไม่ต้องมีสมองใหญ่โต
ปรีดิยาธร เทวกุล เสนออีกว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญแก่เป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพ.....การรักษาวินัยการเงินการคลังของภาครัฐ” “การใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีทำได้” และเราก็เห็นว่ารัฐบาล คมช. ผลักดันนโยบายเสรีนิยมสุดขั้วของกลุ่มทุนมากกว่าไทยรักไทยเสียอีก เช่นการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ การตัดงบประมาณสาธารณสุข การเพิ่มงบประมาณทหาร การผลักดัน FTA (สัญญาค้าเสรี) กับญี่ปุ่น หรือการเดินหน้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจรถไฟและไฟฟ้าเป็นต้น ในกรณีไทยรักไทย เขาทำนโยบายเสรีนิยมทั้งหมดดังกล่าวด้วย แต่คานมันโดยใช้นโยบายการเพิ่มค่าใช้จ่ายรัฐ (แบบเคนส์) ในเรื่องกองทุนหมู่บ้าน หรือสาธารณูปโภค หรือ30บาทรักษาทุกโรค พูดง่ายๆ ไทยรักไทย ใช้นโยบายเศรษฐกิจคู่ขนาน ทั้งตลาดเสรีและรัฐนิยมพร้อมกัน
เราต้องฟันธงว่าลัทธิเศรษฐกิจพอเพียงไม่มีเจตนาที่จะลดอำนาจกลุ่มทุนและอิทธิพลคนรวยแต่อย่างใด ตรงกันข้ามมันเป็นคำพูดที่พยายามหล่อลื้นการหันไปสนับสนุนตลาดเสรีของนายทุนใหญ่อย่างสุดขั้ว และรัฐธรรมนูญ คมช. ปี ๕๐ ก็ยืนยันสิ่งนี้
แล้วสาระของเศรษฐกิจพอเพียงมีมากกว่านี้ไหม? เราถือว่าเป็นทฤษฏีเศรษฐกิจได้ไหม? วารสาร The Economist เขียนไว้ว่ามันเป็นความคิดเศรษฐศาสตร์ที่เหลวไหลเพ้อฝัน เพียงแต่ “ประทับตราราชวัง” เท่านั้น
เศรษฐกิจพอเพียงไม่เอ่ยอะไรที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับเรื่องสำคัญๆ เช่นการใช้รัฐหรือการเน้นตลาดในการบริหารเศรษฐกิจ หรือวิธีกระจายรายได้ของประเทศ และไม่พูดถึงสวัสดิการหรือรัฐสวัสดิการเลย ในเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจมีแต่จะเสนอให้คนจนไป “ยากจนแต่ยิ้ม” กับญาติในชนบท

ในที่สุดสิ่งที่จะสร้างความยั่งยืนและความพอเพียงแท้กับคนส่วนใหญ่คือการสร้างระบบรัฐสวัสดิการ และต่อจากนั้นต้องเดินหน้าสู่ “สังคมนิยม” ที่ยกเลิกการใช้กลไกตลาดในการแจกจ่ายผลผลิต หันมาใช้การวางแผนโดยชุมชนและประชาชนในลักษณะประชาธิปไตย และนำระบบการผลิตมาเป็นของกลาง บริหารโดยประชาชนเอง ซึ่งหมายความว่าต้องยกเลิกระบบชนชั้นที่บางคนรวยและควบคุมทุกอย่าง ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยากจนและเป็นเพียงลูกจ้างหรือเกษตรกรยากจน


สรุปแล้วเศรษฐกิจพอเพียง เป็นลัทธิของคนชั้นบนที่รวยที่สุดในสังคม เพื่อกล่อมเกลาให้คนส่วนใหญ่ก้มหัวยอมรับสภาพความยากจน มันเป็นลัทธิของพวกที่ยังเชื่อว่าไทยเป็นทาส ไทยเป็นไพร่ และที่สำคัญ พวกนี้พยายามใช้กฎหมายหมิ่นฯและการปกปิดเสรีภาพ เพื่อไม่ให้เราวิจารณ์ลัทธิที่อับจนอันนี้

แต่ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่โง่ หูตาสว่างแล้ว เข้าใจเรื่องนี้ได้ดี... และนั้นคือสิ่งที่พวกข้างบนกลัวที่สุด!