Friday 18 September 2009

สังคมนิยม

สังคมนิยมคืออะไร
ใจ อึ๊งภากรณ์

“สังคมนิยม” เป็นระบบที่มนุษย์ฝันถึงมานาน ตั้งแต่เกิดสังคมชนชั้นที่ไร้ความเสมอภาคและความยุติธรรม ในสมัยก่อนเขาอาจไม่เรียกว่า “สังคมนิยม” แต่มันมีความหมายเดียวกัน นักสังคมนิยมที่ทำความเข้าใจกับระบบเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันอย่างเป็นระบบ เพื่อหาทางปฏิวัติไปสู่สังคมนิยม คือ คาร์ล มาร์คซ์ และเพื่อนเขาชื่อ เฟรดเดอริค เองเกิลส์

พวกเราชาว “มาร์คซิสต์” เชื่อว่าสังคมนิยมต้องมาจากการกระทำของชนชั้นกรรมาชีพส่วนใหญ่เอง ไม่ใช่มาจากการวางแผนโดยคนคนเดียว หรือกลุ่มคนชั้นสูงในวงแคบ ๆ หรือผู้นำพรรค หรือกองทัพปลดแอก ดังนั้นสังคมนิยมจะมีลักษณะตามที่กรรมาชีพและพลเมืองส่วนใหญ่พึงปรารถนา อย่างไรก็ตาม ถ้าเราจะสร้างสังคมใหม่ที่เป็นสังคมนิยม มันน่าจะมีคุณสมบัติพื้นฐานดังนี้คือ

1. เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ไม่ใช่ประชาธิปไตยครึ่งใบอย่างทุนนิยมซึ่งอำนาจควบคุมการผลิตเป็นของนายทุน ทั้งนี้เพราะในระบบสังคมนิยมระบบเศรษฐกิจการผลิตจะถูกควบคุมโดยพลเมืองทุกคน ดังนั้นสังคมนิยมจะเป็นระบบก้าวหน้าที่ปลดแอกมนุษย์อย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์

2. ในระบบสังคมนิยมจะมีการวางแผนการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่เพื่อสะสมอาวุธ หรือเพื่อการหวังกำไรของคนส่วนน้อย จะเป็นระบบที่มีความเสมอภาคเต็มที่ ไม่มีคนรวย ไม่มีคนจน ไม่มีการกดขี่ทางเพศหรือเชื้อชาติ

3. ในระบบสังคมจะยกเลิกการขูดรีดของนายทุน โดยการยกเลิกสิทธิ์อันไร้ความชอบธรรมของคนบางคน ที่จะควบคุมปัจจัยการผลิตอย่างผูกขาดแล้วนำกำไรเข้ากระเป๋าตนเองหรือลงทุนเพื่อหากำไรเพิ่ม ทุกสถานที่ทำงานจึงต้องเป็นของคนงานเอง ของสังคมโดยรวม ไม่มีเจ้านาย ไม่มีชนชั้น บริหารกันเอง ทรัพยากรของโลกจะเป็นของส่วนรวม ดังนั้นการกดขี่แย่งชิงกันระหว่างชาติก็จะหมดไป

4. มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่ ไม่ใช่ว่าบางคนมีงานทำที่น่าสนใจ และคนอื่นต้องทำงานซ้ำซาก การทำงานของพลเมืองควรจะเป็นเรื่องที่สร้างความภาคภูมิใจ และสนับสนุนความสร้างสรรค์ของเราทุกคน พลเมืองทั้งสังคมจะได้มีศักดิ์ศรีและได้รับความเคารพรักซึ่งกันและกัน

สังคมนิยมสองรูปแบบ

เมื่อเราพูดถึงสังคมนิยม มักจะมีคนนึกถึงระบบเผด็จการในรัสเซียหรือจีน หรือบางครั้งอาจนึกถึงระบบพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยภายใต้ทุนนิยมในประเทศสแกนดิเนเวีย อังกฤษ หรือออสเตรเลีย แต่แนวคิดสังคมนิยมมีสองรูปแบบที่แตกต่างกันคือ

1. สังคมนิยมจากบนสู่ล่าง ซึ่งประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการสร้างหรือบริหาร เช่นสังคมนิยมที่มาจากการสร้างเผด็จการของกลุ่มข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ในจีน ลาว คิวบา เกาหลีเหนือ หรือรัสเซีย(ภายใต้สตาลิน) หรือสังคมนิยมปฏิรูปที่มาจากการกระทำของ ส.. พรรคสังคมนิยมในรัฐสภา สังคมนิยมดังกล่าวเป็นสังคมนิยมประเภท ท่านให้ซึ่งเป็นสังคมนิยมจอมปลอม เป็นการประนีประนอมกับระบบกลไกตลาดเสรีของทุนนิยมและอำนาจนายทุน หรือไม่ก็เป็นเผด็จการข้าราชการแดงของพรรคคอมมิวนิสต์ที่กดขี่ขูดรีดประชาชน

2. สังคมนิยมจากล่างสู่บน เป็นสังคมนิยมที่สร้างโดยมวลชนกรรมาชีพเอง ร่วมกับชาวนาระดับยากจน โดยอาศัยการปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมเพื่อสถาปนารัฐกรรมาชีพ และรัฐกรรมาชีพดังกล่าวต้องมีกลไกในการควบคุมรัฐตามแนวประชาธิปไตยอย่างชัดเจน เช่นต้องมีสภาคนงานในรูปแบบคอมมูนปารีส หรือสภาโซเวียตหลังการปฏิวัติรัสเซีย 1917 สมัย เลนิน สังคมนิยมประเภทนี้คือสังคมนิยมแบบ “มาร์คซิสต์” เพราะสังคมนิยมเหมือนกับประชาธิปไตยหรือสิทธิเสรีภาพอื่นๆ ไม่มีใครยกให้ได้ ต้องมาจากการต่อสู้เรียกร้องของมวลชนเอง นี่คือสังคมนิยมที่เราชื่นชมและอยากได้

สังคมนิยมมาร์คซิสต์ แตกต่างจากเผด็จการคอมมิวนิสต์แบบ “สตาลิน-เหมา เจ๋อ ตุง” ที่พรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกนำมาใช้ใน รัสเซีย จีน ลาว เขมร เวียดนาม คิวบา หรือ เกาหลีเหนือ และที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเคยเสนอ

ความแตกต่างระหว่างสังคมนิยมสองแนว

มาร์คซ์/ เองเกิลส์ / เลนิน/ ตรอทสกี

สตาลิน / เหมา/ พ.ค.ท.

1. ลัทธิการเมืองตามหลักแนวคิดวิทยาศาสตร์

1. ลัทธิตามคำสั่งผู้นำแบบศาสนาของรัฐ ต้องเชื่อผู้นำ

2. สังคมนิยมต้องสร้างเป็นระบบสากล โดยกรรมาชีพ เพราะทุนนิยมเป็นระบบโลก

2. “สังคมนิยมสร้างในประเทศเดียวได้และไม่ต้องเป็นการกระทำของชนชั้นกรรมาชีพ ผลคือการสร้างชาติแทนสังคมนิยม หลังค.ศ. 1989 หันมาใช้ทุนนิยมตลาดเสรีอย่างที่เห็นในจีน

3. ชนชั้นกรรมาชีพคือมวลชนผู้ไร้ปัจจัยการผลิต

3. “ชนชั้นกรรมาชีพ” เป็นคำที่ใช้แทนพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่ออ้างความชอบธรรม

4. เน้นสากลนิยม ความสามัคคีของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก

4. เน้นชาตินิยม เพื่อสามัคคีชนชั้นภายในประเทศ แม้แต่กรรมาชีพกับนายทุนก็สามัคคี

5. รัฐสังคมนิยมเป็นเครื่องมือกดขี่ชนชั้นนายทุนและเป็นเครื่องมือชั่วคราวในการสร้างสังคมนิยม –พอเกิดสังคมไร้ชนชั้น ไม่ต้องมีรัฐ

5. รัฐใหม่เป็นสถาบันถาวร เป็นเผด็จการเหนือกรรมาชีพ และใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ(รัฐนิยม) เพื่อสร้างชาติ

6. ในขั้นตอนการสร้างสังคมนิยม ชนชั้นกรรมาชีพควรเป็นอิสระและควรต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ตนเอง

6. เมื่อยึดอำนาจรัฐก็กดขี่ขูดรีดกรรมาชีพ ห้ามไม่ให้จัดตั้งอิสระ ห้ามไม่ให้นัดหยุดงาน

7. ประชาธิปไตยสูงสุดภายใต้อำนาจของชนชั้นกรรมาชีพโดยผ่านสภากรรมาชีพและสภาชุมชน ทำการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน

7. เผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ที่กดขี่ชนชั้นกรรมาชีพในนามของชนชั้นกรรมาชีพ!! ระบบการผลิตออกแบบเพื่อสะสมอาวุธ และความมั่นคงของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์

8. ชาวนาสร้างสังคมนิยมไม่ได้แต่เป็นแนวร่วม

8. กองทัพชาวนาสร้าง สังคมนิยมได้ในความคิด เหมาเจ๋อตุง

ความคิดทางการเมืองที่สำคัญของลัทธิมาร์คซ์

1. ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ ชนชั้นกรรมาชีพตามนิยามของลัทธิมาร์คซ์ คือ ทุกคนที่ไร้ปัจจัยการผลิต ดังนั้นลูกจ้างทุกคนที่ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษถือว่าเป็นกรรมาชีพ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรโรงงาน พนักงานปกคอขาวคนขับรถเมล์ หรือครูบาอาจารย์ และระบบสังคมนิยมต้องสร้างจากการกระทำของชนชั้นกรรมาชีพเอง กลุ่มอื่นหรือกลุ่มผู้นำเล็ก ๆ ยกสังคมนิยมให้ชนชั้นกรรมาชีพหรือประชาชนไม่ได้

2. สังคมนิยมต้องสร้างมาจากการปฏิวัติล้มระบบทุน ในปี ค.. 1871 มีการปฏิวัติสังคมนิยมเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกที่เมืองปารีสประเทศฝรั่งเศส มาร์คซ์เสนอบทเรียนว่า

ชนชั้นกรรมาชีพไม่สามารถใช้สถาบันของรัฐที่มีอยู่ในขณะนี้ เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือของชนชั้นกรรมาชีพเอง” ทั้งนี้ เพราะรัฐอำมาตย์สร้างขึ้นมาเพื่อกดขี่พลเมือง ไม่ใช่เพื่อปลดแอกมนุษย์

ต่อมาในปี 1900 นักปฏิวัติสังคมนิยมอีกคนหนึ่งชื่อ โรซา ลัคแซมเบอร์ค เสนอว่าถ้านักการเมืองเลือกเส้นทางปฏิรูปก็จะไปในทิศทางที่แตกต่างกับเส้นทางปฏิวัติ และจะสร้างสังคมที่แตกต่างกัน ไม่นำไปสู่สังคมนิยม

ในปี 1917 ผู้นำสังคมนิยมอีกคนหนึ่ง ชื่อ เลนิน ได้เขียนหนังสือชื่อ รัฐกับการปฏิวัติ เพื่อเน้นความสำคัญของการปฏิวัติในการสร้างสังคมนิยม เลนิน เสนอว่าต้องมีการปฏิวัติเพราะแม้แต่ในประเทศประชาธิปไตยทุนนิยม คนส่วนใหญ่ก็ยังถูกขูดรีดและไม่มีประชาธิปไตยเต็มใบ

3. พรรคปฏิวัติ สองนักปฏิวัติรัสเซีย ตรอทสกี และ เลนิน เสนอว่าถ้ามีการปฏิวัติจะต้องอาศัยอำนาจการระดมพลของมวลชนที่เป็นชนชั้นกรรมาชีพ ไม่ใช่อาศัยการกระทำของคนกลุ่มเล็ก ๆ แต่ถ้าไม่มีพรรค พลังมวลชนก็จะเปรียบเสมือนพลังไอน้ำที่ไม่สามารถนำมาใช้ในระบบลูกสูบได้ คือเปลี่ยนสังคมไม่ได้

4. ระบบทุนนิยมตั้งอยู่บนพื้นฐานการขูดรีด และกลไกตลาดนำไปสู่วิกฤตเสมอ ความหมายของการขูดรีดในความคิดลัทธิมาร์คซ์ก็คือการที่นายทุนได้ผลประโยชน์จากการจ้างงาน โดยที่ออกค่าจ้างให้คนทำงานในอัตราที่ต่ำว่ามูลค่าแท้ของสิ่งที่คนงานเหล่านั้นผลิต ส่วนที่เหลือของมูลค่าทั้งหมดหลังจากที่หักค่าแรงและค่าลงทุนในโรงงานเครื่องจักร และค่าขนส่งต่าง ๆ ฯลฯ ออก คือ มูลค่าส่วนเกิน ซึ่งเป็นที่มาของ กำไร กลไกตลาดในระบบทุนนิยมมักจะผลักดันให้นายทุนแข่งขันเพื่อเพิ่มกำไรสะสมทุนตลอด มันเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจเสมอ

5. การกดขี่ทางเพศในสังคมปัจจุบันมาจากสภาพสังคมชนชั้น ไม่ใช่ความชั่วของผู้ชาย เองเกิลส์ คือนักสังคมนิยมคนแรกที่พยายามเข้าใจปัญหานี้โดยเขียนหนังสือ กำเนิดของครอบครัวทรัพย์สินเอกชนและรัฐ เองเกิลส์อธิบายว่า ครอบครัว ระบบชนชั้น และการกำเนิดทรัพย์สินส่วนตัวของผู้เป็นใหญ่ คือสิ่งที่นำไปสู่การกดขี่ทางเพศ การกดขี่ทางเพศที่ผู้หญิงต้องประสบในยุคปัจจุบัน มาจากความต้องการของระบบทุนนิยมที่จะให้ผู้หญิงเลี้ยงดูคนงานรุ่นต่อไป โดยที่ผู้หญิงต้องรับภาระหน้าที่นี้โดยเฉพาะและในลักษณะปัจเจก แทนที่สังคมส่วนรวมจะรับผิดชอบในการเลี้ยงดูเด็ก และในเมื่อผู้หญิงถูกกำหนดว่าเป็นผู้เลี้ยงดูเด็ก ผู้ชายก็จะถูกมองว่าควรมีบทบาทในสังคมภายนอกมากกว่าผู้หญิง สถาบันที่ผูกพันกับหน้าที่เลี้ยงเด็กของผู้หญิงมากที่สุดคือ สถาบันครอบครัว

6. ปรัชญา “วิภาษวิธี” หรือ “ไดอาเลคทิค”

แนวความคิดลัทธิมาร์คซ์ทั้งหมดอาศัยรากฐานความคิดแบบวิภาษวิธีซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญดังนี้

ก) มองโลกเป็นระบบรวม ถ้าจะเข้าใจสังคมหรือปัญหาทางการเมืองเราจะดูแต่ชิ้นส่วนย่อย ๆ ของปัญหาต่าง ๆ ไม่ได้

ข) มองว่าสังคมมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ คือไม่เคยหยุดนิ่งทั้ง ๆ ที่ชนชั้นปกครองในทุกยุคทุกสมัยมักอ้างเสมอว่าสภาพสังคมที่ดำรงอยู่เป็นมาอย่างนั้นตลอดกาล และจะไม่มีวันเปลี่ยนได้ การเปลี่ยนแปลงอาจสะสมเรื่อยๆ จนระเบิดออกมาและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หรือที่เขาเรียกว่า “จากปริมาณสู่คุณภาพ”

ค) มองว่า การเปลี่ยนแปลงมาจากความขัดแย้งภายในของสังคมในทุกยุคทุกสมัย พูดง่าย ๆ การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาตลอดมาจากการต่อสู้ระหว่างชนชั้นและสภาพความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในแต่ละระบบเสมอ สิ่งนี้ มาร์คซ์ เรียกว่า เอกภาพของสิ่งตรงข้าม เช่นการที่ระบบสังคมปัจจุบันมีทั้ง “นายทุน” และ “กรรมาชีพ” ซึ่งมีผลประโยชน์ตรงข้ามกันเสมอ

กำเนิดลัทธิสตาลิน-เหมา และปัญหาของแนวนี้

การปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 เป็น “การปฏิวัติถาวร” ซึ่งแปลว่าชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกรยากจน ร่วมกันโค่นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าซาร์ในรัสเซีย แล้วก้าวกระโดดไปโค่นระบบทุนนิยมและสร้างสังคมนิยมทันทีอีกด้วย ผู้นำพรรคบอลเชวิคที่ผลักดันแนวนี้มากที่สุดคือ เลนิน กับ ตรอทสกี้ และเป็นข้อสรุปของนักมาร์คซิสต์สองคนนี้ท่ามกลางการต่อสู้ ที่สำคัญคือมันเป็นการพัฒนาทฤษฏีการปฏิวัติ โดยการกลับไปศึกษาข้อสรุปของ คาร์ล มาร์คซ์ จากปี 1848 เพราะเดิมทีเดียวพรรคบอลเชวิคในรัสเซียเคยมองว่าในประเทศล้าหลังของเขา จะต้องล้มกษัตริย์ซาร์ก่อน แล้วค่อยๆ สร้างทุนนิยมประชาธิปไตย ส่วนสังคมนิยมคงต้องรอให้เกิดในอนาคต แนวคิดนี้เรียกว่า “แนวปฏิวัติสองขั้นตอน”

ภายในไม่กี่ปี การปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซียถูกโดดเดี่ยวและเริ่มถอยหลัง พลังชนชั้นกรรมาชีพอ่อนแอ เพราะเศรษฐกิจพังและมีสงครามจากการรุกรานของประเทศทุนนิยม เมื่อ เลนิน ตาย สตาลิน ก็ขึ้นมาช่วงชิงการนำในพรรคคอมมิวนิสต์(เดิมชื่อพรรคบอลเชวิค) ข้อเสนอของ สตาลิน ในการชิงอำนาจจากผู้นำบอลเชวิคเก่าอย่าง ตรอทสกี คือให้สร้างรัฐที่เข้มแข็ง ภายใต้ลัทธิชาตินิยมแทนลัทธิสากลนิยม เร่งพัฒนาอุตสาหกรรม และเลิกคิดที่จะปฏิวัติในระดับสากล สตาลิน เป็นผู้แทนของแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ที่เริ่มแปรไปเป็นข้าราชการแดง และเขามีฐานเสียงที่มั่นคง

ในที่สุด สตาลิน สามารถยึดอำนาจมาได้ และเปลี่ยนแนวทางของพรรคคอมิวนิสต์ไปเป็นพรรคเผด็จการชาตินิยมที่กดขี่ขูดรีดกรรมาชีพรัสเซียในระบบที่เรียกว่า “ทุนนิยมโดยรัฐ” ในระบบนี้ชนชั้นนายทุนคือข้าราชการแดง มีการห้ามการนัดหยุดงาน ห้ามการจัดตั้งเสรีของกรรมาชีพ และมีการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจประเภทอุตสาหกรรมหนัก เพื่อสร้างอาวุธ ในขณะเดียวกันประชาชนยากจนลง และไม่มีอาหารและเสื้อผ้าเพียงพอ

พอถึงยุค 1936 ถือได้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกถูกแปรไปในรูปแบบเผด็จการลัทธิสตาลิน รวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้ เหมา เจ๋อ ตุง และ พ.ค.ท. ในไทยอีกด้วย ลัทธิชาตินิยมของ สตาลิน แปรพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก จากองค์กรที่หวังจะปฏิวัติล้มทุนนิยมในประเทศต่างๆ ไปเป็นเครื่องมือของรัสเซีย แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าสมาชิกธรรมดาของพรรคเหล่านี้เลิกฝันถึงการปฏิวัติ มันมีความขัดแย้งในตัว

สำหรับ สตาลิน การอยู่รอดของรัฐเผด็จการข้าราชการแดงในรัสเซียคือสิ่งที่สำคัญที่สุด การแสวงหาเพื่อนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแนวการเมืองแบบไหน เป็นสิ่งที่ตามมา สตาลิน จึงรื้อฟื้น “แนวปฏิวัติสองขั้นตอน” ที่ เลนิน กับ ตรอทสกี ทิ้งไป เพื่อเสนอว่าในทุกๆ ประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์ต้องเน้นจับมือทำแนวร่วมกับนายทุนชาติ เพื่อสร้างทุนนิยมประชาธิปไตยก่อนอื่น โดยหวังผลว่านายทุนชาติในประเทศต่างๆ จะลดการโจมตีรัสเซีย

นโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก กลายเป็นนโยบายที่แสวงแนวร่วมกับนายทุนชาติ ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป อัฟริกา หรือเอเชีย ในไทย พ.ค.ท. พยายามทำแนวร่วมกับจอมพลป. หลังจากนั้นทำงานในหนังสือพิมพ์ของ สฤษดิ์ ในจีนมีการทำแนวร่วมกับ เชียงไคเชค ในอินโดนีเซียทำแนวร่วมกับ ซุการ์โน และเป้าหมายในการทำแนวร่วมคือเพื่อสร้างให้ประเทศเหล่านี้เป็นประชาธิปไตยทุนนิยม เกือบทุกครั้งพรรคคอมมิวนิสต์จะโดนหักหลัง สฤษดิ์ และ เชียงไคเชค หันมาฆ่าคอมมิวนิสต์ และในอินโดนีเซียพรรคมีบทบาทหลักในการห้ามการต่อสู้กับรัฐบาลซุการ์โน ซึ่งทำให้ขบวนการอ่อนแอ เมื่อทหารฝ่ายขวาซุฮาร์โตทำรัฐประหาร คอมมิวนิสต์เลยโดนฆ่าเป็นล้าน

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการทบทวนนโยบายนี้แต่อย่างใด ซึ่งเห็นได้จากการที่ พ.ค.ท. หลัง ๖ ตุลา ๒๕๑๙ จนถึงการล่มสลายของพรรค เสนอให้ปฏิวัติเพื่อ “ประชาชาติประชาธิปไตย” (ประชาธิปไตยทุนนิยม) ผ่านการสร้างแนวร่วมกับนายทุนรักชาติ เพื่อล้ม “ศักดินา” ตามสูตรเดิม และทุกวันนี้คนที่ได้อิทธิพลจาก พ.ค.ท. ก็มองว่าต้องทำแนวร่วมกับทักษิณเพื่อล้ม “ศักดินา”

อำมาตย์ในไทยคือ “อำมาตย์ทุนนิยม”

ปัญหาของแนวคิดแบบ พ.ค.ท. คือ “ศักดินา” มันหมดไปตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ สมัยที่มีการเลิกทาส เลิกไพร่ และสร้างรัฐทุนนิยมรวมศูนย์ภายใต้กษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ญี่ปุ่นก็ปฏิวัติรวมศูนย์ชาติในยุค เมจิ เช่นเดียวกัน กษัตริย์ศักดินาไทยแปรตัวเองไปเป็นนายทุนใหญ่ ลงทุนในการทำนา การธนาคาร และการก่อสร้าง

ต่อมาในปี ๒๔๗๕ มีการล้มระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และขยายชนชั้นปกครองไปสู่ทหาร ข้าราชการ และนายทุนเอกชนเชื้อสายจีน พูดง่ายๆคือ “เผด็จการอำมาตย์” ที่มีอยู่ในไทยทุกวันนี้ เป็นเผด็จการของสถาบันต่างๆ ในระบบทุนนิยม ไม่ว่าจะแอบอ้างสร้างภาพอย่างไร และประกอบไปด้วยนายทุน ทหาร ข้าราชการ และกษัตริย์ มันคือ “อำมาตย์ทุนนิยม” แต่คนที่ยังเชื่อในลัทธิของ พ.ค.ท. มองไม่เห็นตรงนี้ และยังคงท่องสูตรเดิมว่า “ศักดินาครองเมือง”

ในเมื่อเขาเชื่อว่า “ศักดินาครองเมือง” อดีต พ.ค.ท. หลายคน รวมถึงคุณสุรชัย แซ่ด่าน ก็เสนอว่าควรทำแนวร่วมกับทักษิณ เพราะทักษิณเป็นนายทุนรักชาติก้าวหน้า ที่เขาเชื่อว่าเผชิญหน้ากับ “ศักดินา” คนเหล่านี้เข้าไปร่วมมือกับ ไทยรักไทย ก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยา แต่ปัญหาใหญ่สำหรับเขาคือ ทักษิณ เอง จงรักภักดีต่อกษัตริย์ เพราะชนชั้นปกครองไทยทั้งหมดจงรักภักดีและเห็นประโยชน์ของการมีกษัตริย์ไว้ใช้ ความขัดแย้งไม่ได้เป็นเรื่อง “ศักดินา กับ ทุนนิยม” แต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องการชิงสิทธิ์ที่จะอ้างอิงกษัตริย์ ในอนาคต ทักษิณ อาจประนีประนอมกับศัตรู

เนปาล

ถ้าเราไปดูประเทศ เนปาล เราจะได้บทเรียนเพิ่มเติม ในเนปาลพรรคคอมมิวนิสต์สายเหมา เจ๋อ ตุง ใช้วิธีจับอาวุธสู้กับเผด็จการทุนนิยมของกษัตริย์เนปาล การต่อสู้นี้ บวกกับการต่อสู้ของมวลชนในเมือง เช่นนักศึกษาและสหภาพแรงงาน ในที่สุดนำไปสู่ชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ในการเลือกตั้ง มีการยกเลิกสถาบันกษัตริย์ แต่ระบบที่พรรคคอมมิวนิสต์เนปาลเสนอคืออะไร? พรรคคอมมิวนิสต์เนปาลต้องการกลไกตลาดเสรีของนายทุน!! และต้องการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ!! ซึ่งแปลว่าต้องคงไว้การขูดรีดกรรมกรและเกษตรกร เพียงแต่เปลี่ยนประเทศไปเป็นสาธารณะรัฐเท่านั้น

การจับอาวุธปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล จึงเป็นการต่อสู้เพื่อประนีประนอมกับระบบทุนนิยม แต่ข้อแตกต่างกับไทยคือ ในเนปาลไม่มีนายทุนใหญ่อย่างทักษิณที่มีอิทธิพลต่อขบวนการและสามารถดึงการต่อสู้ไปเพื่อคงไว้ระบบเดิมที่มีกษัตริย์

ประชาธิปไตยแท้จะเกิดจากการเปลี่ยนประมุขอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องมีการยึดอำนาจโดยประชาชนในทุกเรื่อง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แต่ถ้าเรายกอำนาจให้นายทุนดำรงอยู่และขูดรีดต่อไป และถ้าเราเกาะติดนายทุนใหญ่ในขณะที่เขาประนีประนอมกับอำมาตย์ทุนนิยม เราก็จะปลดแอกสังคมไม่ได้

สองใบหน้าของลัทธิ สตาลิน-เหมา “ปฏิวัติและประนีประนอม”

ในทุกประเทศของโลก เราจะเห็นสองใบหน้าของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ใช้ลัทธิ สตาลิน-เหมา คือพูดด้วยวาจา “ปฏิวัติ” อาจสร้างกองกำลังจับอาวุธ หรือไม่ แต่ในที่สุดจุดจบคือ ทุนนิยม และเผด็จการของชนชั้นนายทุน ไม่ว่าจะเป็น จีน เวียดนาม เกาหลีเหนือ ลาว คิวบา หรือ เนปาล ในประเทศจีน เวียดนาม และลาว พรรคคอมมิวนิสต์ที่เคยใช้กองกำลังติดอาวุธ กำลังสร้างทุนนิยมตลาดเสรีท่ามกลางการขูดรีดประชาชนอย่างหนัก ในยุโรปพรรคคอมมิวนิสต์ต่างๆ ประกาศว่ายอมรับระบบทุนนิยมกลไกตลาด และในกรณีกรีซพรรคถึงกับร่วมรัฐบาลกับพรรคอนุรักษ์นิยม

“อำมาตย์” มีในทุกประเทศ มันเป็นโครงสร้างของรัฐนายทุน เพียงแต่ว่าในประเทศประชาธิปไตย ชนชั้นกรรมาชีพและขบวนการทางสังคมได้กดทับอำมาตย์นี้ไว้ เพื่อไม่ให้เถลิงอำนาจแบบสุดขั้วอย่างที่เราเห็นในไทย

เลนิน, ตรอทสกี และนักมาร์คซิสต์อื่นๆ มีการวิจารณ์คนที่เลือกต่อสู้ทางทหาร โดยหันหลังให้มวลชน เพราะมองว่าคนที่จับปืนหรือถือระเบิดแบบนี้ ก็ไม่ต่างจากคนที่หวังว่าจะเปลี่ยนสังคมผ่านผู้แทนไม่กี่คนในรัฐสภา ตรอทสกี เคยเสนอว่าพวกปฏิรูปไม่ต่างจากพวกจับอาวุธเลย แค่แลกสูตและกระเป๋าทำงานกับปืนหรือระเบิดเท่านั้น เพราะในที่สุดเป้าหมายไม่ใช่การพลิกแผ่นดินให้ประชาชนเป็นใหญ่

ผลเสียของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ในไทย คือการที่คณะราษฏร์ อาศัยอำนาจกองทัพมากกว่าการจัดตั้งมวลชนในสังคม ในที่สุดซีกทหารยึดอำนาจจาก ปรีดี ได้ และนี่คือต้นกำเนิดของอำนาจทางการเมืองของทหารในไทย เราควรจดจำบทเรียนสำคัญอันนี้ไว้ และจดจำบทเรียนความล้มเหลวของ พ.ค.ท. เพื่อให้ความเคารพกับการต่อสู้เสียสละของคนเหล่านี้ในอดีต

การจับอาวุธหรือสร้างกองกำลัง เป็นการตัดขาดบทบาทมวลชนจำนวนมาก เป็นการผูกขาดสิทธิที่จะกำหนดแนวทางโดยแกนนำเผด็จการใต้ดิน ถ้ามีการถกเถียงเกิดขึ้นในแกนนำ จะใช้ปืนแทนปัญญาในการตัดสิน และเมื่อมีการลดบทบาทหรือสลายพลังมวลชน เราไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้ที่พลเมืองนำตนเองและร่วมสร้างสังคมใหม่ได้